ข้อสังเกตและรายงานจากห้องพิจารณา คดีมอบดอกไม้ผิดประกาศห้ามชุมนุม

23 พ.ค. 2559 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกปรีชา คดีมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ‘พ่อน้องเฌอ’ ในกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท ฐานฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของ คสช. ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาคดีนี้ ดังต่อไปนี้

1. คดีนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าของศาลทหาร เนื่องจากอัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 แต่ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การวันที่ 23 พ.ค. 59 รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 5 เดือน โดยหลักแล้วหากไม่มีการสอบคำให้การจำเลยให้แล้วเสร็จ กระบวนการพิจารณาคดีก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้

กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้านี้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.8 ที่ระบุว่า เมื่อยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง รวมถึงขัดต่อ ICCPR ข้อ 14 ที่ระบุว่า ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น

เมื่อกระบวนการยุติธรรมชักช้าเกินความจำเป็น อาจจะส่งผลให้จำเลยตัดสินใจรับสารภาพ เนื่องจากกระบวนการที่ล่าช้ายาวนานเป็นภาระเกินความจำเป็นต่อตัวจำเลย ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของ สมัคร ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112

2. คดีนี้ เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก จำเลยจึงไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ ฎีกา คัดค้านคำพิพากษาศาลทหารชั้นต้นได้ เพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ฎีกา ตามมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498

เมื่อไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ ถือเป็นการปิดกั้นสิทธิของจำเลยในคดีอาญา และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขัดต่อหลักการที่ว่าบุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษา อันถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ข้อ 14

สำหรับการพิจารณาคดี เริ่มเวลาประมาณ 11.00 น. คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ประกอบด้วย พ.อ.นิรันดร์ กำศร, พ.อ.อรรถพล แก้วพาลชน, และ พ.ท.วรพล นิยมเสน ออกนั่งพิจารณาคดีดำที่ 264 ก./2559 ในคดีที่นายปรีชา ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากการไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ‘พ่อน้องเฌอ’ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ในกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ที่พันธ์ศักดิ์เดินเท้าจากบางบัวทอง ไปให้ปากคำยัง สน.ปทุมวัน ในคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558

ศาลอ่านและอธิยายฟ้องให้จำเลยฟัง พร้อมกับถามคำให้การ นายปรีชาให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์จริงทุกประการ ไม่ประสงค์ต่อสู้คดี

อย่างไรก็ตาม อัยการทหารคัดค้านคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษของปรีชาในส่วนที่ว่า ในวันที่เกิดเหตุจำเลยเพียงแค่ไปมอบดอกไม้เท่านั้น…..ถึงส่วนที่ว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ถ้าจำเลยยอมตัดข้อความในส่วนนี้ โจทก์ก็จะไม่คัดค้าน จากนั้นจำเลยจึงยอมตัดข้อความส่วนดังกล่าวออก ศาลจึงเห็นว่าเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา และอ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้คู่ความฟัง

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป คือ จำเลยถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวลงในประกาศวันที่ 22 พ.ค. 2557

ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ข้อ 12 กำหนดโทษให้ความผิดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยกว่าประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ฉะนั้นจึงจะต้องลงโทษจำเลยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ส่วนการกระทำความผิดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดฐานชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง จึงต้องลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นคุณต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โทษจำคุกคงเหลือเพียงแค่ 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท ส่วนคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและขอให้รอการลงโทษ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และพฤติการณ์ไม่ถึงขั้นร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

ทั้งนี้ ปรีชาถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างวัน 24-26 ต.ค. 2558 ที่ สภ.เชียงแสน และ สน.ชนะสงคราม   และถูกขังไว้ในระหว่างพิจารณาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558

X