5 นักกิจกรรมไม่ยอมรับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม หลังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ

10 ก.ย. 2563 เช้าวันนี้ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ปิยดา มาเทียน, ธนภณ เดิมทำรัมย์, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษา/นักกิจกรรมรวม 6 คน ซึ่งถูก สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่งเดินขบวนจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มุ่งหน้าสู่ สภ. เมืองขอนแก่น เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ขบวนดังกล่าวนอกจากมีการถือป้าย 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก และ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังมีการปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนชาวขอนแก่นเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้ปราศรัยระบุว่า การเดินขบวนวันนี้มีการแจ้งการชุมนุมผ่านหน้าเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ซึ่งหากมีคนเรียกร้องให้ย้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ได้ กลุ่มฯ ก็ขอแจ้งการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน  

ขบวนรณรงค์หยุดหน้า ร.ร. ขอนแก่นวิทยายน เชิญชวนให้นักเรียนในโรงเรียนชู 3 นิ้ว โดยมีนักเรียนร่วมปราศรัยถึงกรณีการคุกคามนักเรียนด้วยการออกหมายเรียกที่จังหวัดราชบุรี จากนั้น ขบวนเคลื่อนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หยุดรณรงค์หน้าโรงเรียนกัลยาณวัตร ก่อนถึง สภ.เมืองขอนแก่น ในเวลาประมาณ 10.00 น.

ด้านหน้าทางเข้า สภ.เมืองขอนแก่น ตำรวจวางแผงเหล็กกั้นตลอดแนว พร้อมวางกำลังตำรวจในเครื่องแบบทั้งชายและหญิงราว 30 นาย ผู้ได้รับหมายเรียกทั้งหกขึ้นกล่าวปราศรัยทีละคน โดย “หมอลำแบงค์” อดีตผู้ต้องขังคดี 112 จากการแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ขึ้นปราศรัยทั้งน้ำตา เนื่องจากการถูกดำเนินคดีครั้งนี้นอกจากจะทำให้เขายากลำบากมากขึ้นในการประกอบอาชีพหมอลำแล้ว เขายังมีโอกาสถูกจำคุกอีกครั้ง เพราะหากศาลพิพากษาว่า เขากระทำผิด ก็ต้องลงโทษจำคุก ไม่สามารถรอลงอาญาได้ เนื่องจากเขาเคยถูกพิพากษาจำคุกมาแล้ว

นอกจากนี้ ปิยดาได้ขึ้นปราศรัยเปิดเผยว่า ตำรวจออกหมายเรียกผิดคน เนื่องจากในวันนั้น เธออยู่บ้านที่ จ.ชัยภูมิ ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด ตำรวจอาจเข้าใจผิด เพราะเธอเคยเป็นพิธีกรในการชุมนุม “มข.พอกันที” ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หลังการปราศรัย นักศึกษา/นักกิจกรรมทั้ง 6 คน ร่วมกันเผาหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดให้ผู้เข้ารับทราบข้อหามีทนายความ 1 คน ผู้ไว้ใจ 1 คน เข้าร่วมเท่านั้น ส่วนคนอื่นให้รอหน้าสถานีตำรวจ

พนักงานสอบสวนได้จัดให้นักกิจกรรม 5 คน เข้ารับทราบข้อหาในห้องประชุม โดยจัดโต๊ะไว้แยกกัน ส่วนปิยดาถูกแยกไปพบพนักงานสอบสวนหญิงในอีกห้อง

กรณีของปิยดา พนักงานสอบสวนชี้แจงว่า หลังออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นคุณว่า ปิยดาไม่ได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ในวันนี้จึงไม่มีการแจ้งข้อหา แต่จะขอสอบปากคำในฐานะพยาน ด้านทนายความได้สอบถามกลับว่า กระบวนการในการออกหมายเรียกเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้อนุมัติ ทำไมจึงเกิดความผิดพลาด พ.ต.อ.ธน พรรณนานนท์ ผกก.(สอบสวน)ฯ ปรก.สภ.เมืองขอนแก่น หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งอยู่ร่วมในห้องได้ชี้แจงว่า ตนเป็นผู้ออกหมายเรียก ซึ่งในตอนนั้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้รับ แต่เมื่อวานนี้เพิ่งได้พบข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไป

ทนายความยังตั้งคำถามอีกว่า ปกติถ้าไม่แน่ใจในพยานหลักฐานก็ควรออกเป็นหมายเรียกพยาน การออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเช่นกรณีนี้ ทำให้เกิดความเสียหาย ครอบครัวเกิดความเครียด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเช่นนี้ ทางตำรวจจะทำอย่างไร  พ.ต.อ.ธน กล่าวเพียงว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบ ตนกราบขอโทษที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ปิยดาปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยาน เนื่องจากตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ขอให้พนักงานสอบสวนทำบันทึกว่า หมายเรียกดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงได้ลงเป็นรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้

ส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 5 คน พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ผู้ต้องหากับพวกรวม 6 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “อีสานบ่ย่านเด้อ” โดยไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสแพร่เชื้อโรคโควิด-19 และผู้ต้องหากับพวกดังกล่าว ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

ผู้ต้องหา 4 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนวชิรวิทย์ไม่ให้การในชั้นสอบสวน ทั้งหมดไม่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะจตุภัทร์ให้การเพิ่มเติมว่า “ไม่ประสงค์ร่วมกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ เพราะรัฐใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”  

หลังพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัว โดยนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบความเห็นทางคดี และส่งตัวไปยังสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น เพื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนในวันที่ 25 ก.ย. 2563 เวลา 10.00 น.

เกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีและเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เป็นนักศึกษารวม 4 ราย ศิลปินหมอลำ 1 ราย โดยในการชุมนุมครั้งดังกล่าว ไผ่, เพนกวิน และวชิรวิทย์ เป็นผู้รับเชิญขึ้นปราศรัยบนเวที โดยธนภณรับหน้าที่เป็นพิธีกร และ “แบงค์” ขึ้นแสดงหมอลำ แต่ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม   

  1. จตุภัทร์  บุญภัทรรักษา นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (กลุ่ม Unme) 
  2. ธนภณ  เดิมทำรัมย์ ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (รองประธานสภานักศึกษาคนที่ 2) 
  3. วชิรวิทย์  เทศศรีเมือง นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มขอนแก่นพอกันที) 
  4. พริษฐ์  ชิวารักษ์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สนท.) 
  5. ปติวัฒน์  สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำ/นักกิจกรรม

แม้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงจะให้เหตุผลในขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และจะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รัฐนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 73 คน ใน 20 คดี ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาอย่างน้อย 31 คน

>> เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม

 

X