น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ขอความเป็นธรรมอัยการไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

16 ก.ย. 2563 เวลา 10.30 น. ปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ จากการเป็นผู้ไลฟ์สดและเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม “อุดรสิบ่ทน” ที่สนามทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย

พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง จึงได้นำตัวปรเมษฐ์พร้อมสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี พร้อมกันนี้ ปรเมษฐ์ได้ยื่นหนังสือขอเป็นธรรมต่ออัยการ โดยขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้อง ทั้งนี้ อัยการรับหนังสือไว้และนัดปรเมษฐ์ให้มาฟังผลการพิจารณาของอัยการว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ย. 2563

เนื้อหาโดยสรุปของหนังสือขอเป็นธรรมที่ปรเมษฐ์ยื่นต่ออัยการ ระบุว่า คดีนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง กล่าวคือ เจตนารมณ์ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อควบคุมโรคระบาด โควิด-19  ซึ่งในวันเกิดเหตุคดีนี้นั้น จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโรคดังกล่าวที่เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนเป็นศูนย์ สถิติผู้ติดเชื้อที่ปรากฏเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ไม่ได้มีการระบาดในหมู่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทุกแขนง ย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ห้ามการชุมนุม การดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาในคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เพราะหลังจากการชุมนุมในวันที่ 24 ก.ค. 2563  ก็ไม่ปรากฏมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือมีการแพร่ระบาดต่อประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแต่อย่างใด ทั้งการชุมนุมในกิจกรรม ”อุดรสิบ่ทน” ก็เป็นไปโดยสงบ สันติ และชอบด้วยกฎหมาย ผู้ต้องหาเองก็เป็นเพียงผู้ไปชุมนุมและเผยแพร่ภาพโดยการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการการชุมนุมแต่อย่างใด  จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินคดีต่อผู้ต้องหา

การชุมนุม #อุดรสิบ่ทน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ปรเมษฐ์ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน มีใจความโดยสรุปดังนี้

1.พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุม “อุดรสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 นั้น เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นไปโดยชอบด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2548, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

2.การออกประกาศห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นการตรากฎหมายที่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่มุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเช่นนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายผิดพลาดอย่างร้ายแรง ส่งผลให้การแจ้งความดำเนินคดีของผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นไปโดยมีเจตนาหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องกำบังตนจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อหวังผลในการปิดปาก ซึ่งเรียกการปิดปากชนิดนี้ว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) ทำให้ผู้ต้องหาขาดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่าง ๆ อีก อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาโดยไม่สุจริต

ในส่วนผู้ต้องหาคดีไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.เสาวลักษณ์ สิทธินนท์ จากการไปชูป้ายให้กำลังใจทนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2563 โดยพนักงานสอบสวนนัดหมายมารายงานตัว และส่งอัยการพร้อมกับปรเมษฐ์ในวันนี้นั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 น.ส.เสาวลักษณ์ สิทธินนท์ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ แจ้งความประสงค์ว่า จะขอกลับคำให้การ โดยจะให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท และบันทึกลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี อันเป็นผลให้คดีอาญาสิ้นสุดลง

 

X