แถลงการณ์เรื่องการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ตามที่สถานการณ์ปัจจุบัน เยาวชนและประชาชนหลายกลุ่มได้ออกมาชุมนุมขับไล่เผด็จการ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา กลุ่มเยาวชนปลดแอกเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้รัฐยุติการคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา จนนำไปสู่การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมสาธารณะอย่างแพร่หลาย อย่างน้อย 107 ครั้ง ในพื้นที่ 52 จังหวัด และล่าสุดกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ขึ้นบริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

อย่างไรก็ตามนอกจากข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อแล้ว ในแต่ละการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องอย่างหลากหลาย ตามประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมให้ความสนใจ อาทิเช่น การศึกษา การสมรสเท่าเทียม การยอมรับอาชีพพนักงานบริการให้ถูกกฎหมาย รวมไปถึงการวิจารณ์ถึงการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายหลังการรัฐประหาร และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ตามประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1

การออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการคุกคามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 76 ราย ทั้งการข่มขู่ ติดตาม ห้ามจัดกิจกรรม ห้ามใช้สถานที่ แทรกแซงการทำกิจกรรม ฯลฯ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไปแล้วอย่างน้อย 4 คดี โดยเฉพาะประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ นำมาสู่การจับกุมทนายความอานนท์ นำภา และนายภาณุพงษ์ จาดนอก รวมถึงอาจมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ถึงการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นการ “จาบจ้วงสถาบัน” และข่มขู่ให้ระวังเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าวและมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง การแสดงความคิดเห็นโดยเสรี และการแสดงออกโดยการชุมนุมโดยสงบ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลไกในระบอบประชาธิปไตยก้าวเดินไปได้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การบริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

2. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่าย เรื่องอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติตนในฐานะพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องความเป็นรูปแบบของรัฐ ย่อมต้องถูกกล่าวถึงได้ เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่ง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสารัตถะของระบอบประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์กรของรัฐเป็นเรื่องปกติในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เช่น สเปนหรือเนเธอร์แลนด์ สามารถกระทำได้อย่างเป็นทางการและเปิดเผย

3. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ตามมาตรา 34 มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และข้อบทที่ 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ถือเป็นคุณค่าทั่วไปที่มีความเป็นสากลและสอดคล้องกับมาตรฐานการรับรองสิทธิมนุษยชนของนานาอารยะประเทศ

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 หรือการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 รวมถึงการชุมนุมอื่นๆ ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบธรรม สามารถกระทำได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ในเคารพ คุ้มครอง และปกป้องการใช้เสรีภาพดังกล่าว ยุติการคุกคาม การปิดกั้นหรือแทรกแซงการทำกิจกรรม และยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และขอเรียกร้องให้ประชาชนใช้ความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อันจะนำไปสู่พัฒนาการในสังคมประชาธิปไตยต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

11 สิงหาคม 2563

 

X