ข้อสังเกตต่อแถลงการณ์ กสม.: เมื่อหน่วยงานสิทธิมนุษยชนสับสนต่อบทบาทการปกป้องสิทธิฯ

จากกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ทุกฝ่ายในการชุมนุมยึดหลักสิทธิมนุษยชนและใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา” ซึ่งระบุข้อเสนอแปดข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา แถลงการณ์ฉบับนี้นำมาซึ่งคำถามในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงความไม่สอดคล้องของแถลงการณ์กับหลักการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสังเกตเชิงหลักการบางประการต่อแถลงการณ์ฉบับนี้และชวนตั้งคำถามต่อบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ดังนี้

1. ข้อสังเกตเรื่องการนำหลัก “การคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล” อื่นมาพิจารณาจำกัด “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

จากข้อเสนอทั้ง 8 ข้อของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราอาจกล่าวได้ว่า ในภาพรวมคณะกรรมการสิทธิฯ ได้แถลงข้อเสนอดังกล่าวบนพื้นฐานของ “การคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น” ยกตัวอย่างเช่น จากข้อ 1. ที่กล่าวว่า “….การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการพูด แสดงท่าทาง หรือกระทำโดยวิธีการอื่น ที่ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือจาบจ้วง…” หรือจากข้อ 7 ที่ว่า “…ไม่ควรกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการยั่วยุรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งทางกายและทางวาจา เช่น การดูหมิ่นเหยียดหยามกัน”

โดยทั่วไป แม้ “การคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น” จะเป็นวัตถุประสงค์อันเป็นคุณค่าที่ได้รับอนุญาต (permissible purpose) ในการนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[1] แต่การคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่นย่อมมีน้ำหนักน้อยลงในกรณีที่เป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) ยิ่งไปกว่านั้น หากบุคคลสาธารณะนั้นอยู่ในตำแหน่งสูงมากเท่าใด ยิ่งมีความชอบธรรมที่บุคคลนั้นๆ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น[2] กรณีดังกล่าวรวมไปถึงประมุขของรัฐและรัฐบาลด้วย เนื่องจากบุคคลสาธารณะมีความเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะของประชาชนอย่างมาก

การแสดงความคิดเห็นแม้ว่าจะมีลักษณะก้าวร้าว เสียดสี หรือดูหมิ่นเหยียดหยามที่มุ่งตรงต่อประมุขของรัฐยังเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในขอบเขตที่ได้รับความคุ้มครอง ยกตัวอย่างเช่น ในคดี Otegi v. Spain[3] ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินว่าการที่ผู้ร้องกล่าวหาว่ากษัตริย์สเปนอยู่เบื้องหลังการซ้อมทรมานเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป รวมไปถึงในคดี Eon v. France[4] ซึ่งมีบุคคลชูป้ายต่อประธานาธิบดีว่า “ไปให้พ้น ไอ้เสียสติ” ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ตัดสินว่า การแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวที่มีลักษณะของของการเสียดสีมีบทบาทสำคัญต่อการถกเถียงอย่างเปิดเผยในประเด็นสาธารณะอันเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย และการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป

หากติดตามข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมแสดงความคิดเห็นโดยมุ่งตรงไปที่ระบบการเมืองและบุคคลสาธารณะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ประมุขของรัฐ หรือบุคคลผู้อยู่ในแวดวงการเมือง (political figure) ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ตั้งอยู่บนฐานของการให้น้ำหนักอย่างมากต่อหลักการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่นมาใช้พิจารณาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นข้อเรียกร้องที่น่าตั้งคำถาม เนื่องจากบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นบุคคลสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลทางการเมือง ซึ่งย่อมสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียดสีในเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะได้มากกว่าบุคคลทั่วไป

 

2. การนำ ความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยมาใช้ในข้อเรียกร้องอาจก่อให้เกิดความคลุมเครือหรือนำไปสู่การจำกัดสิทธิที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

