4 กป.อพช. ร้องอัยการขอสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยื่นร้องเรื่อง ‘วันเฉลิม’ หน้าสถานทูต

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 เวลา 10.00 น.​ ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้แก่ นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา, นายณัฐวุฒิ อุปปะ, นายวศิน พงศ์เก่า และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแขวง 2 เพื่อคำฟังสั่งอัยการ ในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณียื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ในการฟังคำสั่ง ผู้ต้องหาทั้งสี่คนได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้สอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพิ่มเติม คือนายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะให้การในประเด็นสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศไทยขณะเกิดเหตุ และพฤติการณ์ที่เป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันยังขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี อัยการจึงให้เลื่อนฟังคำสั่งคดีไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 63 เวลา 10.00 น

ผู้ต้องหาทั้งสี่หลังรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.วังทองหลาง เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาทั้งสี่ แจ้งขอให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตามพระราชบัญญัติองค์อัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ข้อ 21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.​2554 ด้วย 3 เหตุผล ดังนี้

  1. พฤติการณ์ในคดีที่พนักงานสอบสวนระบุ คือการยื่นหนังสือต่อผู้แทนสถานทูตกัมพูชา ขอให้เร่งรัดดำเนินการและติดตามหาตัวและให้ความช่วยเหลือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เป็นไปโดยชอบด้วย (1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) บทที่ 19 วรรคหนึ่ง “บุคคลมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง” วรรคสอง “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน” และสิทธิการชุมนุมในข้อบทที่ 21 ว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินั้นจะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” โดยประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกในกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ด้วย
    (2) ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
  2. การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นไปตามเหตุผลทางการเมืองเพื่อแทรกแซงและยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน มิได้เป็นไปตามอำนาจมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายใต้ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโคโรนา-19
    ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาจึงมีเจตนาเพื่อใช้กระบวนการทางยุติธรรมจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อหวังผลทางการเมือง มิให้ประชาชนกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสาธารณะฯ หรือที่เรียกกันว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP)
  3. การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.​ 2554 เนื่องจากการกล่าวหาและการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสี่ถือเป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรมนูญ​ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 1 ที่ระบุว่าการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อกรารชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ​และกฎหมาย
    การแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ถือว่าเป็นการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ กลับกันยังสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและประเทศชาติ

อ่านเรื่องรางที่เกี่ยวข้อง: 

อีก 4 ผู้ต้องหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตกัมพูชาเข้ารับทราบข้อหา พร้อมขบวนร้องยกเลิกพ.ร.ก.

“โชติศักดิ์และสมยศ” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร้องขอความเป็นธรรมให้วันเฉลิมหน้าสถานทูตกัมพูชา

4 ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

X