การจัดการทรัพยากรเหมืองแร่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร (2) : บูรณาการการใช้อำนาจของทหารกับการปฏิรูป

การจัดการทรัพยากรเหมืองแร่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร (2) : บูรณาการการใช้อำนาจของทหารกับการปฏิรูป

ตอนที่สองของประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 กรณีทรัพยากรแร่ จะนำเสนอภาพการละเมิดสิทธิหลังการรัฐประหาร ใน 2 พื้นที่ ที่มีโครงการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารพยายามอย่างยิ่งในการปิดกั้นการแสดงความเห็นและการแสดงออก การรวมกลุ่ม และการชุมนุม ด้วยเครื่องมือ คือ กฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตามด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ด้วยกรอบคิดแคบๆ ว่า ความเงียบ คือ สงบสุข ปรองดอง ไม่ขัดแย้ง พร้อมทั้งบทสรุปเรื่องบูรณาการการใช้อำนาจของทหารกับการปฏิรูปที่ไม่มีประชาชนในสายตา

mine

กรณีเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ตำบลบ้านแหงประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน โดยพื้นที่หลักที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์อยู่ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 7 ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 500 หลังคาเรือน จำนวน 2,000 คนเศษ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับน้ำซึม สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของชุมชน พื้นที่ชุมชนบางส่วนถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย ทับซ้อนพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน และมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่ามาตั้งแต่ในอดีต ขณะที่ที่ดินบางส่วนในตำบลบ้านแหงถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน มีการออก ส.ป.ก.ให้กับชาวบ้าน

ปี 2551 บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่หมู่ 1 และ 7 รวมกว่า 1,500 ไร่  โดยอ้างว่าจะนำพื้นที่ไปใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัสป้อนโรงงานทำกระดาษ ต่อมา ในช่วงต้นปี 2553 บริษัทกลับยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 1,200 ไร่ ในลักษณะเหมืองเปิดหน้าดิน มีการขุดและระเบิดชั้นดินลงไปลึกประมาณ 150-200 เมตร

รวมตัวเป็น ‘กลุ่มรักษ์บ้านแหง’ ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเอง

เดือนกันยายนปี 2553 ภายหลังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางพยายามเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ ขณะที่บริษัทพยายามเข้ามาจัดเวทีประชาคมในหมู่บ้าน ชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 7 เริ่มรวมกลุ่มกันในนาม “กลุ่มรักษ์บ้านแหง” เคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินการของบริษัท โดยการไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมนุมคัดค้าน หรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ  เนื่องจากความกลัวผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน  โดยมีเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นกรณีตัวอย่าง ประกอบกับความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่าที่จะถูกนำไปใช้ ทางสาธารณะจะถูกปิดกั้น หรือลำเหมืองสาธารณะจะถูกเปลี่ยนทิศ เพราะพื้นที่เหมืองตามประทานบัตรอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปเพียงราว 500 เมตร

mining-report1

ชาวบ้านเห็นว่าขั้นตอนการขอประทานบัตรของบริษัทนั้นไม่ชอบ เนื่องจากกระบวนการชี้แจงข้อมูลไม่โปร่งใส และมีการกล่าวอ้างว่า ไม่มีการคัดค้านในพื้นที่ อีกทั้งใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ของบริษัท เขียวเหลือง ยังเป็นใบอนุญาตที่ได้มาในช่วงที่ขอใช้ประโยชน์เพื่อปลูกป่า แต่กลับนำมาอ้างต่อชาวบ้านและส่วนราชการในพื้นที่ว่าเป็นใบอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ตามข้อกฎหมาย[1]

นอกจากนี้ รายงาน EIA ของการทำเหมืองในพื้นที่นี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ในปลายปี 2556 โดยที่ชาวบ้านระบุว่า ไม่เคยมีกระบวนการปรึกษาหารือ เก็บข้อมูล จัดประชุม หรือมีส่วนร่วมใดๆ และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผย EIA ดังกล่าวให้ชาวบ้านได้เห็น

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มรักษ์บ้านแหง ทำให้ชาวบ้านเคยถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายคดี ทั้งข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทและข้าราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง หรือข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวพนักงานของบริษัท ทำให้รวมแล้วมีแกนนำและชาวบ้านหลายรายต้องขึ้นศาลอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปี ก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบัน มีการไกล่เกลี่ยยอมความกันไปบ้าง และศาลมีคำพิพากษาแล้วบ้าง โดยที่ชาวบ้านยังไม่เคยต้องโทษจำคุก

