จับตา ศาลอาญานัดไต่สวนคดี “เพนกวิน” ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล เหตุวิจารณ์อำนาจตุลาการ

วันที่ 11 ก.ย. 63 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดไต่สวนในคดีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรม ถูกผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการไปร่วมติดตามให้กำลังใจนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ถูกจับกุมตัวและถูกนำตัวมาขออำนาจศาลอาญาฝากขัง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63

นายพริษฐ์ได้ถูกศาลอาญาแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 และ 33 ระหว่างที่เขาถูกจับกุมตัวตามหมายจับในคดีชุมนุม #เยาวชนปลดแอก แล้วถูกนำตัวมาขออำนาจศาลอาญาฝากขัง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 63

ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63 ขณะที่พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์นำตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก มายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา นายพริษฐ์กับพวกได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้ามุก บันไดทางขึ้นศาลอาญา และได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจของตน เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมกัน ในระหว่างชุมนุม นายพริษฐ์ได้พูดเสียงดังต่อหน้าผู้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าว มีเนื้อหาลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล กล่าวถึงความสัมพันธ์ของศาลกับประชาชน อำนาจของสถาบันตุลาการ และปัญหากระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน

ผู้กล่าวหายังกล่าวหาว่าพริษฐ์ได้ใช้อุปกรณ์ขยายเสียงและอุปกรณ์ถ่ายภาพ แล้วลงโฆษณาเพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นๆ เดินทางมาชุมนุมในบริเวณศาล เพื่อขัดขวางรบกวนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล รวมถึงถ่ายทอดสดภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุม (live) ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ โดยเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลได้เข้าระงับเหตุ โดยการแจ้งข้อกำหนดศาลให้ทราบและห้ามปราม แต่ผู้ถูกกล่าวหายังดำเนินการดังกล่าวต่อไป

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา อันเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงมีการดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ดูเหตุการณ์วันไต่สวนฝากขังนายพริษฐ์ในรายงาน  24 ชั่วโมง จับกุม-ค้นบ้าน-ฝากขัง เพนกวิน จากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

 

ภาพกิจกรรมของประชาชนที่มาให้กำลังใจอานนท์-ภาณุพงศ์ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63 นั้น ระหว่างที่อานนท์และภานุพงศ์ถูกนำตัวมายังศาลอาญา เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งแผงรั้วเหล็กกั้นบันไดหน้าทางขึ้นศาล โดยไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปภายในพื้นที่อาคารศาล ทำให้มีประชาชนราว 100 คนที่เดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสองคน เข้าไปนั่งรออยู่บริเวณหน้ารั้วเหล็กนั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลคอยตรึงกำลังไว้ไม่ต่ำกว่า 30 นาย และยังมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพและวิดีโอเอาไว้ รวมทั้งมีการนำป้ายข้อกำหนดศาลเรื่องการละเมิดอำนาจศาลมาตั้งบริเวณบันไดศาลอีกด้วย

นอกจากนั้นในวันดังกล่าว นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าว ในเรื่องการมีผู้มาชุมนุมหน้าศาลอาญา โดยเน้นว่าน่าจะใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ “โดยส่วนตัวมองว่าบ้านเมืองขณะนี้ยุ่งกันอยู่เเล้ว บางเรื่องต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ ไม่อยากไปพูดว่าคนไหนจะต้องผิด เราต้องทำอย่างไรให้อยู่กันได้ ไม่อยากตอบว่าผิดหรือไม่ เพราะถ้าตอบว่าผิด ในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คดีก็จะต้องเข้ามาที่ศาลอาญา เเละเมื่อตนไปให้ความเห็นก่อนหน้าก็จะต้องถูกโจมตี บางเรื่องเราจึงไม่ควรพูดเรื่องผิดถูก แต่ใช้หลักรัฐศาสตร์บางทีก็ดีกว่าหลักนิติศาสตร์ อย่างนี้เรื่องผู้ชุมนุมวันนี้ยืนยันว่าจะมองแบบหลักรัฐศาสตร์ จะดำเนินคดีหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่ขอความร่วมมือทุกฝ่าย เพราะผู้ที่มาศาลก็จะต้องมีข้อกำหนด ถ้าไปฝ่าฝืนก็มีความผิดไม่อยากให้ทำ” (ดูรายงานข่าวในมติชนออนไลน์)

 

คดีละเมิดอำนาจศาล ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทตุลาการ

ขณะเดียวกัน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงสิ้นสุดยุค คสช. ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีจำนวนประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล จากการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ศาลและกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อย 18 ราย

กรณีสำคัญ เช่น กรณีนักศึกษา/นักกิจกรรม 7 คน ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล จากกรณีจัดกิจกรรมบนฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อสะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม และให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระหว่างถูกดำเนินคดีมาตรา 112

หรือล่าสุดเมื่อปี 2562 กรณีของสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลอิสระ พร้อมกับบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่ได้เขียนและเผยแพร่บทความวิพากย์วิจารณ์ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ

 

 

ข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะเรื่องการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ถูกวิพากษ์ถึงการไม่ได้มีองค์ประกอบที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย เปิดช่องให้ตีความอย่างกว้างขวางว่าการกระทำในขอบเขตใดจึงถือว่าเป็นการละเมิดต่ออำนาจของศาล บางกรณีก็อาจนำไปสู่การใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก และการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อตรวจสอบการทำงานของศาลด้วย

งานวิจัยทางกฎหมายที่ศึกษาการใช้ข้อหานี้ ยังชี้ว่านอกเหนือจากปัญหาเรื่องของความชัดเจน กฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลยังมีความล้าสมัยเพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาตามบริบทสังคมตั้งแต่ปี 2477 ซึ่งยังไม่มีองค์กรสหประชาชาติ ไม่มีแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลระหว่างรัฐและสิทธิเสรีภาพ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นไปเพื่อให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ในการสร้างความสงบเรียบร้อย สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว เป็นการตัดสินแบบพิเศษที่ลิดรอนสิทธิในการที่จะมีทนายความและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นในคดีอาญา

สำหรับความผิดในข้อหาละเมิดอำนาจศาลนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 กำหนดโทษจำคุกไว้ได้ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

 

อ่านเรื่องข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

ศาลฎีกาไม่รับฎีกา 7 นศ.ละเมิดอำนาจศาลขอนแก่น เห็นพ้องคำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

 

X