กฎหมายและการกดปราบทางการเมือง สู่ “วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม” (อีกครั้ง)

คอลัมน์นิติ/สังคม เปิดพื้นที่ให้นักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจสังคมการเมืองในมิติทางกฎหมายที่หลากหลาย เข้ามาร่วมกันขีดเขียนและนำเสนอความคิดเห็น อันน่าจะช่วยเปิดโลกของวิชากฎหมายในสังคมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

ภาสกร ญี่นาง
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เนื่องด้วยบรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงนี้กำลังร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์การชุมนุมของประชาชนจำนวนมากที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ เกิดขึ้นทั่วทุกสารทิศ ดังที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Mob data Thailand บ่งชี้ว่า ในปี 2563 ได้มีการจัดกิจกรรมชุมนุมขึ้นแล้วกว่า 178 ครั้ง ในจำนวนไม่น้อยกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2563) ท่ามกลางข้อเรียกร้องหลักสามข้อ ประกอบด้วย ‘หยุดคุกคามประชาชน’, ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ และ ‘ยุบสภา’ สองจุดยืน ได้แก่ ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร, ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ หนึ่งความฝัน คือ การมี ‘ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ อย่างแท้จริง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวาง อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับแรงสะเทือนที่กำลังสั่นคลอนอำนาจหรือระเบียบทางสังคมตามแบบที่ตนปรารถนา วิธีการตอบโต้ ขัดขวาง ขบวนการเคลื่อนไหวได้ถูกผลิตออกมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งมวลชนสนับสนุนรัฐบาลอันมีลักษณะคล้ายกับสมัยก่อน 6 ตุลาฯ 2519 การเผยแพร่คลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ลงในเว็บไซต์ยูทูปของกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนัก จนต้องยอมลบในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง รวมไปถึงการคุกคาม และการบังคับใช้กลไกทาง “กฎหมาย” เพื่อกล่าวหาดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม

หากจะกล่าวในเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า นอกจากจะเป็นความพยายามในการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้ปกคลุมปริมณฑลทางสังคม และแสดงให้เห็นถึงการทำให้ “กฎหมาย” กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจรัฐในการใช้กดปราบประชาชน เพื่อระงับยับยั้งการแสดงออกทางการเมือง และขัดขวางกระแสอันไหลเชี่ยวของการเคลื่อนไหว

บทความนี้จะทำการสำรวจ “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลผ่านการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ คือ “วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม” (Crisis of legitimacy)

 

ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง “ธงชาติ” ของกรมประชาสัมพันธ์

 

อำนาจชอบธรรม (legitimate power)

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ย่อมรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐที่มีอำนาจอันชอบธรรมควรเป็นอำนาจที่อยู่บนฐานของการได้รับความยินยอม (consent) ของผู้อยู่ใต้การปกครอง โดยเฉพาะในกลุ่มพลเมืองที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตน และเป็นรัฐที่กำเนิดจากฉันทามติ (consensus) ของคนส่วนใหญ่ที่ให้การยอมรับร่วมกันว่า ใครคือผู้ที่สมควรจะมีอำนาจและกลุ่มหรือสังคมจะยอมเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นอกเหนือจากมิติทางการเมืองแล้ว ความชอบธรรมของรัฐ อาจเกิดจากกระบวนการอันอยู่ในมิติทางวัฒนธรรมและศีลธรรมของการใช้อำนาจทางการเมืองของผู้ปกครอง เพื่อสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจนำ” (Hegemony) ซึ่งหมายถึง อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตและความคิดของผู้คนในสังคมด้วยระเบียบหรือชุดความคิดหนึ่งๆ ที่กระจัดกระจาย และแฝงอยู่ในทุกองคาพยพของสังคม ทั้งสถาบันที่เป็นทางการ และเครือข่ายประชาสังคม อันอยู่ในรูปของรสนิยม ศีลธรรมจรรยา จารีตประเพณี ความเชื่อทางศาสนา ความสัมพันธ์ทางสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอธิบายเกี่ยวกับความรู้ภูมิปัญญาและศีลธรรม