ปิดกั้นการเคลื่อนไหวด้วยกฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ชุมนุม

หลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านแหงระบุว่า เห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อความขัดแย้งในพื้นที่ โดยแนวโน้มจะดำเนินการในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัททำเหมืองแร่ ขณะที่พยายามควบคุมปิดกั้นการแสดงออกของชาวบ้าน ผ่านทั้งการข่มขู่คุกคาม การเรียกตัวไปพบ การติดตามจับตา เป็นต้น ทำให้การทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวคัดค้านบริษัททำเหมืองเป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น

หลังมีการประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และการผลักดันนโยบายแผนแม่บทป่าไม้ได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหารราว 1 กองร้อย พร้อมอาวุธปืนได้เข้าตรวจค้นบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านหลายราย โดยไม่แสดงหมายค้นใดๆ อ้างว่ามีผู้แจ้งว่ามีการครอบครองไม้เถื่อน แต่ชาวบ้านเห็นว่าทหารมีรายชื่อบุคคลที่จะเข้าตรวจค้นบ้านมาด้วย ทำให้ไม่แน่ใจว่า การตรวจค้นดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับกรณีการคัดค้านเหมืองแร่หรือไม่  โดยผลการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้ยึดไม้ของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เตรียมเอาไว้ปลูกบ้าน และยึดเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างบ้านไปด้วย

ต่อมาไม่นาน พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 (มทบ.32) ในขณะนั้น พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้ามาตรวจสอบแนวเขตแปลงประทานบัตรเหมืองในหมู่บ้าน และตรวจสอบพื้นที่ป่าท้ายหมู่บ้าน แล้วกล่าวกับชาวบ้านว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าละเมาะ ป่าเสื่อมโทรม และบางส่วนก็เป็นเขาหัวโล้น การมีเหมืองแร่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน สร้างงานให้ชาวบ้าน สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะเห็นว่าบริษัทต่างหากที่มีส่วนในการทำลายป่า และจะนำพื้นที่ไปทำเหมืองแร่ โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าโดยมิชอบ

ต้นเดือนกันยายน 2557 นายก อบต.บ้านแหงร่วมกับทหารจัดเวทีปรองดองและคืนความสุขตามนโยบายของ คสช. แต่มีการนำชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นมาร่วม และพบว่ามีการแจกเอกสาร EIA ของโครงการเหมืองแร่ในเวที พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทตั้งโต๊ะลงชื่อผู้เข้าประชุม และอยู่ร่วมในงานอีกหลายคน ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นการแอบแฝงเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเข้าไปคัดค้านการลักไก่จัดเวทีดังกล่าว  จนเจ้าหน้าที่ทหารต้องให้ยุติเวทีไปก่อน เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความคลางแคลงใจต่อทหารมากยิ่งขึ้น

การคุกคามครั้งที่ชาวบ้านจำได้ดีที่สุด คือการเรียกตัวแกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหง 4 ราย ไป ‘ปรับทัศนคติ’ ที่ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ในวันที่ 11 พ.ย.57 หลังเข้าร่วมกิจกรรม “เดิน ก้าว แลก” กับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์เรื่องการปฏิรูปที่ดินและให้รัฐบาลทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ โดยทหารชั้นผู้น้อยแจ้งกับชาวบ้านว่าผู้บังคับบัญชาการต้องการพบเพื่อขอข้อมูลเรื่องเหมืองแร่ แต่พอแกนนำและชาวบ้านรวม 10 คน เดินทางไปพบ พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รอง ผบ.มทบ.32 (ในขณะนั้น) พร้อมกับสารวัตรทหาร และ กอ.รมน. อีกหลายนาย ซึ่งก่อนการพูดคุย เจ้าหน้าที่ได้ห้ามชาวบ้านถ่ายรูป และขอยึดโทรศัพท์มือถือ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม ทหารจึงขอให้ปิดเครื่องไว้ พ.อ. ชัยณรงค์ได้ระบุว่า เป็นการเรียกชาวบ้านมาพูดคุยตามอำนาจของ คสช. และกล่าวถึงการไปร่วมกิจกรรมเดินก้าวแลกว่า เป็นการชุมนุมเกิน 5 คน ผิดกฎอัยการศึก เมื่อชาวบ้านเห็นว่าไม่ได้เป็นการพูดคุยเรื่องเหมืองแร่ตามที่แจ้ง จึงขอตัวเดินทางกลับ ปรากฏว่าสารวัตรทหารหลายนายได้เข้ามาประกบชาวบ้าน ไม่ให้ลุกไปไหน และปิดประตูล็อกห้องประชุมจากด้านนอก ทำให้ชาวบ้านตกใจ  และต้องยอมนั่งลงพูดคุยต่อ

จากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารได้พูดในลักษณะข่มขู่ว่าสามารถจับกุมชาวบ้านได้ และถ้าเรียกแล้ว ชาวบ้านไม่มาก็สามารถไป “อุ้ม” มาได้ ทั้งยังได้นำรูปถ่ายกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น การประชุม หรือการไปศาลปกครอง มาแสดงให้ดู พร้อมระบุว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก จึงไม่ควรทำกิจกรรมในลักษณะนี้อีก ถ้ายังมีการดำเนินการอีก เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและคุมขังได้ แม้ชาวบ้านจะโต้แย้งว่า พวกตนไม่ได้ทำอะไรผิด เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนกรานในลักษณะเดิม การพูดคุยใช้เวลาราวครึ่งวัน เจ้าหน้าที่จึงให้กลุ่มชาวบ้านเดินทางกลับ

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ทหารก็เดินทางมาเยี่ยมแกนนำชาวบ้านอย่างต่อเนื่องมากขึ้น รวมแล้วหลายสิบครั้ง โดยอ้างว่ามาเยี่ยมตามหน้าที่ พร้อมกับสอบถามถึงความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมของชาวบ้าน ทั้งยังปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปหน้าบ้านแกนนำอีกด้วย ส่งผลให้ครอบครัวเกิดความหวาดกลัว อีกทั้งเมื่อกลุ่มรักษ์บ้านแหงมีกิจกรรมต่างๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยสังเกตการณ์ หรือโทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ กับแกนนำ

แม้ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อต้นเดือนเมษายน 2558 แล้ว กลุ่มรักษ์บ้านแหงก็ยังถูกปิดกั้นการแสดงออกอยู่เช่นเดิม โดยการอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เช่น ในช่วงวันที่ 17 ส.ค. 58 ชาวบ้านได้นัดหมายกันเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อคัดค้านการประกาศผังเมืองรวม และขอขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ ในช่วงค่ำวันที่ 16 ส.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 2 นาย จาก มทบ.32 เดินทางมาพบชาวบ้าน เพื่อขอให้ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือที่อำเภอแทน แต่ชาวบ้านยังคงยืนยันจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เนื่องจากเคยยื่นกับทางอำเภอไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับใดๆ

mining-report2

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก เหมืองแร่ลำปาง

เช้าวันต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเดินทางเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านอีกครั้ง และห้ามชาวบ้านไม่ให้เดินทางไปยื่นหนังสือเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจะผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งกล่าวอ้างถึงความไม่เหมาะสมในการไปยื่นหนังสือในวันเดียวกับที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินอีกด้วย แต่กลุ่มชาวบ้านก็ยังยืนยันจะเดินทางไปตามเดิม โดยเห็นว่าเป็นเพียงการไปยื่นเรื่องร้องเรียนในปัญหาความเดือดร้อนของตน ไม่ได้ไปชุมนุมที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่ได้ไปในพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินแต่อย่างใด

ภายหลังการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ ในวันที่ 19 ส.ค. ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางไปถ่ายรูปที่หน้าบ้านของแกนนำชาวบ้าน เมื่อมีเพื่อนบ้านเข้าไปสอบถามจึงได้แสดงตนว่ามาจากสถานีตำรวจภูธรงาว มาขอดูหนังสือที่ชาวบ้านนำไปยื่น วันต่อมา ยังได้มีทหารในเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยกับแกนนำชาวบ้าน ขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางไปยื่นหนังสือกันเป็นจำนวนมากอีก เพราะจะดูเหมือนเป็นการชุมนุม ให้ส่งแค่ตัวแทนไปเท่านั้น พร้อมทั้งข่มขู่ว่าจะดำเนินการตามกฎหมายถ้ายังมีการเคลื่อนไหวอีก

ภายหลังการถูกข่มขู่ต่างๆ ทำให้แกนนำชาวบ้านบางคนต้องลดบทบาทของตนเองลง ด้วยกลัวผลกระทบจากการคุกคามที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความเป็นนักต่อสู้ แกนนำบางส่วนก็กลับมาร่วมกิจกรรมตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่เจ้าหน้าที่มีบทบาทปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว ก็ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากมากขึ้น

 