สำหรับข้อเสนอข้อ 6 การเรียกร้องให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึง “ความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย” นั้น “ความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย เป็นถ้อยคำที่มีอัตวิสัยสูง มีความหมายไม่แน่นอนและไม่อาจชี้ชัดได้ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน แม้ในแถลงการณ์จะไม่ได้ระบุว่าให้ใช้ “ความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย” เป็นข้อพิจารณาจำกัดสิทธิโดยตรง แต่ถ้อยคำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพในการชุมนุมโดยผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ ICCPR อนุญาตได้

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าคุณค่าที่ ICCPR ได้อนุญาตให้นำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์ในการจำกัดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ดีหรือเสรีภาพในการชุมนุมก็ดี ต้องมีความเป็นสากล (Universal)ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ศีลธรรมของประชาชน (Public Moral) ต้องเป็นหลักการที่ไม่ได้รับมาแบบผูกขาดจากประเพณีใดประเพณีหนึ่ง แต่ต้องเป็นคุณค่าที่สืบสาวมาได้จากสังคม ประเพณีทางศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ จำนวนมาก[5]

เราอาจกล่าวได้ว่าหลังการชุมนุมเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีการอาศัย “ความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย” มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สถานศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้อ้าง “ความเป็นกลางทางการเมือง” หรือ “บริบทของสังคมไทย” ในการจำกัดการแสดงออกและการชุมนุมของบรรดานักเรียน

จากรายงานข่าวของบีบีซีไทย[6] ระบุว่าโรงเรียนอย่างน้อย 109 แห่ง ปิดกั้นและคุกคามนักเรียนที่ร่วมแสดงออกทางการเมืองในรั้วโรงเรียน ในจำนวนการปิดกั้นคุกคามเหล่านี้ มีการหยิบยกเรื่องกาลเทศะและการให้เกียรติโรงเรียนซึ่งเป็นบริบทเฉพาะของสังคมไทยมาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของเหล่านักเรียน ดังนั้น หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดคำถามว่า “การคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทของสังคมไทย” ตามข้อ 6 ของแถลงการณ์จะยิ่งหนุนเสริมสภาพการณ์เหล่านี้หรือไม่

การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ใช่คุณค่าสากลที่ใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาอธิบายได้อย่างแน่ชัด อาจก่อให้เกิดความสับสน และกลายเป็นข้อจำกัดเสรีภาพโดยวัตถุประสงค์ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามสนธิสัญญาที่ไทยเป็นภาคีได้[7]รวมทั้งอาจหนุนเสริมสภาพการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามว่าควรเป็นถ้อยคำที่ระบุอยู่ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ดูแลช่วยเหลือให้รัฐไทยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่

 

3. แม้ข้อเรียกร้องของการชุมนุมไม่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนหรือผูกขาดความถูกต้อง การชุมนุมดังกล่าวย่อมเป็นการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน

  ประเด็นที่น่าตั้งคำถามที่สุดจากแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิฯ คือเนื้อหาของข้อ 3 ที่กล่าวว่า “ ขอให้ผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่มีความชัดเจน มีเหตุผลที่อธิบายได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่ผูกขาดความถูกต้องสมควรแต่ฝ่ายเดียว” ทั้งนี้หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่สรุปรวบยอดมาจนถึงปัจจุบันมีสามประการ นั่นคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา เมื่อพิจารณาบริบทรวมถึงถ้อยคำที่ผู้ชุมนุมแถลงออกมานั้น เราอาจกล่าวได้ว่าข้อเรียกร้องทั้งสามข้อนั้นมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพียงพอแล้ว

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการผูกขาดความถูกต้อง โดยนัยยะหนึ่งการผูกขาดความถูกต้องย่อมเป็นธรรมชาติโดยสภาพของการชุมนุม โดยทั่วไปการชุมนุมคงไม่อาจเกิดขึ้นหากผู้มาชุมนุมไม่เชื่อมั่นในความถูกต้องของสิ่งที่ตัวเองเรียกร้อง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดความถูกต้องก็ดี การมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนไม่เลื่อนลอยก็ดี ไม่ใช่สาระสำคัญของการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ

เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนั้นแม้ไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ โดยสิ้นเชิงหรือเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ล้วนย่อมเป็นการชุมนุมที่ได้รับการรับรองตามหลักสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยรับรองเสรีภาพการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ในคดี Obote v. Russia[8] โดยคดีนี้ผู้ร้องและพวกอีกหกคนจัดการชุมนุมแบบฉับพลันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าที่ทำการรัฐบาลรัสเซีย โดยการยืนสงบนิ่งเฉย คาบกระดาษในปากและปิดปากด้วยเทปกาวเพื่อประท้วงการทุจริตของรัฐบาล ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ตัดสินว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป แม้ไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ เลยก็ตาม

นอกจากนี้การชุมนุมโดยสงบในหลายกรณีซึ่งไม่ได้จัดขึ้นด้วยจุดประสงค์การรณรงค์ประเด็นทางสังคมในขณะนั้นๆ  เช่น กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ หรือการเฉลิมฉลองผลของการแข่งขันกีฬา[9] ก็ย่อมเป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่ ICCPR รับรอง เนื่องจากธรรมชาติของการชุมนุมนั้นคือการสื่อสารทางความคิด (communication of ideas) อย่างหนึ่งนั่นเอง

บทสรุป : แถลงการณ์ที่แสดงถึงจุดยืนที่สับสนกับการตั้งคำถามกับบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ควรเป็น

จากข้อสังเกตข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนอาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการสนับสนุน (promote) ขอบเขตการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายประการ เช่น การนำถ้อยคำที่มีความผูกพันกับคุณค่าของสังคมใดสังคมหนึ่งมาใช้พิจารณาถึงการส่งเสริมสิทธิตามข้อ 6 การให้น้ำหนักกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลสาธารณะเป็นอย่างมาก รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องมีความชัดเจนในข้อเรียกร้องของการชุมนุมทั้งที่ไม่จำเป็น

ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่นักกิจกรรม นักเรียน นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากถูกแทรกแซงขอบเขตเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้อาจก่อให้เกิดคำถามว่า บทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบันควรเป็นอย่างไร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีพันธกิจช่วยเหลือและดูแลให้รัฐไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ควรออกแถลงการณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการคุ้มครองเสรีภาพอันเป็นสิทธิมนุษยชนโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่

 

 

[1] Article 19 (3) ICCPR

[2] General comment No. 34, 12 September 2011, Article 19: Freedoms of opinion and expression, United Nations

[3] Otegi v. Spain, The European Court of Human Rights

[4] Eon v. France, The European Court of Human Rights

[5] Human Rights Committee, General Comment No. 34, note 4, para 32

[6]ภาคีนักเรียนฯ เปิดชื่อ 109 รร. ละเมิดสิทธิเด็ก “ผูกโบว์ขาว” และ “ชู 3 นิ้ว” ต่อหน้าตัวแทน รมว.ศธ.,BBC Thai, 24 สิงหาคม 2563 https://www.bbc.com/thai/thailand-53886779

[7] เราอาจกล่าวได้ว่าตาม ICCPR วัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีเพียงแค่ 1. การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิบางประการของบุคคลอื่น 2. ศีลธรรมของประชาชนอันมีคุณค่าเป็นสากล(ไม่ได้ถูกรับเอามาจากวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง) 3. ความสงบเรียบร้อยสาธารณะ

ในส่วนของเสรีภาพในการชุมนุมนั้น วัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมคล้ายคลึงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่จะมีเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงของชาติ รวมไปถึงการสาธารณสุขเพิ่มเติม

[8] Obote v. Russia, The European Court of Human Rights

[9] ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สหประชาชาติ (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลICJ) และ CCPR Center

X