เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ปรับ 2 พัน คดี “เพนกวิน-บอล” ค้านผบ.ทบ.เปิดเพลงหนักแผ่นดิน

3 ก.ย. 63 ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” จำเลยที่ 1 และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย หรือ “บอล” จำเลยที่ 2 จากกรณีทั้งสองคนได้นัดหมายไปทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ของผู้บัญชาการทหารบก ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562

 

 

ความเป็นมาของคดี: ไปอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ. เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่?

ความเป็นมาในคดีนี้สืบเนื่องจากพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปรับลดงบประมาณกลาโหม โดยไล่ให้ไปฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน” และมีการสั่งการให้เปิดเพลงนี้ตามคลื่นวิทยุของกองทัพบก ก่อนจะยกเลิกไปนั้น  ทำให้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 นายพริษฐ์, นายธนวัฒน์ และเพื่อนอีก 1 คน ได้เดินทางไปทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการเปิดเพลงดังกล่าว ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก โดยมีการโพสต์เฟซบุ๊กก่อนการเดินทางไป อธิบายกิจกรรมว่าไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษา เป็นการไปให้ความรู้ผบ.ทบ. อธิบายถึงสาเหตุที่กองทัพบกไม่ควรเปิดเพลงนี้ เพราะเป็นเพลงที่สร้างความเกลียดชัง และส่งเสริมความรุนแรงในสังคม

หลังกิจกรรม ทั้งสองคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวไปยังสน.นางเลิ้งทันที และได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิต

อ่านประเด็นการต่อสู้คดีในชั้นศาล ให้ความรู้ ผบ.ทบ. ไม่ใช่การชุมนุม: บันทึกสืบพยานคดีไม่แจ้งชุมนุม ค้านเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 62 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองคนมีความผิด โดยลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท โดยศาลพิจารณาจากข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กของทั้งสองคนเรื่องกิจกรรมนี้ เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เชิญชวนประชาชนผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะเท่ากับเป็นผู้จัดการชุมนุม ทำให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  จำเลยทั้งสองคนได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อมา

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ชี้การโพสต์แจ้ง แม้ไม่มีการระบุเชิญชวน ก็ถือเป็นการชักชวนให้คนมาชุมนุม

ในวันนี้ ทั้งพริษฐ์และธนวัฒน์เดินทางมาศาล ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท

ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีพ.ต.ต.ปฏิญญา ตินโย และพ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เป็นพยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ต.ปฏิญญาได้สืบสวนทราบข้อมูลจากเฟซบุ๊กบัญชีของจำเลยทั้งสอง ว่ามีการนัดหมายชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง จึงรายงานให้พ.ต.อ.กัมปนาท ผู้กำกับสน.นางเลิ้งทราบ พยานทั้งสองกับพวกไปทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม

ในวันเกิดเหตุ 20 ก.พ. 2562 ทั้งสองคนนำจดหมายเปิดผนึกมีข้อความเกี่ยวกับการที่ผู้บัญชาการทหารบก สั่งให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน มาอ่านบริเวณเกาะกลางถนนฝั่งซ้าย หน้ากองทัพบก ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จำเลยที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และนำจดหมายเปิดผนึกไปติดที่ป้ายกองทัพบก พร้อมป้ายพลาสติกข้อความว่า “หนักแผ่นดิน ไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมีดีกว่ามั้ยลุง” และกระดาษอีก 3 แผ่น ข้อความว่า “เพลงหนักแผ่นดินสร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง ความเจ็บปวดในสังคม” ไปวางไว้ พ.ต.ต.ปฏิญญาได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าได้แจ้งการชุมนุมต่อสน.นางเลิ้งหรือไม่ จำเลยที่ 1 แจ้งว่าไม่ได้แจ้งการชุมนุม เนื่องจากไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการให้ความรู้ พ.ต.ต.ปฏิญญาจึงเชิญตัวจำเลยทั้งสองไปยังสน.นางเลิ้ง

ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ประกอบกับจำเลยทั้งสองเบิกความรับว่าเขียนข้อความในเฟซบุ๊กสาธารณะ และไม่ได้แจ้งผู้กำกับสน.นางเลิ้งเกี่ยวกับการทำกิจกรรม เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความเป็นจริง

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษาเรื่องเพลงหนักแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการจัดกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ และจำเลยทั้งสองไม่ได้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมจัดกิจกรรมด้วยนั้น ศาลเห็นว่าตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การชุมนุมหรือการที่บุคคลหลายคนมารวมกันในที่สาธารณะอันจะเข้าลักษณะเป็นการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้องเกิดจากความคิดริเริ่มของบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน และมีการเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมารวมกันในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการทำกิจกรรมที่แสดงออกต่อประชาชนทั่วไปให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมนั้น และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้