กรณีเหมืองแร่ทองคำวังสะพุง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย[2]

พ.ศ.2534 บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ทำสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำกับกรมทรัพยากรธรณีในพื้นที่น้ำคิว – ภูขุมทอง ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดเลย เนื้อที่ 340,625 ไร่ จากการสำรวจพบว่าบริเวณดังกล่าวมีทองคำสมบูรณ์มากพอที่จะพัฒนาเป็นเหมืองทองคำได้ จึงยื่นขอประทานบัตรจำนวน 6 แปลง บนภูทับฟ้า และภูซำป่าบอน  ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พื้นที่ 1,308 ไร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 25 ปี

ต่อมา ปี 2549 บริษัท ทุ่งคำ ได้รับใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ในบริเวณภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน  ปี 2551 โรงพยาบาลวังสะพุงสุ่มตรวจไซยาไนด์ในเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง จำนวน 279 คน ผลการตรวจโดยโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า มีไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการถลุงแร่ทองคำ ในเลือดของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 54 ราย ในจำนวนนี้มีไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 20 คน

ความเจ็บป่วยและอันตรายจากเหมืองทองคำ จุดกำเนิด ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’

เพียง 1 ปี ของการเปิดโรงงานประกอบโลหะกรรมในบริเวณเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ซึ่งอยู่บริเวณต้นน้ำ ก็ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย นอกจากสิ่งแวดล้อมที่มีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่จนสะสมในร่างกายของชาวบ้าน และมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผื่นคัน ตาพร่ามัวแล้ว อากาศยังเต็มไปด้วยฝุ่นควัน เสียงดังจากการระเบิด การเดินทางในหมู่บ้านมีอันตราย เนื่องจากมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำงานตลอดเวลา อีกทั้งเกิดความแตกแยกในชุมชน ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ โดยเริ่มจากการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จนกระทั่งหน่วยงานในระดับชาติหลายหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบที่ชุมชนได้รับ ตลอดจนคัดค้านการขอขยายตัวของเหมืองแร่ในพื้นที่

mining-report3

ปี 2556 ชาวบ้านได้ทำประชาคมและมีมติให้สร้างกำแพงปิดกั้นทางแยกที่เหมืองใช้ร่วมกับชุมชน เพื่อไม่ให้มีการผ่านเข้าออกเหมืองแร่ เป็นเหตุให้บริษัทฟ้องชาวบ้านทั้งทางแพ่งและอาญารวม 9 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท ชาวบ้านตกเป็นจำเลย 33 คน มีการทุบทำลายกำแพงถึงสองครั้ง โดยชายชุดดำพร้อมอาวุธในครั้งแรก และครั้งหลังโดยตำรวจร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ชาวบ้านยังคงปักหลักสู้ ส่งผลให้เหมืองแร่ไม่สามารถดำเนินการได้ กระทั่งคืนวันที่ 15 พ.ค.57 กองกำลังกว่า 300 คน มีอาวุธเป็นไม้ มีด ปืน ได้เข้าทำร้ายชาวบ้านที่นอนเฝ้าเวรยาม โดยทุบตี มัดมือมัดเท้า และยิงปืนข่มขู่ ทำให้ชาวบ้านทั้งหญิงและชายบาดเจ็บกว่า 30 คน

ขนแร่ภายใต้กฎอัยการศึก

หลังรัฐประหาร มีการส่งกำลังทหาร 1 กองร้อย เข้าประจำการในพื้นที่หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบและความปลอดภัยให้กับชุมชน แต่ทหารที่เข้าไปในพื้นที่กลับเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านไม่ขัดขวางการขนแร่ของบริษัท อีกทั้งยังควบคุมชาวบ้านไม่ให้ประชุม หรือทำกิจกรรมรณรงค์ใดๆ โดยอ้างกฎอัยการศึก หน้าบ้านแกนนำจะมีทหารเฝ้าอยู่ รวมทั้งมีการใช้สัญญาณ  GPS  จับสัญญาณโทรศัพท์  และดักฟัง มีการค้นบ้าน ค้นรถยนต์ ยึดป้ายรณรงค์ ห้ามนักพัฒนาและนักศึกษาไม่ให้เข้าไปในพื้นที่

ต่อมา ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากเหมืองแร่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน โดยมีทหารและข้าราชการในจังหวัดเป็นกรรมการ แต่ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ไม่มีส่วนร่วม ทำให้ชาวบ้านไม่ยอมรับและไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ทหารกล่าวหาว่า แกนนำไม่ต้องการแก้ปัญหาจริง ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงทำประชาคมทั้ง 6 หมู่บ้าน และนำมติของที่ประชุมประชาคมเรื่องความต้องการของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและเงื่อนไขการขนแร่ออกจากพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการฯ

