ศาลยกคำร้องตำรวจขอฝากขัง “เพนกวิน” คดีเยาวชนปลดแอก เหตุผลไม่พอให้ฝากขังต่อ

18 ก.ย. 2563 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เดินทางไปยื่นคำร้องขอฝากขังนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” เป็นครั้งที่ 4 ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังตั้งแต่ในการขอฝากขังผัดแรก แต่อนุญาตให้พริษฐ์ได้ประกันตัว

ขณะเดียวกันพริษฐ์ก็ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 ของพนักงานสอบสวน เนื้อหาในคำร้องระบุดังนี้

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีในสำนวนการสอบสวนเดียวกันกับคดีที่มีนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นผู้ต้องหา ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอานนท์และภาณุพงศ์ต่อศาลอาญา โดยระบุเหตุผลว่า “เนื่องจากพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ทำการสอบสวนมาพอสมควรแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาอีกต่อไป” และศาลได้มีคำสั่งว่า พนักงานสอบสวนยืนยันให้การตามคำร้องนี้ ก่อนจะออกหมายปล่อยทั้งสอง

ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ต้องหาจึงเห็นว่า การสอบสวนในคดีได้เสร็จสิ้นแล้วและไม่มีความจำเป็นต้องขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนอีกต่อไป ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน การฝากขังย่อมเป็นการควบคุมตัวที่เกินจำเป็น นอกจากไม่เกิดประโยชน์ต่อการสอบสวนแล้ว ยังสร้างภาระเกินจำเป็นกับผู้ต้องหา ส่งผลกระทบต่อการเรียน ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ต้องหา 

 

(แฟ้มภาพวันที่ 15 ส.ค. 63)

 

ในเวลาราว 13.30 น. ศาลเริ่มไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยมีพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง รวม 2 ปาก

พยานปากแรกคือ ร้อยตำรวจเอกโยธี เสริมสุขต่อ จาก สน.สำราญราษฎร์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเบิกความว่า สาเหตุที่ต้องยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากกระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นขอให้มีการสอบคำให้การ ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังเกรงว่า หากปล่อยตัวไปจะเป็นการยาก ถ้าจะนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลต่อไป

ในการตอบคำถามค้านของทนายผู้ต้องหา ร.ต.อ.โยธี ยอมรับว่า สำนวนการสอบสวนคดีนี้เป็นสำนวนเดียวกันกับคดีของอานนท์และภาณุพงศ์ ใช้พยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนชุดเดียวกัน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ร้องขอศาลให้ออกหมายปล่อยผู้ต้องหาทั้งสอง เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 แล้ว

พนักงานสอบสวนยังยอมรับอีกว่า ในการสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญนั้น ไม่จำเป็นที่ผู้ต้องหาต้องเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย อีกทั้งในการฝากขังครั้งที่ 1 – 3 ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแต่อย่างใด โดยผู้ต้องหาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับคำให้การเป็นหนังสือของพริษฐ์แต่อย่างใด นอกจากนั้นการอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อสอบปากคำในคดีเป็นการอ้างโดยผู้ต้องหารายอื่นในคดี ไม่ใช่นายพริษฐ์

ในส่วนการจับกุม พนักงานสอบสวนตอบทนายผู้ต้องหาว่า การออกหมายจับอ้างอิงที่อยู่ตามบัตรประชาชน แต่พนักงานสอบสวนไม่แน่ใจว่าการจับกุมเกิดขึ้นที่ใด และถึงแม้ผู้ต้องหาจะมีที่อยู่อาศัยชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าจะตามตัวได้หรือไม่

พนักงานสอบสวนที่เข้าเบิกความเป็นพยานปากที่ 2 คือ พันตำรวจโทหญิงจิตติมา ทองดี รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่า สาเหตุที่ต้องยื่นคำร้องฝากขังในครั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากผู้ต้องหา 6 ราย ในคดีที่เพิ่งยื่นคำให้การเป็นหนังสือเข้ามา มีการอ้างพยานบุคคลเพิ่ม อีกทั้งมีการอ้างคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2469/2562 ของศาลนี้ (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้งในการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือ RDN50) ซึ่งมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว โดยอยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวนขอคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษา แต่ยังไม่ได้รับมา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ฝากขังอีก 1 ผัด เป็นเวลา 12 วัน

ทนายผู้ต้องหาได้ถามค้านในประเด็นการสอบคำให้การพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพริษฐ์ไม่ทราบว่ามีการอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้อ้างเอง พนักงานสอบสวนตอบว่า เนื่องจากเป็นคดีเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการสอบพยานร่วมกัน

ในประเด็นเรื่องการคัดถ่ายเอกสารคำพิพากษา พยานปากที่ 2 ยอมรับว่า เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา อีกทั้งในการฝากขังครั้งที่ 1 – 3 ก็ไม่ปรากฎว่าผู้ต้องหาได้เข้าสร้างความยุ่งเหยิงกับหลักฐานแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนให้เหตุผลเพิ่มเติมในเรื่องการขอฝากขังว่า เนื่องจากตัวผู้ต้องหาเป็นแกนนำในการชุมนุม จึงเกรงว่าจะยากกับการตามตัวมาส่งสำนวนฟ้อง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งนี้

หลังการไต่สวนคำร้องฝากขัง ผู้พิพากษามีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เนื่องจากพยานปากผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องผู้ต้องหารายนี้ การร้องให้มีการสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นของผู้ต้องหารายอื่น การสอบปากคำสามารถทำได้โดยที่พริษฐ์ไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง เหตุผลของผู้ร้อง ประกอบกับคำให้การของพนักงานสอบสวนทั้งสองไม่มีน้ำหนักพอเป็นเหตุให้ฝากขัง ให้ยกคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 87


ความเป็นมาของคดีนี้

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 16.20 น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 22 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับในคดีชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ภายหลังถูกถูกจับกุม พริษฐ์ถูกนำตัวไป สน.สำราญราษฎร์ พ.ต.ท.ภาสกร สมุทรคีรี รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับพริษฐ์ ทั้งหมด 10 ข้อกล่าวหา โดย 8 ข้อกล่าวหาเป็นข้อหาเดียวกันกับอานนท์และภานุพงศ์ รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยเขาปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น

พริษฐ์ถูกนำตัวไปฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2563 และศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง แต่ให้ประกันตัว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ โดยใช้ตำแหน่งของผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักประกัน โดยในวันเดียวกันพริษฐ์ยังถูกเจ้าหน้าที่นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านพัก แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

การฝากขังในครั้งนี้เป็นการฝากขังตามอำนาจควบคุมตัวของตำรวจเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี  ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ระบุว่าความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน 

 

X