อำนาจนำดังกล่าว อาจตกผลึกและปรากฏอยู่ในรูปแบบโลกทัศน์ หรือ “สามัญสำนึก” (common sense) ของประชาชน ซึ่งส่งผลให้การปกครองของฝ่ายผู้มีอำนาจได้รับความยินยอมจากประชาชนได้ง่ายขึ้น และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแก่อำนาจรัฐภายใต้บรรยากาศของ “ความปกติ” ที่อีกด้านหนึ่งก็สุ่มเสี่ยงต่อการก่อตัวจิตสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) ที่ทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยน และความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น “เรื่องปกติ” โดยสามัญสำนึกที่เป็นผลผลิตมาจากอำนาจนำของชนชั้นนำ

รัฐที่มีอำนาจชอบธรรม จึงไม่ได้เป็นเพียงรัฐที่ได้รับความยินยอมจากผู้อยู่ใต้การปกครอง ในแง่ของกระบวนการทางการเมือง หรือมีที่มาการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้ห้วงเวลาแห่งความชอบธรรมของรัฐขาดตอนไป ความยินยอมจากฝ่ายประชาชนจะต้องรวมไปถึงในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และศีลธรรมอีกด้วย กล่าวคือ หากเมื่อใดก็ตามที่รัฐมีพฤติกรรมใช้อำนาจที่ผิดไปจากสามัญสำนึกของประชาชน หรือวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เป็นผลผลิตจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กระแสความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน การเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือจากตำราเรียน หรือการรวมกลุ่มกันของประชาชนในโลกสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่หากฝ่ายรัฐยังดึงดันไม่ยอมปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย ความชอบธรรมของอำนาจย่อมต้องถูกสั่นคลอน

เมื่ออำนาจนำ และความหมายของรัฐที่มีความชอบธรรม เป็นสิ่งที่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลง และถูกท้าทายจากคุณค่าทางสังคมของมนุษย์ที่มีความพลวัตอยู่ตลอดเวลา รัฐทุกแห่งจึงจำเป็นต้องมีการใช้อำนาจบีบบังคับ (coercion) ผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายและการกระทำทางปกครองรูปแบบต่างๆ เนื่องจากรัฐถือเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงเหนือกลุ่มและบุคคลทั้งหลายอย่างชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ ซึ่งการรักษาสมดุลระหว่างความยินยอมและการบีบบังคับ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ปกครองที่มีความชอบธรรม

 

 

การกดปราบทางการเมือง หนทางสู่วิกฤตการณ์ความชอบธรรม

การที่รัฐไทยได้บังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดปราบทางการเมือง (Political Repression) และขัดขวางการเคลื่อนไหวชุมนุมหรือการแสดงออกของประชาชน ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่ดำเนินมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557 เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 มาถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารออกผ่านอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 อันเกี่ยวกับการ “ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่อำนวยความสะดวกแก่การยึดอำนาจของทหาร และจัดการกับกระแสต่อต้านการรัฐประหาร ณ ขณะนั้น

เมื่อได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561  และเข้าสู่ยุคหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดปราบทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของคำสั่ง คสช. อีกต่อไป แต่เกิดขึ้นผ่านบทบัญญัติกฎหมายทั้งในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ. จราจรทางบก ฯลฯ รวมถึงข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายในสภาวะไม่ปกติที่ถูกประกาศออกมาเพื่อรับมือกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19

ปัจจุบันมีผู้จัดการชุมนุม ผู้ปราศรัย และผู้ร่วมชุมนุมจากการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. จำนวนไม่ต่ำกว่า 30 คน ที่ถูกดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแหไร้ซึ่งมาตรฐานใดๆ ผู้ถูกล่าวหามีหลากหลายสถานะ ทั้งนิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชน นักร้อง นักดนตรี ทนายความ

