ตร.เรียกตัวนร.ไปคุยที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ห้ามไม่ให้แชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ และปชต.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งข้อมูลกรณีของ “นางสาวไก่” (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา อายุ 16 ปี ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเรียกตัวไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว และบังคับให้ลงนามในเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่แชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยอีก

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ก.ค. 63 บิดาของนางสาวไก่ได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่บ้าน แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอพบ โดยเชิญให้นางสาวไก่ และบิดาไปพบเจ้าหน้าที่ที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถึงพบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 นาย พร้อมรถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์หมายเลขทะเบียน 9กฎ 7138 กรุงเทพมหานคร รออยู่ที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน 

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเรื่องกรณีที่นางสาวไก่ได้แชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ซึ่งอาจเป็นการผิดต่อกฎหมาย จึงมาแจ้งขอให้ลบโพสต์ออก ตำรวจรายดังกล่าวได้พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของนางสาวไก่และบิดา แม้ว่าตอนแรกนางสาวไก่จะไม่ยินยอมให้ข้อมูล และพยายามสอบถามชื่อ ยศ และสังกัดของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลและใช้สายตาข่มขู่และบังคับให้บิดาของนางสาวไก่ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ 

หลังการพูดคุย เจ้าหน้าที่ได้มีการบังคับให้นางสาวไก่ลงนามในข้อตกลง ซึ่งเขียนขึ้นด้วยลายมือ ไม่มีตราประทับบ่งชี้ว่าเป็นเอกสารราชการ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้สำเนามาด้วย โดยตัวเนื้อหาข้อตกลงมีใจความ ดังนี้ 

  1. นางสาวไก่ยอมรับว่าเฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างเป็นเฟซบุ๊กของตนจริงและใช้แต่เพียงผู้เดียว และเฟซบุ๊กดังกล่าวได้แชร์ข้อความที่ “หมิ่นเหม่ต่อสถาบัน”
  2. การแชร์โพสต์ของนางสาวไก่ สืบเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนางสาวไก่ยินยอมลบโพสต์ที่แชร์ออกไป 
  3. นางสาวไก่ตกลงว่าจะไม่ประพฤติซ้ำอีก และหากประพฤติซ้ำจะขอให้ดำเนินการคดีตามกฎหมายทุกประการ

บันทึกดังกล่าวยังให้บิดาและมารดาของนางสาวไก่ลงนามเป็นพยานเอาไว้ด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปนางสาวไก่และบิดาเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วย

เมื่อถึงช่วงเย็น มารดาของนางสาวไก่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่คนเดิม โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้นางสาวไก่ลบโพสต์ที่แชร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียนนิสิตนักศึกษาในการชุมนุมต่างๆ ในช่วงนี้ กว่า 10 โพสต์ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ตำรวจยังขู่ว่าถ้าหากไม่ลบ จะใช้เส้นสายบีบบังคับให้มารดาของนางสาวไก่ออกจากข้าราชการด้วย ทำให้เธอต้องตัดสินใจลบโพสต์ออก

นางสาวไก่รู้สึกกังวลและไม่เข้าใจว่าเหตุใดมีตนเพียงคนเดียวที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่แชร์โพสต์เกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้นางสาวไก่ระบุว่าตนแชร์ข้อความทางการเมืองต่างๆ โดยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งใช้ชื่อนามสกุลจริง และตั้งค่าเป็นสาธารณะ

กรณีของนางสาวไก่เป็นอีกหนึ่งกรณี ถึงสถานการณ์รูปแบบ “มาตรการนอกกฎหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งใช้ข่มขู่และคุกคามประชาชนผ่านชุมชนหรือหัวหน้าชุมชน ซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ในกรณีของ นายกฤตภพ สติดีนิติวงศ์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดลำปาง ของพรรคอนาคตใหม่ และกรณีของประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หนึ่งในสมาชิกสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย โดยทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ติดตามผ่านผู้ใหญ่บ้านเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ กรณีการคุกคามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม มีกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานไปแล้ว 3 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (อ่านเพิ่มเติม จนท.หลายฝ่ายบุกบ้านผู้โพสต์รูปทิวากรสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” นำตัวไปสถานี ตร. และน.ศ.ถูกตร.ตามถึงบ้าน หลังแชร์ข่าวทิวากร-ซุ้มเฉลิมฯ ให้เซ็นไม่โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการใช้มาตรการที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากตามหลักแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งชื่อ ยศ และแสดงหมายเรียกหรือหมายจับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ควรดำเนินการเจรจาในพื้นที่ของสถานีตำรวจเท่านั้น และต้องให้สำเนาเอกสารข้อตกลงที่ลงนามไปด้วย (อ่านวิธีรับมือเบื้องต้น หากถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปบังคับให้ข้อมูลในลักษณะนี้ได้ที่นี่)

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง

รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

X