มติประชาคมให้มีการดำเนินการ 6 ขั้นตอน เรียงตามลำดับดังนี้ (1) เพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองคำทั้ง 6 แปลง (2) เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (3) เคลื่อนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ ออกจากเขตประทานบัตร (4) ขนสินแร่ทั้งหมดออกจากเขตประทานบัตร (5) ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน (6) เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำทุกด้าน

การที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่ยอมรับคณะกรรมการ และจัดทำประชาคมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นความต้องการของชาวบ้าน นำไปสู่การเรียกแกนนำไปรายงานตัวอย่างน้อย 2 ครั้ง ทหารกล่าวหาว่า ขัดคำสั่ง คสช. ไม่เคารพทหาร หากยังดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีกจะจับกุม และหากไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับชาวบ้านได้จะนำกฎอัยการศึกเข้ามาบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากประชาคมชาวบ้านไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ สุดท้าย ทหารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกลับกดดันให้ชาวบ้านเปิดทางให้บริษัทขนแร่ออกจากเหมืองแลกกับการถอนฟ้องคดีที่ชาวบ้านเป็นจำเลยทั้ง 9 คดี ตามข้อเสนอของบริษัท เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งซึ่งมีที่มาจากความต้องการขนแร่ของบริษัท กับความพยายามปกป้องสิทธิของชาวบ้าน ในที่สุด ชาวบ้านจำเป็นต้องรับข้อเสนอดังกล่าว นำไปสู่การถอนฟ้องคดีและการขนแร่ออกจากพื้นที่ในวันที่ 8 ธ.ค. 57

mining-report4

ที่มาภาพ ประชาไท

หนึ่งในแกนนำกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องยินยอมให้บริษัทขนแร่ออกจากเหมืองว่า “พวกเราน่าจะเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกที่โดนเรียกรายงานตัวโดยกฎอัยการศึก ผมถูกเรียกประมาณ 3 รอบ เขาก็เอาแร่ที่เหลือออกจนได้ แลกกับคดี ข่มขู่ทุกๆ ทาง พี่น้องที่ถูกคดีทั้งหมด 33 คน มีอยู่ 2-3 คน ที่สภาพจิตใจก็ไม่ไหวด้วยกฎทหาร ก็ต้องยอม การขนแร่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากใช้กฎอัยการศึก”[3]

ถูกจับตาเข้มหลังรวมตัวเป็นเครือข่าย

กองกำลังทหารที่เข้ามาประจำการในหมู่บ้านหลังรัฐประหารถูกชาวบ้านกดดันให้ออกนอกพื้นที่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 แต่ก็ยังมีทหารเข้ามาทำงานมวลชนและติดตามความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่ตลอด โดยทำกิจกรรมตั้งแต่เกี่ยวข้าว แจกผ้าห่ม จนถึงร่วมงานบุญและงานศพในชุมชน เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ชาวบ้านทำซุ้มประตูเข้าหมู่บ้าน เขียนข้อความ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” ทหารก็มีหนังสือถึง อบต.เขาหลวง ให้รื้อซุ้มประตูออก

มิถุนายน 2558 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับนักศึกษาและชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ในนาม ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดละเมิดสิทธิชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน โดยจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น หลังกิจกรรมนี้ รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวม 15 คน เดินทางมาพบชาวบ้าน กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีความผิด โดยอ้างมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ทั้งยังห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางไปร่วมงานของนักศึกษาอีก

การเข้าร่วม ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่’ ทำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกจับตามองมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะมาขับรถวนรอบหมู่บ้าน และถ่ายภาพเป็นประจำ ทั้งยังสั่งให้รายงานทหารก่อนหากมีคนจะเข้าออกหมู่บ้านเกิน 5 คน นักศึกษาหรือกลุ่มกิจกรรมที่มาจัดกิจกรรมในพื้นที่ จะถูกสอดส่อง หรือข่มขู่ ขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรมได้ เช่น กรณีกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มีกำหนดจัดค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติให้เยาวชนในเดือนมิถุนายน แต่ทหารให้เลื่อนไปก่อน จนต้องมาจัดอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ทหารก็ยังพยายามขัดขวาง โดยให้ทำหนังสือขออนุญาต กระทั่งสั่งห้ามจัด อ้างว่าผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่าไม่มีเหตุผล จึงจัดกิจกรรมตามกำหนดเดิม โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์และถ่ายรูป หรือกรณีนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาถ่ายทำสารคดี ก็ถูกเจ้าหน้าที่ซักถามข้อมูล และถูกกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.มหาสารคาม เรียกตัวกลับ ทั้งที่ยังทำงานไม่เสร็จ

