ศาลยุติธรรมเห็นพ้องคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ศาลทหารเผยต่อจำเลยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ศาลแขวงปทุมวันเห็นพ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ด้านทนายความยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินัยว่า ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากกรณีนางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายจำเลยคดีที่นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง  จากการจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน โดยศาลทหารกรุงเทพส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลแขวงปทุมวันไปแล้วนั้น

วันนี้ (10 มิถุนายน 2559) ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องข้อโต้แย้งเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี มีสาระว่าศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นพ้องกันว่า คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ โดยไม่ได้อ่านความเห็นของศาลแขวงปทุมวันให้ทนายความและจำเลยในคดีนี้ฟังแต่อย่างใด

หลังจากนั้นทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องให้ศาลทหารเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

screen-shot-2016-06-10-at-4-36-28-pm

อัยการศาลทหารกรุงเทพจึงแถลงต่อศาลทหารกรุงเทพขอทำคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวด้วย แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป

สำหรับรายละเอียดคำร้องเบื้องต้นของทนายจำเลยที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลและพิจารณาพิพากษาในคดีดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมีดังต่อไปนี้

1. พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 และมาตรา 10 ขัดหรือแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพราะในมาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 ระบุว่าอำนาจในการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและยังดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษา คสช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศ คสช.มาบังคับใช้เอาผิดกับจำเลยทั้ง 4 คน

screen-shot-2016-06-10-at-4-37-51-pm

2. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ที่ทำให้จำเลยทั้ง 4 ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารนั้นเป็นการเลือกปฎิบัติโดยอาศัยเหตุความแตกต่างจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น และประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับก็ขัดกับ มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  ที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองของประเทศและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว

ทั้งนี้เมื่อศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยคำร้องของทนายจำเลยแล้วจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศของ คสช.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลทหารกรุงเทพเคยมีคำสั่งจากการวินิจฉัยคำร้องลักษณะดังกล่าวแล้วคือ  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558  ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งในเรื่องที่นางสาวจิตรา คชเดชยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

โดยศาลทหารกรุงเทพเคยมีคำสั่งว่า ศาลทหารกรุงเทพไม่อาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะ ตามมาตรา 5 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้นที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่สามารถส่งเรื่องดังกล่าวได้

screen-shot-2016-06-10-at-4-39-55-pm

แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคำร้องของทนายจำเลยคดีคดีที่ยื่นให้ศาลทหารในวันนี้  ก็จะพบว่า ในคำร้องดังกล่าวได้ระบุให้ศาลทหารกรุงเทพมีหน้าที่ส่งคำร้องนี้แก่ศาลรัฐธรรมแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติถึงอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญไว้เหตุเพราะหากพิจารณาตาม มาตรา 5 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้การกระทำนั้นหรือวินิจฉัยนั้นไปตามประเพณีการปกครอง

นอกจากนี้ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิฉัยว่า บทบัญญัติในกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องฉบับนี้ของจำเลยได้

screen-shot-2016-06-10-at-4-41-22-pm

X