การกระทำของรัฐบาลได้ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในฝ่ายประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก พร้อมกันนั้นความชอบธรรมของรัฐบาลเองก็กำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรงโดยการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งในพื้นที่สาธารณะ มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนมัธยม แต่ขณะเดียวกันย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการคุกคามประชาชนด้วยกระบวนการทางกฎหมายยังซุกซ่อนนัยยะแห่งการข่มขู่ หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน

 

 

ลักษณะการชุมนุมเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนเอง อันแฝงความหมายของความไม่ยินยอมให้รัฐบาลเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรมอีกต่อไป ได้สะท้อนให้เห็นว่า ชุดความคิด คุณค่า ความเชื่อ รวมถึงความรู้ภูมิปัญญาและกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เคยครอบงำความคิดและการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีต ซึ่งมีส่วนช่วยพยุงรักษาระเบียบและโครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิม (status quo) ได้ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

ตัวอย่างเช่น การขับร้องบทเพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่ออกมาปะทะกับชุดความคิดเรื่อง “เมืองไทยนี้ดี” หรือ “ความเป็นไทย” ที่ชนชั้นนำยึดครองพื้นที่ในการนิยามมาตลอดหลายทศวรรษ หรือการประกาศหนึ่งความฝันที่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะในรอบหลายปี รวมถึงการชูสามนิ้วเคารพธงชาติ โดยเฉพาะในสถานศึกษา ซึ่งทำให้เห็นถึงระเบียบบางอย่างและความหมายของ “ชาติ” ที่อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดังนั้น เมื่ออำนาจนำถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง และคนจำนวนมากไม่ยินยอมให้รัฐบาลและระบอบการเมืองที่เป็นอยู่มีอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองต่อไป จึงมีเพียงวิธีการเดียวที่รัฐใช้ในการปกป้องสถานะของตน คือ การใช้อำนาจบีบบังคับ หรือความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้ผูกขาดความชอบธรรมตั้งแต่แรก แต่อาจไม่ใช่ความรุนแรงในลักษณะดิบเถื่อนด้วยกำลังทางอาวุธและกองกำลัง แต่อาศัยอยู่ใต้ผ้าคลุมของกฎหมาย หรือการทำให้การกดปราบทางการเมืองเป็นเรื่องของกฎหมาย (legalized political repression) สถาบันทางกฎหมายจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐในการให้ความชอบธรรมแก่การกดปราบ (legitimating repression) อันเป็นวิธีการที่รัฐเผด็จการสมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อให้ธำรงรักษาอำนาจและสถานภาพของตนให้ได้นานที่สุด

ประเด็นนี้ อาจช่วยให้เข้าใจอีกว่า ทำไมการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านการเคลื่อนไหวของฝั่งประชาชนปลดแอกอย่างกลุ่มไทยภักดี กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ หรือกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ถึงไม่ได้ถูกคุกคาม หรือถูกดำเนินคดี อาจมามีสาเหตุมาจากการที่นัยยะของความเห็นพ้องกับอำนาจ และยินยอมให้รัฐบาลเป็นผู้ปกครองไม่ได้หายไป มวลชนกลุ่มดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่ไม่ได้ถูกดำเนินการทางกฎหมายเท่านั้น แต่รัฐยังอาจให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวอีกด้วย ซึ่งข้อนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ที่กลไกรัฐได้ระดมมวลชนฝ่ายขวาและตั้งให้เป็นฝ่ายปฏิปักษ์ต่อขบวนการนักศึกษา จนนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่มีผู้ใดต้องรับผิด แต่กลับเป็นฝ่ายผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่ถูกดำเนินคดี นี่ไม่ใช่ความยุติธรรมที่มีหนึ่งหรือสองมาตรฐาน และไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน แต่มันดำรงอยู่เป็นมาตรฐานของรัฐไทยต่างหาก

การเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อกดปราบทางการเมืองอย่างเข้มข้น สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่สมดุลกันระหว่างอำนาจที่ได้รับความยินยอมของประชาชนและอำนาจที่เกิดจากการบีบบังคับ เมื่อความชอบธรรม และอำนาจนำของผู้มีอำนาจแทบจะไม่หลงเหลือความสามารถในการครอบงำกลุ่มประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องได้อีกต่อไป โดยรัฐไทยได้บีบบังคับกดขี่ และใช้วิธีการความรุนแรง มากกว่าการกระทำอย่างอื่นเพื่อให้ได้รับความยินยอมจากประชาชน กลายเป็น “วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม” (crisis of legitimacy) ที่รัฐกำลังเผชิญอยู่

วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมเป็นภาวะที่ชนชั้นปกครองสูญเสียความเห็นพ้องต้องกันของฝ่ายผู้อยู่ใต้อำนาจ และไม่สามารถสร้าง “การนำ” ได้อีก คงเหลือเพียงแต่อำนาจในการบีบบังคับเพื่อครอบงำอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนี่อาจเป็นความหมายของคำว่า “ตาสว่าง” หรือ “เบิกเนตร” ที่ดีที่สุด คือ การที่มวลชนจำนวนมากได้เลือกทิ้งอุดมการณ์แบบดั้งเดิม ไม่หลงเชื่อสิ่งที่ชนชั้นปกครองเคยโฆษณาให้เชื่ออีกต่อไป วิกฤตการณ์จึงเป็นสถานการณ์ที่ระเบียบเก่าในสังคมกำลังจะสลายไป แต่ขณะเดียวกันก็ได้คัดง้างกับอุดมการณ์ใหม่ ซึ่งเป็นขุมพลังของความเปลี่ยนแปลง ระเบียบทางสังคมแบบใหม่จึงยากที่จะเกิดขึ้นเช่นนั้น ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้อาการป่วยไข้ทางสังคมย่อมปรากฏขึ้นให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ

ห้วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์นี้ อำนาจนำซึ่งเคย “นำ” หรือ “ครอบงำ” จิตสำนึกของประชาชน จะถลำออกไป และถูกฉาบใหม่ด้วยความรุนแรงทางการเมือง ขณะเดียวกันอำนาจรัฐก็ถูกกัดเซาะเนื้อในจนกลวง และเป็นเหตุให้รัฐต้องประสบกับภาวะเปราะบาง การขยายขอบเขตและยกระดับการบีบบังคับหรือกดปราบประชาชน ไม่ได้เป็นสัญญาณของการใช้อำนาจเพื่อรักษาระเบียบ แต่มันคือสิ่งที่บ่งบอกถึงอาการความอ่อนแอของรัฐนั่นเอง

ทั้งนี้ วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมเป็นเพียงกระบวนการ (process) ที่ไม่ปรากฏเวลาเริ่มต้นหรือสิ้นสุดที่แน่นอน หาใช่จุดจบของสังคมนั้น คำถามมีอยู่ว่าวิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมจะนำพาสังคมไทยไปสู่อะไรได้บ้าง

 

 

ทางสองแพร่ง “สันติภาพ หรือ ความรุนแรง”

การเกิดขึ้นของวิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมในความขัดแย้ง มีลักษณะคล้ายกับวันที่สังคมนั้นได้เดินทางมาถึงทางสองแพร่ง ที่มีให้เลือกระหว่าง “สันติภาพ” และ “ความรุนแรง” แน่นอนจุดมุ่งหมายที่ทุกฝ่ายปรารถนาเหมือนกันย่อมเป็นสันติภาพ แต่สันติภาพย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยการใช้กำลัง หรือการบังคับใช้กฎหมายมากดปราบประชาชน หนทางสู่สันติภาพ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการยอมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน กลุ่มพลังเก่าต้องยอมให้พลังใหม่ได้ขึ้นมาแทนที่ หรือการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงของผู้มีอำนาจ เป็นต้น

อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีการเมือง ผู้วางรากฐานการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical) เพื่อเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ตลอดจนอธิบายกลยุทธ์ในการสร้างแนวร่วมของชนชั้น เพื่อนำไปสู่การสร้างหรือช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemonic position) ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ กล่าวทำนองว่า ห้วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิด “ความเป็นไปได้” (Possibility) และ “ความจำเป็น” (Necessity) ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ การสถาปนาอำนาจนำใหม่ ทั้งเรื่องวิถีการผลิต การใช้ชีวิต และโลกทัศน์ เพื่อให้วิกฤตการณ์คลี่คลายลง

นอกจากนี้ การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่มาจากกระแสความคิดที่กำลังแก่งแย่งพื้นที่ช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองระบอบประชาธิปไตย การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การมีสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ อาจเปิดพื้นที่ให้ “สันติวิธี” สามารถเข้ามาเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเรียกร้องได้ เพราะการต่อสู้ด้วยสันติวิธีย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากว่ารัฐนั้นมีอำนาจในการทำลายชีวิตของประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิด และไร้ซึ่งความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

ปัญหาสำคัญของวิธีการสู่สันติภาพ คือการที่มันเป็นไปได้ยาก และต้องอาศัยเวลาประกอบกับ กระบวนการหรือเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมจำนวนมาก จนทำให้แทบจะกลายเป็นเรื่องในอุดมคติ แต่ในทางกลับกัน การเพิกเฉยต่อการแสวงหาสันติภาพที่ยั่งยืน การกดทับ การดึงดันของฝ่ายผู้มีอำนาจที่พยายามใช้วิธีการทางกฎหมายมาคัดง้างกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ความป่วยไข้ทางสังคมก็แสดงอาการออกมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ย่อมนำพาสังคมไปสู่ความเลวร้าย และความเลวร้ายที่ยิ่งกว่า

ดังเช่นในกรณีล่าสุด ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ถอนประกันทนายอานนท์ นำภา และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มให้กับภาณุพงศ์ จาดนอก ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เนื่องจาก “ผิดเงื่อนไขตามสัญญาประกัน และเพื่อเป็นการป้องกันผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” (ข้อกฎหมายที่ตีความได้กว้างที่สุด) ซึ่งแสดงให้ถึงความพยายามในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดปราบประชาชนจนกระบวนการยุติธรรมได้ทำลายความยุติธรรมได้ด้วยตัวของมันเอง เช่น

(1) เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาประกันตัวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 กำหนดว่า ห้ามกระทำการในลักษณะเดิมอีก ซึ่งก็คือ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่การเข้าร่วมและปราศรัยที่การชุมนุมในหลายแห่งของทั้งสอง ล้วนเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อเรียกร้องให้ประเทศต้องปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมไม่ “ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” หากศาลสามารถออกคำสั่งที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ก็ถือเป็นการทำลายหลักความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (the supremacy of the constitution)

(2) ตามหลักของการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อบุคคลถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นความผิด ต้องได้รับการคุ้มครองด้วยข้อสันนิษฐานว่ายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะคำพิพากษาของศาลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดจริง การออกเงื่อนไขในการประกันตัวโดยมิให้กระทำการในลักษณะเดิม ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาชี้ขาดออกมา ย่อมมีลักษณะเป็นการทำลายหลักการเรื่องข้อสันนิษฐานดังกล่าว

(3) เงื่อนไขการไม่ให้ประกันตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 108/1 ทั้ง 5 อนุมาตรา ไม่ว่าจะเป็น (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ทั้งสองยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และเพียงใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าศาลไม่มีอำนาจจะสั่งถอนประกันได้ ข้อนี้ถือเป็นการทำลายหลักกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม (Due Process) อีกประการหนึ่ง

 

 