นอกจากการติดตามชาวบ้าน แกนนำ รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้าไปในพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ไปพบแม่ของแกนนำบางคนที่อยู่ต่างจังหวัด ถ่ายรูป และถามข้อมูลเกี่ยวกับแกนนำ รวมทั้งโทรศัพท์ไปหาในยามวิกาล สร้างความกังวลและความรำคาญแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สกัดการตรวจสอบขั้นตอนให้ความเห็นชอบ

28 ส.ค. 58 ประธานสภา อบต.เขาหลวง มีกำหนดนำเรื่องการขอต่ออายุการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ ของบริษัท ทุ่งคำ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้สมาชิก อบต. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยเชิญตัวแทนชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากการทำเหมืองเข้าชี้แจงด้วย แต่ก่อนวันประชุม ทหารขู่จะใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ ม.44 เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมฟังการประชุม ทั้งยังมีทหารมาเฝ้าสังเกตการณ์ในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ในวันประชุมมีชาวบ้านเข้าร่วมและรอฟังการประชุมกว่า 300 คน โดยมีกำลังตำรวจทหารราว 300 นาย มาดูแลสถานการณ์ พร้อมทั้งเตือนให้ชาวบ้านอยู่ในความสงบเพื่อไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ต่อมา 16 ก.พ.59 มีการประชุมสภา อบต. เขาหลวงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวน และ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่อีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถหามติได้ ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านก็ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมรับฟังการประชุมเช่นเคย โดยอ้างคำสั่งผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยวังสะพุง ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าใช้พื้นที่บริเวณที่ทำการ อบต. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. และในวันประชุม ผู้กำกับ สภ.วังสะพุง ก็ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สั่งให้ชาวบ้านออกจากบริเวณ อบต.เขาหลวง โดยมีตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครรักษาดินแดน ราว 250 นาย เข้าควบคุมพื้นที่ ทั้งยังขอให้ศาลจังหวัดเลยมีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณ อบต.เขาหลวง เลิกการชุมนุม

mining-report5

mining-report6

ที่มาภาพ นักข่าวพลเมือง

หลังบริษัท ทุ่งคำ ขนแร่ออกจากเหมืองได้สำเร็จ รัฐบาล คสช. และทหารในพื้นที่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองคำอีก มิหนำซ้ำ บริษัทยังเดินหน้าฟ้องชาวบ้านเพิ่มอีก 5 คดี ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนำเสนอข่าวผ่านเฟซบุ๊คและกรณีติดป้าย ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’,  ข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่กรณีปล่อยให้มีการติดป้าย ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’,  ข้อหาบุกรุก กรณีไปจัดกิจกรรมบนภูซำป่าบอน, ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่นำเรื่องการขอต่ออายุการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ สปก.เพื่อทำกิจการเหมืองแร่ บรรจุในวาระการประชุม รวมทั้ง แจ้งความดำเนินคดีเยาวชน ฐานหมิ่นประมาท จากการรายงานข่าวการจัดค่ายเยาวชน

คำกล่าวตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดสรุปสถานการณ์ของชาวบ้านได้ชัดเจน “การเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง การประชุมแต่ละครั้งของชาวบ้านมันเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง เป็นเรื่องที่เราสู้กันมานานแล้ว ทำไมทหารต้องคุกคามเราขนาดนั้น เราทำอะไรไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เราทำซุ้มประตูเข้าหมู่บ้าน ทหารก็บีบมาทาง อบต. ให้รื้อ หลังรัฐประหารมานี้ เรายิ่งตัวเล็กลงๆ แทบไม่มีใครได้ยินปากเสียงของเรา”[4]

 

