การถูกตีตรา-ภาระทางคดีกว่า 4 ปี ของจำเลยคดีประชามติราชบุรี หลังศาลฎีกายกฟ้อง

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 เวลา 9.30 น.​ ศาลจังหวัดราชบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดี พ.ร.บ.ประชามติ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เหตุกรณีเจ้าหน้าที่พบเอกสารและสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้โหวตโน (Vote No) ในการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 

กรณีนี้จำเลยทั้งห้าคน ได้แก่  นายปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา จำเลยที่ 2  นายอนันต์ โลเกตุ จำเลยที่ 3 นายอนุชา รุ่งมรกต จำเลยที่ 4 และนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย จำเลยที่ 5 ถูกอัยการฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และจำเลยที่ 1-4 ที่ได้ปฏิเสธจะพิมพ์ลายนิ้วมือระหว่างรับทราบข้อกล่าวหา ยังถูกฟ้องในความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 

เดิมเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้ว แต่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1-4 มีความผิดกรณีฝ่าฝืนประกาศ คมช. กรณีไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยศาลลดโทษกึ่งหนึ่ง จากปรับ 1,000 บาท เหลือ 500 บาท เพราะคำให้การของจำเลยที่ 1-4 เป็นประโยชน์ 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 เห็นว่าประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าวนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ในคดีที่รังสิมันต์ โรม ปฏิเสธจะพิมพ์ลายนิ้วมือในคดีชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง และได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อหาตามประกาศฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทำให้จำเลยที่ 1-4 ในคดีประชามติราชบุรีได้ยื่นฎีกาว่าประกาศ คปค. ที่ศาลอุทธรณ์ใช้พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญเช่นกัน 

.

.

ศาลฎีกายกฟ้อง ชี้ไม่ใช่ช่วงรัฐประหารแล้ว ประกาศ คปค.จำกัดสิทธิเกินจำเป็น ขัดรัฐธรรมนูญ

เวลา 9.30 น. จำเลยทั้ง 5 คน มายังศาลจังหวัดราชบุรี พร้อมกับทนายจำเลยอีก 2 คน ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยยกฟ้องกรณีฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น โดยศาลได้พิเคราะห์รายละเอียดดังนี้

เมื่อพิจารณาประกาศคณะปฎิรูปการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา กรณีผู้ซึ่งถูกกล่าวหาฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนมีโทษทางอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีจำเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงการรัฐประหาร

แต่ในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุขการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งมีมาตราการกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาบังคับใช้โดยไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคล ดังปรากฎรายละเอียดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมืองต่อไป จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าความจำเป็น 

ความในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายเกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ได้สัดส่วน หรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไป รวมทั้งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรมจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว 

ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเดิมเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า ประกาศดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 6 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังขึ้น 

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนเสียด้วย นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

.

การถูกตีตราหลังตกเป็นจำเลย และภาระการต่อสู้คดีกว่า 4 ปี

คดีนี้นับจากเกิดเหตุวันที่ 10 ก.ค. 2559 รวมระยะเวลากว่า 4 ปี 1 เดือนเศษ จึงสิ้นสุดลงหลังต่อสู้ในกระบวนการถึง 3 ศาล

อนันต์ โลเกตุ หนึ่งในจำเลย เปิดเผยว่า ระหว่างทางการต่อสู้ครั้งนี้ พวกเขาต้องถูกตีตราในฐานะผู้กระทำผิดจากการรณรงค์ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และการรณรงค์ของพวกเขานั้นก็เป็นการให้ข้อมูลที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ เนื่องจากรัฐในตอนนั้นให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น เรื่องสิทธิของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี  หรือเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบันไดการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ถ้าถามความเห็นผมเรื่องคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้ ผมคิดว่าประกาศของ คปค.ฉบับนี้ก็ไม่ชอบธรรมอยู่แล้วที่บังคับให้คนพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ 

“เสียใจที่ถูกตีตราเป็นจำเลยจากคดี พ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งๆ ที่สิ่งที่พวกเราทำนั้นถือว่าเป็นการรณรงค์โดยบริสุทธ์ใจ เราเห็นว่าในปีนั้นการรณรงค์ออกเสียงประชามติไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรกับประชาชนที่ครบถ้วน เช่น ที่มาของนายกฯ ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญปี 60 สืบทอดอำนาจของคณะ คสช.เอง ซึ่งเห็นได้ชัดในปัจจุบัน เราจึงออกมาให้ข้อมูลและรณรงค์ให้โหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“เลยยิ่งรู้สึกเสียใจที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกมาพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว มีความชอบธรรม ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับผู้รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ อย่างพวกผม

“หลังถูกดำเนินคดี ผมต้องถูกทหารกับเจ้าหน้าทีตำรวจคุกคาม มาเยี่ยมที่บ้าน กดดันครอบครัว มันทำให้เรารู้สึกโกรธว่าทำไมแค่ไม่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ทหารต้องไปเจอ ต้องไปคุยกับพ่อแม่เรา ครอบครัวเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีแค่เราคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี มาติดต่อเราคนเดียวก็ได้ 

“แล้วเราก็ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ศาลราชบุรีตลอด 4 ปี จนถึงชั้นฎีกา คุยกับเพื่อน [จำเลยอีก 4 คน] ว่า สี่ปีแล้วนะเว้ย”

. 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีแจกสติกเกอร์โหวตโน เหตุข้อความไม่ปลุกระดมและเป็นสิทธิที่ทำได้

ศาลราชบุรีอนุญาตฝากขัง 5 ผู้ต้องหา พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนให้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 1.4 แสนบาท

เปิดคำฟ้องอัยการ คดี 5 จำเลยรณรงค์ประชามติ จ.ราชบุรี : ขอศาลสั่งตัดสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งหมด 10 ปี

X