การที่จำเลยทั้งสองโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ ถึง 5 วันก่อนเกิดเหตุ โดยมีเนื้อหาแจ้งต่อสาธารณชนว่าจำเลยทั้งสองและเพื่อนนักศึกษา จะไปทำกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นที่สาธารณะในวันเกิดเหตุเวลา 9 นาฬิกา เพื่ออธิบายให้พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดินในหน่วยทหารต่างๆ

แม้ว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองโพสต์จะไม่มีคำว่าเชิญชวน หรือนัดหมายบุคคลใดให้ไปร่วมทำกิจกรรม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองโพสต์ข้อความหลังจากมีข่าวว่าพล.อ.อภิรัชต์ สั่งให้สถานีวิทยุและหน่วยงานของกองทัพบกเปิดเพลงหนักแผ่นดิน อันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเพียงวันเดียว ประกอบกับจำเลยทั้งสองเบิกความว่าตนเป็นนักศึกษาซึ่งทำกิจกรรมส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และพัฒนาสังคม จำเลยทั้งสองมีข้อกังวลว่าการเปิดเพลงหนักแผ่นดินจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ดังเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้งสองซึ่งไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว ย่อมต้องการกำลังใจสนับสนุนจากประชาชน และเล็งเห็นผลได้ว่าการโพสต์ดังกล่าว จะเป็นการชักชวนให้บุคคลที่สนใจหรือมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับจำเลยมาร่วมชุมนุมทำกิจกรรม ตามวันเวลาและสถานที่ที่จำเลยทั้งสองประกาศแจ้ง

 

 

ระบุการอ้างเป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษา ไปให้ความรู้ผบ.ทบ. เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ

ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าต้องโพสต์ข้อความระบุสถานที่ที่จะไปทำกิจกรรมให้สาธารณชนทราบ เพื่อความปลอดภัยนั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นพิจารณา มิได้ให้การในชั้นสอบสวนไว้ ทั้งหากมีผู้ประสงค์จะทำอันตราย การโพสต์ข้อความดังกล่าวก็ไม่อาจป้องกันอันตรายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้

เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้โพสต์ข้อความโดยชัดแจ้งว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างจำเลยทั้งสองกับพล.อ.อภิรัชต์ ที่บุคคลภายนอกไม่สมควรยุ่งเกี่ยวด้วย บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความย่อมเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองประสงค์จะจัดการชุมนุม และเชิญชวนประชาชนที่สนใจให้มาร่วมการชุมนุมด้วย

ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าจัดกิจกรรมให้ความรู้และสอนประวัติศาสตร์แก่ผู้บัญชาการทหารบก อันเป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษานั้น จำเลยทั้งสองเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองซึ่งยังเป็นนักศึกษา มีความรู้ และประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับของสังคมในเรื่องใด ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ให้การศึกษาหรือมีหน่วยงานใดขอให้จำเลยทั้งสองมาบรรยายให้ความรู้ อันจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษา การจัดกิจกรรมของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจัดการชุมนุมแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านการกระทำของพล.อ.อภิรัชต์

 

ชี้แม้มีแค่ 3 คน ก็เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าระหว่างทำกิจกรรมไม่มีประชาชนมาร่วมทำกิจกรรมด้วย เนื่องจากมีเจ้าพนักงานตำรวจยืนคล้องแขนกันเป็นวงล้อมรอบบริเวณที่ทำกิจกรรม เพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้าร่วมนั้น จำเลยทั้งสองไม่นำบุคคลที่ประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจห้าม มาเบิกความ และตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดจำนวนผู้ชุมนุม แม้จะมีจำเลยทั้งสอง และเพื่อนอีก 1 คน ร่วมชุมนุม เพียง 3 คน ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะแล้ว

พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างตามความนึกคิดลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ แม้ว่าการจัดกิจกรรมของจำเลยจะไม่กระทบกระเทือนต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นดังที่อ้างไว้ในอุทธรณ์ ก็ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ที่จำเลยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อนที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่าการกระทำของพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้อง มุ่งแต่จะใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการกระทำที่รวดเร็วรวบรัดตัดตอนเสร็จสิ้นในวันเดียว ขัดกับการสอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งสอง เป็นข้อคิดเห็นของจำเลยทั้งสอง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยทั้งสองจัดการชุมนุม ทำกิจกรรมอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คิดีที่จะต้องวินิจฉัย

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

คำพิพากษาจัดทำโดยผู้พิพากษาองค์คณะ ได้แก่ นายคมกฤช เทียมทัด, นายเจษฎาวิทย์ ไทยสยาม และนายสมคิด แสงธรรม

 

X