บทสรุป: บูรณาการการใช้อำนาจของทหารกับการปฏิรูปที่ไม่มีประชาชนในสายตา

เมื่อมองผ่านกรณีเหมืองทอง จ.เลย และเหมืองแร่ลิกไนต์ จ.ลำปาง ทำให้เห็นได้ว่าบทบาทของทหารไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปิดกั้นการแสดงความเห็นและการแสดงออก การรวมกลุ่มและชุมนุมคัดค้านเหมืองแร่ ผ่านการสั่งห้ามกิจกรรม และเรียกแกนนำรายงานตัว คุกคาม ติดตาม ด้วยการตีความหรือกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ทำให้สถานการณ์ไม่สงบ และเจ้าหน้าที่มีอำนาจเด็ดขาด สามารถจับกุมและคุมขังได้  ทหารยังขยายขอบเขตการใช้อำนาจพิเศษไปสู่การปิดกั้นการสร้างเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน รวมทั้งปิดกั้นกิจกรรมที่เป็นการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกิจกรรมในเชิงวัฒนธรรม โดยตีความอย่างน่าเป็นห่วงว่า เป็นการยุยง ปลุกปั่นให้คัดค้านเหมือง หรือนโยบายของรัฐบาล

ทหารยังแสดงบทบาทร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีปรองดองที่มีบริษัทผู้ขอสัมปทานมาตั้งโต๊ะลงชื่อผู้เข้าร่วมประชุม หรือการเข้าตรวจสอบแนวเขตที่ขอสัมปทาน แล้วแสดงความเห็นสนับสนุนการทำเหมืองแร่ หรือปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมในเวทีที่มีการตัดสินใจให้ความเห็นชอบต่อโครงการเหมืองแร่

นอกจากนี้ ทหารยังทำเหมือนเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาระหว่างชาวบ้านกับผู้ลงทุน แต่สุดท้ายภายใต้กฎอัยการศึกและกฎหมายพิเศษที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้ทหาร ทหารร่วมกับข้าราชการก็เป็นผู้กดดันให้ชาวบ้านยินยอมตามข้อเสนอของบริษัท โดยที่ความต้องการของชาวบ้านที่ให้เพิกถอนสัมปทาน เนื่องจากการทำเหมืองแร่ส่งผลอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านที่อยู่รอบเหมือง ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพิจารณา

ในพื้นที่มีการสำรวจและทำเหมืองแร่อีกหลายพื้นที่ก็พบบทบาททหารในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น พื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่  จ.แพร่ และสกลนคร ชาวบ้านติดป้ายคัดค้านเหมืองในหมู่บ้านเพียง 1 วัน ก็ถูกทหารมาเก็บไป และแกนนำกลุ่มคัดค้านถูกเรียกตัว เช่นเดียวกับกลุ่มต้านโปแตช จ.อุดรธานี และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ จ.เพชรบูรณ์ การเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับรัฐบาลของกลุ่มคัดค้านเหมืองทองพิจิตรและเหมืองแร่เพชรบูรณ์ถูกสกัด โดยให้ยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา นักศึกษาและอาจารย์ที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานชุมชนในพื้นที่คำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ก็ถูกคุกคาม

เวทีปรองดองของ จ.อุดรธานี ถูกใช้เป็นเวทีประชาสัมพันธ์และสนับสนุนโครงการเหมืองโปแตช โดยกีดกันไม่ให้ฝ่ายคัดค้านเข้าร่วม เวทีประชาคมเพื่อรับฟังความเห็นชาวบ้านถูกจัดในค่ายทหาร รวมทั้งในการประชุมสภา อบต. เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบโครงการ กำลังทหาร ตำรวจก็สกัดไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วม ขณะที่เวทีติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อเหมืองโปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ ซึ่งจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงด้วย กลุ่มคัดค้านก็ถูกห้ามแสดงความเห็นด้วย ม.44 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

สภาพการณ์ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นและการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุม ด้วยกฎหมายพิเศษของคณะรัฐประหาร พร้อมด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ดังกล่าวมา เห็นได้ชัดว่า ส่งผลให้การเข้าไปมีส่วนร่วมและตรวจสอบการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ รวมทั้งการเคลื่อนไหวคัดค้านทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับนโยบาย อันเป็นเครื่องมือเพียงไม่กี่อย่างของชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนในการใช้ทรัพยากรและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หดหายไป เปิดโอกาสให้ทั้งกลุ่มทุนและรัฐผลักดันนโยบายให้สัมปทานเหมืองแร่ได้อย่างเต็มที่ ภายใต้คำอ้างเรื่อง ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ และ ‘การปฏิรูป’

