หมายจับลำดับรองสุดท้ายดักก่อนไปเรียน อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ร่วม #ชุมนุมเยาวชนปลดแอก

1 ก.ย. 2563 ประมาณ 12.50 น. “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าแสดงหมายจับและจับกุมตัวย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ในขณะที่เธอกำลังจะเดินทางไปเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฏร์ และฝากขังต่อที่ศาลอาญา เหตุร่วมชุมนุมกับ #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

 

ก่อนหน้านี้ จุฑาทิพย์ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตัวใกล้ชิดมาตลอด และเธอยังไปแสดงตัวที่หน้า สน.สำราญราษฏร์ ภายหลังการชุมนุม “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 16 ส.ค. แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมจับกุม เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปถึงย่านที่พัก

สำหรับวันนี้ จุฑาทิพย์เผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับรถมอเตอร์ไซค์ประกบแกร็บแท็กซี่คันที่เธอกำลังจะนั่งไปเรียน สั่งให้รถหยุด และมี ร.ต.อ.ณัฏฐเดช อยู่นุช สารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เข้าแสดงตัว ให้เธอลงจากรถ พร้อมแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 6 ส.ค. 2563 เลขที่ 1173/2563 ทำให้เธอต้องเสียค่าบริการแกร็บแบบไปไม่ถึงที่หมาย

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะพาเธอไปที่ สน.สําราญราษฎร์ ด้วยรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจุฑาทิพย์ไม่ยินยอมและต่อรองขอนั่งแท็กซี่ไปแทน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งควบคุมตัวไปตลอดทาง ซึ่งเธอได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ่านออกเสียงหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ไปตลอดระยะการถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจอีกด้วย

13.10 น. จุฑาทิพย์เดินทางถึง สน. สําราญราษฎร์ โดยพนักงานสอบสวนทำบันทึกจับกุม 

14.20 น. แพทย์ทำการตรวจร่างกายจุฑาทิพย์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 8 ข้อหา ให้เธอทราบ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ มาตรา 34, พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด มาตรา 19, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จุฑาทิพย์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือในวันที่ 7 ก.ย. 63 แทน โดยกระบวนเหล่านี้ใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ไม่ถึง 1 ชั่วโมง

 

 

จากนั้นประมาณ 15.00 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวจุฑาทิพย์ไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังเธอในชั้นสอบสวน ก่อนขึ้นรถ เธอออกมายืนต่อหน้าสื่อมวลชน บริเวณด้านล่าง สน.สำราญราษฏร์ โดยมือหนึ่งชูหนังสือ “สามัญสำนึก” อีกมือหนึ่งชูสามนิ้วพร้อมผูกโบว์สีขาวไว้ที่ข้อมือ จุฑาทิพย์ถูกควบคุมตัวไปถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 15.30 น.    

 

8 ข้อกล่าวหา ชุดคดีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เหมือนกับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ 13 คนก่อนหน้านี้   

จุฑาทิพย์ถูกออกหมายจับเป็นคดีเหตุที่ร่วมเป็นผู้จัดและผู้ปราศรัยในการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ร่วมกับผู้ที่ถูกออกหมายจับก่อนหน้านี้แล้วรวม 13 คน โดยระบุข้อกล่าวหา 8 ข้อหา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  2. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  6. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  7. พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  8. พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

 

ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่ให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก

15.20 น. ศาลอาญา ถ.รัชดา เจ้าหน้าที่นำรั้วเหล็กมากั้นตรงบริเวณก่อนทางเดินขึ้นศาลอาญา ไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าเขตบริเวณศาล โดยก่อนหน้านี้ราว 15.00 น. ยังไม่มีการกั้นรั้วแต่อย่างใด โดยมาตรการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางไว้เพิ่มเติมอีก คือ เมื่อจะเดินเข้าไปในบริเวณที่กั้นไว้ บุคคลนั้นจะต้องบันทึกชื่อสกุลไว้เพิ่มเติมจากมาตรการที่ศาลจะทำการบันทึกชื่อสกุลจากการถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลนั้นอยู่แล้ว ก่อนเดินเข้าไปในตัวอาคารศาล 

 

 

ด้านในศาลอาญา พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง ขณะที่ผู้ต้องหาก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง และให้ทำการไต่สวนพนักงานสอบสวน 

คำร้องขอฝากขังระบุเหตุผลว่า คดีนี้ยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นเพราะต้องสอบพยานเพิ่มอีก 2 ปาก รอผลการพิมพ์ลายนิ้วมือ และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบสำนวนการสอบสวน จึงมีเหตุจำเป็นต้องขอฝากขังไว้ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 63 ถึง 12 ก.ย. 63    

หลังจากไต่สวนพนักงานสอบสวนแล้ว ศาลอนุญาตให้ฝากขังจุฑาทิพย์ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความของจุฑาทิพย์จึงได้ยื่นขอประกันตัว โดยขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องกำหนดเงื่อนไข โดยจุฑาทิพย์ขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ต่อมา ประมาณ 17.20 น. จุฑาทิพย์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องเวรชี้ ใต้ถุนศาลอาญา โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่ง และยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์เป็นวงเงิน 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับคดีที่ถูกกล่าวหานี้อีก

17.35 น. หลังจุฑาทิพย์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เธอออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเทสีใส่ตัวเองหน้าป้ายศาลอาญา ข้างถนนรัชดา โดยจุฑาทิพย์ย้ำว่า “สีขาวซักออกได้ แต่ความอยุติธรรมซักออกไม่ได้” หลังจากนั้นประชาชนช่วยกันทำความสะอาดบริเวณที่ทำกิจกรรม

 

ย้อนดูกรณีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอกก่อนหน้านี้: 

27 ชั่วโมงของการคุมตัว “อานนท์-ภานุพงศ์” คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

24 ชั่วโมง จับกุม-ค้นบ้าน-ฝากขัง เพนกวิน จากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

ประมวลสถานการณ์สองวันของการจับกุม “อานนท์” – 8 ผู้ร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอก

ประชาชน-นักศึกษา 15 คน จากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก รวมตัวรับทราบ 7 ข้อกล่าวหา

ทัตเทพ-ภานุมาศ ถูกจับกุมตามหมายจับคดี #เยาวชนปลดแอก ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา

 

X