ข้อสังเกตทางกฎหมาย: กรณีตร.เร่งรีบแจ้งข้อหา“ภาณุพงศ์” กับการละเมิดสิทธิในการมีทนายความ

เรื่อง: เกื้อ เจริญราษฎร์

ภาพถ่าย: วิศรุต วีระโสภณ / กราฟิก: SWY

 

ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติรับรองสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหา คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 และสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหาได้รับการรับรองอีกครั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511

แม้ในประวัติศาสตร์จะมีบางช่วงที่การทำรัฐประหาร ส่งผลให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่มีการรับรองสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหา แต่หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็ได้รับรองสิทธิในการมีทนายความไว้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามการรับรองดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยสิทธิดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหากตีความตามตัวอักษรย่อมหมายความแต่เพียงหน้าที่ของรัฐในการจัดหาทนายความให้แต่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น

ในคดีอาญา แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมีหน้าที่ในการแสวงหาพยานหลักฐานให้ทราบข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำผิด เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่พยานหลักฐานดังกล่าวมิใช่หมายความแต่เพียงพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วย และในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานของรัฐอาจกระทบไปถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาในมิติต่างๆ

ดังนั้นรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย กฎหมายมักจะกำหนดขอบเขตและวิธีการในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน เพื่อไม่ให้สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาถูกรบกวนแทรกแซงจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมากเกินสมควรแก่เหตุ รัฐธรรมนูญรวมไปถึงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง มักจะประกันสิทธิต่างๆ อันเป็นหลักการสำคัญในการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา เช่น สิทธิในการได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผย สิทธิที่จะโต้แย้งและต่อสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สิทธิต่างๆ เหล่านี้ จะไม่อาจได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง หากในทางปฏิบัติไม่มีทนายความคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการดำเนินคดีตลอดกระบวนการ

ในระบบกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ให้ความคุ้มครองสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/3  ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้) การดำเนินการที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติเหล่านี้ย่อมเป็นการดำเนินคดีอาญาที่ไม่เคารพต่อสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหา และอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในชั้นสอบสวน สิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายวิธีพิจารณาไทยมีอยู่หลักๆ 5 ประการ ได้แก่

  1. สิทธิที่จะได้รับการแนะนำและตักเตือน
  2. สิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว
  3. สิทธิที่จะให้ทนายความเข้าร่วมในการพิจารณาหรือสอบปากคำ
  4. สิทธิที่จะมีทนายความคอยช่วยเหลือในคดี
  5. สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องทนายความ

การสละสิทธิในการมีทนายความประเภทใด ย่อมไม่รวมถึงการสละสิทธิในการมีทนายความประเภทอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น การที่ผู้ถูกกล่าวหาสละสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความ โดยจะจัดหาทนายความด้วยตนเอง ย่อมไม่รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาสละสิทธิที่จะให้ทนายความเข้าร่วมในการพิจารณา หรือสอบปากคำ หรือสิทธิที่จะมีทนายความคอยช่วยเหลือในคดีแต่อย่างใด

.

.

จากกรณีการจับกุมภาณุพงษ์ จาดนอก นักกิจกรรมเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 ในคดีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก การดำเนินกระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่เคารพสิทธิในการมีทนาย โดยจากข้อเท็จจริงพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ได้ทำบันทึกการจับกุม และพยายามแจ้งข้อกล่าวหากับนายภาณุพงศ์ โดยไม่รอให้ทนายความที่ไว้วางใจมาเข้าร่วมกระบวนการก่อน และยังไม่ให้บุคคลที่ไว้วางใจได้เข้าพบ รวมทั้งตำรวจยังพยายามจัดหาทนายความมาให้เอง แต่ภาณุพงศ์ยืนยันปฏิเสธเนื่องจากมีทนายความของตนเองอยู่แล้ว และกำลังเดินทางมา แต่พนักงานสอบสวนยังดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป พร้อมกับเร่งรีบจะนำตัวเขาไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง

กรณีของภาณุพงศ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ แต่การละเมิดสิทธิในการมีทนายความได้เกิดขึ้นในคดีที่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ในยุค คสช. ตัวอย่างเช่น ในคดี “ไผ่ ดาวดิน” ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ตำรวจพยายามจัดหาทนายความมาให้เอง หรือ ในคดี 8 ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ทนายความของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งได้รับการติดต่อจากญาติมา กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมฟังการสอบปากคำแต่อย่างใด

กระบวนการดังกล่าวจนกระทั่งถึงกรณีของภาณุพงศ์ล่าสุด ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่คำนึงถึงสิทธิในการที่จะได้รับการดำเนินการอย่างเป็นธรรม การไม่มีทนายความอยู่ช่วยเหลือในกระบวนการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบกับการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการพิจารณาทางอาญาตามมา

 

ดูลำดับเหตุการณ์การจับกุมภาณุพงศ์และอานนท์เพิ่มเติมใน

27 ชั่วโมงของการคุมตัว “อานนท์-ภาณุพงศ์” คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

 

X