กรณีเหมืองลิกไนต์บ้านแหง ปฏิบัติการของทหารส่งผลให้ชาวบ้านตัดสินใจระงับการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ต่อมา วันที่ 10 ส.ค.58  กระทรวงอุตสาหกรรมก็อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์แก่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด สำหรับเหมืองโปแตชอุดรฯ ซึ่งการขออนุญาตประทานบัตรยืดเยื้อมากว่า 10 ปี เนื่องจากชาวบ้านคัดค้าน ในปี 2558 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งรัดทำประชาคมใน 2 ตำบลที่เหลือจนเสร็จสิ้น ที่สำคัญ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชใบแรกของไทย สำหรับเหมืองโปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ หลังรัฐบาลต่างๆ พยายามผลักดันมากว่า 30 ปี และประทานบัตรเหมืองโปแตช จ.นครราชสีมา เป็นใบที่สองในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

นอกจากนี้ เว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังปรากฏข้อมูลใบอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ต่างๆ ที่ยังมีอายุ จำนวน 125 แปลง ใน 21 จังหวัดทั่วทุกภาค พื้นที่กว่า 8 แสนไร่ (ข้อมูล ณ 15 มี.ค.59) โดย 124 แปลง เป็นอาชญาบัตรที่ออกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557- มีนาคม 2559

ขณะเดียวกัน ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือวางมาตรการป้องกันที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม กรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ 12 กรณี ที่เข้าสู่คณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2512-16 มิถุนายน 2558 จนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อยุติ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบจากการปนเปื้อนจากสารเคมี[5] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่เป็นผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ปี 2550-2557 ใน 17 พื้นที่[6] แต่ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบ ก็ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเช่นกัน ดังนั้น การอนุมัติให้สำรวจและทำเหมืองแร่อย่างกว้างขวางในรัฐบาลนี้ จึงคาดการณ์ได้ว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ และคุณภาพชีวิต

แม้รัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 59 ให้ยุติการอนุมัติประทานบัตร อาชญาบัตร และคำขอต่ออายุในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ด้วยเหตุผลว่า เพื่อยุติความขัดแย้ง ส่งผลให้เหมืองแร่ทองคำบริเวณรอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บป่วยของชาวบ้านรอบเหมือง ต้องหยุดดำเนินกิจการภายในสิ้นปี 2559 แต่การให้อนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่อื่นๆ ยังคงเร่งเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่เร่งรีบผลักดันภายใต้กลไกของ คสช. โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กำลังจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้การประกาศเขตพื้นที่ทำเหมือง ตลอดจนกระบวนการให้อนุญาตทั้งหลาย เอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีจะเปลี่ยนแปลงมติ 10 พ.ค.59 นี้ โดยอ้างถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติมากกว่าคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

กล่าวได้ว่า ภายใต้คำอ้างเรื่อง ‘การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ และ ‘การปฏิรูป’ โดยการริบเครื่องมือในการตรวจสอบและต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนไป คสช. และกลไกทั้งหลายของ คสช. ได้ละเมิดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร  หรือปกป้องสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งสิทธิที่จะมีส่วมร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง ซึ่งไม่เพียงละเมิดสิทธิในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังสร้างกลไกการละเมิดสิทธิต่อไปในอนาคตอีกยาวไกล ทั้งหมดนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในที่สุด

เช่นนี้แล้ว ภารกิจการปฏิรูปของ คสช. ก็ไม่อาจนิยามได้ว่า ปฏิรูปไปเพื่ออะไร เพราะมีแต่หายนะของประชาชนเท่านั้นที่รออยู่เบื้องหน้า

[1] ดูบทความที่นำเสนอปัญหาการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในกรณีบ้านแหงโดยละเอียดใน “ความสุ่มเสี่ยงของพรรคเพื่อไทยต่อข้อกล่าวหานำที่ดิน ส.ป.ก. ไปให้นายทุนทำเหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านแหง” โดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2555)

[2] ข้อมูลจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม, เฟซบุ๊ค เหมืองแร่ เมืองเลยV2 และจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่

[3] เสวนา “การมีส่วนร่วม”  1 ใน 5 หลักการของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” งานครบรอบ 12 ปี ดาวดิน 18 ก.ค.58 ที่บ้านดาวดิน จังหวัดขอนแก่น

[4] เวที “อีสานกลางกรุง” 20 มีนาคม 2558 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[5] ดูรายละเอียดใน “การเมืองเรื่องแร่…มติเพื่อเหมือง? ตอนสอง,” ประชาธรรม, 27 ส.ค.58.

[6] ดูรายละเอียดและรูปธรรมผลกระทบใน เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “สิทธิชุมชนและสิทธิการพัฒนา: จากองค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์” 17-19 มิถุนายน 2558 โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ

X