ปล่อยตัว “ศศิพิมล” ผู้ต้องขังคดี ม.112 เชียงใหม่ หลังถูกคุมขังกว่า 5 ปี 7 เดือน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากญาติของศศิพิมล (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดีตพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ศศิพิมลได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่แล้ว ภายหลังจากได้ลดวันต้องโทษจำคุก และมีการออก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ โดยเธอถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 5 ปี 7 เดือน

ญาติของศศิพิมลเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ทางเรือนจำยังไม่ได้เปิดให้เยี่ยมญาติ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เธอได้เขียนจดหมายถึงครอบครัวว่าตนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 ต.ค. 63 เนื่องจากได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ทำให้จะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 (การลดวันต้องโทษจำคุก คือการได้รับการหักวันต้องโทษจำคุกสะสมไปตามระยะเวลาที่ถูกคุมขังไปแล้ว ทำให้ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นจากกำหนดพ้นโทษ โดยไม่ได้เป็นสิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่ทางราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี)

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 63 ซึ่งศศิพิมลเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการลดโทษตาม พรฎ. ฉบับนี้ ทำให้เธอจะพ้นกำหนดโทษในทันที โดยทางเรือนจำแจ้งญาติว่าจะมีการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ให้กับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษก่อนได้รับการปล่อยตัวเป็นระยะเวลาประมาณ 14 วัน

หลังจากนั้น ครอบครัวได้รับแจ้งจากทัณฑสถานหญิงว่าจะมีการปล่อยตัวศศิพิมลวันที่ 15 ก.ย. และได้เดินทางไปรับเธอกลับบ้านในที่สุด

สำหรับกรณีของศศิพิมล เธอถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 7 ข้อความในเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้ใช้ชื่อของเธอเอง และตัวเธอยืนยันว่ามิได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่ได้ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ในภาวะแวดล้อมของความผิดมาตรานี้หลังการรัฐประหาร 2557 ศศิพิมลถูกควบคุมตัวและคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนถูกศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาจำคุก 56 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 28 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558

ระหว่างถูกคุมขังศศิพิมลเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และผ่านการได้รับการลดหย่อนโทษจากการมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญของบ้านเมืองรวม 4 ครั้ง จนได้รับการปล่อยตัว รวมระยะเวลาการถูกคุมขังในเรือนจำของศศิพิมลทั้งสิ้น 5 ปี 7 เดือน 2 วัน

ทั้งนี้เมื่อช่วงปลายปี 2562 เธอไม่ได้รับอนุญาตให้พักการลงโทษ คือได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด โดยเหตุว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดต่อสถาบันกษัตริย์

ปัจจุบันศศิพิมล อายุ 35 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคน วัย 15 ปี และ 12 ปี ตามลำดับ ระหว่างเธอถูกคุมขัง ลูกทั้งสองคนอยู่ในการดูแลของผู้เป็นยาย เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูล กรณีของศศิพิมล นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษด้วยอัตราโทษที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

อ่านเรื่องราวในคดีนี้

ย้อนดูคดีและชีวิต “ศศิพิมล” หลังศาลทหารพิพากษาจำคุก 28 ปี

“ได้แต่ภาวนาให้มันผ่านพ้นไปเร็ว”: ครอบครัวของ ‘ศศิพิมล’ ผู้ต้องขัง ม.112

คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “ศศิพิมล-เธียรสุธรรม” สองผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

ภาพรวมคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. และฐานข้อมูลคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทาง กม.

 

X