ตัวอย่างข้างต้น เป็นหนึ่งในอาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นในภาวะที่รัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม เมื่อความยุติธรรมได้ถูกทำลายลงโดยกระบวนการยุติธรรมเอง องค์ความรู้ทางกฎหมายในตำราถูกทำให้บิดเบี้ยว และพลิกตาลปัตรไปมา จากการที่รัฐพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดปราบประชาชนแทนที่จะอำนวยความยุติธรรม รังแต่จะตอกย้ำว่ารัฐบาล รวมถึงสถาบันทางกฎหมายไทย ได้สูญเสียความเห็นพ้องต้องกันของประชาชน และหมดสิ้นซึ่งความชอบธรรมไปแล้ว

เมื่อระบบกฎหมายไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ การกดปราบทางการเมืองด้วยกระบวนการทางกฎหมาย อาจมีส่วนสนับสนุนให้โครงสร้างทางสังคมที่ปราศจากความยุติธรรมและความเสมอภาคยังดำเนินต่อไป โครงสร้างทางสังคมดังกล่าว จะมีฐานะเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่คอยกระตุ้น ปลุกเร้า และกดดันให้ฝ่ายผู้เสียเปรียบ อาจต้องหันมาใช้วิธีการความรุนแรงเพื่อให้ตนไปยังเป้าหมายที่เรียกร้องไว้ให้ได้

วิกฤตการณ์ความชอบธรรมอาจยืดเยื้อ แต่ไม่สามารถดำรงได้ตลอดไป ในทางสองแพร่งนี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าสังคมและการเมืองจะเดินไปทางใด เพราะรัฐบาลยังคงใช้อำนาจกดปราบประชาชน โดยไม่สนว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง ฝ่ายประชาชนเองก็ได้ยกระดับการชุมนุมเรียกร้องในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมทั้งยังมีการจัดตั้งมวลชนที่ยกวาทกรรมเรื่องปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาทำลายความน่าเชื่อถืออีกฝ่ายอย่างเข้มข้นคู่ขนานกันไป

แต่ถึงอย่างไร ความรุนแรงย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่าถวิลหา เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยนำพาสังคมไทยไปสู่การแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย

 

 

เอกสารอ้างอิง

Adamson, Walter L., Transformism and Crisis of Authority, Hegemony and revolution. Antonio Gramsci’s political and cultural theory. (Los Angeles: University of California Press, 1980), 196-201.

Femia, J., Hegemony and Consciousness in the Thought of Antonio Gramsci. Political Studies23 (1), 29–48.

Hoare, G. and Sperber, N., Consent and Coercion, An introduction to Antonio Gramsci: his life, thought and legacy. (New York: Bloomsbury Academic, 2016), 122-125.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เลือก ไฟ และอำนาจ, เต๋าแห่งประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2556), 47-104

นพพล  อาชามาส, พินิจคำสั่ง “ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง” ของคณะรัฐประหารไทย ในฐานะเครื่องมือการปราบปรามโดยรัฐ, นิติสังคมศาสตร์, 12 (2) กรกฎาคม – ธันวาคม 2562, 1-39.

พวงทอง ภวัครพันธุ์, มวลชนจัดตั้งในทศวรรษ 2560, เวย์แม็กกาซีน, 24 สิงหาคม 2563. https://waymagazine.org/rightwing-masses (สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของเผด็จการสมัยใหม่ในการอยู่ในอำนาจ, เผด็จการวิทยา, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2561), 61-72.

วัชรพล พุทธรักษา, วิกฤติการณ์ของอำนาจนำและการเกิดสภาวะแบบซีซาร์, อันโตนิโอ กรัมซี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง. (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2561), 186-197.

สมคิด พุทธศรี, อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล, ไทยพับลิก้า, 1 มิถุนายน 2557. https://thaipublica.org/2014/06/absolute-power-corrupts-absolutely/ (สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563)

สำนักข่าวบีบีซีไทย, เยาวชนปลดแอก: ใครเป็นใครในแกนนำ-ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี, บีบีซีไทย, 2 กันยายน 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-53846800 (สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563)

สำนักข่าวบีบีซีไทย, อานนท์ นำภา-ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ หลังศาลมีคำสั่งถอนประกัน, บีบีซีไทย, 3 กันยายน 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-54008066 (สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2563)

 

 

X