ตร.กดดันงานรำลึก 6 ตุลา ที่ชัยนาท อ้างไม่ได้แจ้งชุมนุม จนต้องยุติกิจกรรมก่อนกำหนด

7 ต.ค. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม “รำลึก 6 ตุลา” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 6 ต.ค. 63 ที่เขื่อนเรียงหินชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท ว่ากิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากดดัน โดยนำประกาศให้ยุติการชุมนุมมาแจ้ง พร้อมอ้างว่าผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ากดดันและจับตากิจกรรม ทำให้เยาวชนที่เตรียมขึ้นกล่าวปราศรัยไม่กล้าขึ้น และกิจกรรมต้องยุติลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรายนี้เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเพราะนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดชัยนาทกลุ่มหนึ่งมีความสนใจในเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งพบว่าแทบไม่มีเนื้อหาอยู่ในแบบเรียน และไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงอยากจัดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน รำลึกเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนครั้งนี้ขึ้น รวมทั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองแรกที่จัดขึ้นในจังหวัดชัยนาท หลังการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

เดิมกิจกรรมจะเริ่มขึ้นเวลาราว 18.00 น. มีการกล่าวปราศรัยและให้ความรู้ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีเยาวชนในจังหวัดชัยนาทหลายคนขึ้นกล่าวถึงปัญหาของการไม่มีการเรียนการสอนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ในห้องเรียน มีกิจกรรมดนตรี และจุดเทียนรำลึก โดยผู้จัดได้เตรียมภาพเหตุการณ์และดอกไม้จันทน์สำหรับให้ผู้เข้าร่วมร่วมวางรำลึกด้วย

 

(ภาพกิจกรรมจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

 

ตั้งแต่ในเวลาประมาณ 17.00 น. ผู้จัดได้มาเตรียมงาน ก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมาก ประมาณ 30 นาย ทราบว่ามาจากทั้งตำรวจฝ่ายสืบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัด และมีครูฝ่ายปกครองของโรงเรียนในจังหวัด 2-3 คน เข้ามายืนรอสังเกตการณ์กิจกรรมด้วย

จนเวลาประมาณ 17.30 น. เมื่อผู้จัดเริ่มพูดแนะนำกิจกรรมและวัตถุประสงค์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสองนาย นายหนึ่งทราบว่าคือ พ.ต.ท.ชาติชาย ภักดิ์บุตร รองผู้กำกับการป้องกันปรามปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองชัยนาท เข้ามาพบผู้จัด โดยมีการนำประกาศให้เลิกการชุมนุมสาธารณะที่ออกโดย พ.ต.อ.ปฏิกรณ์ หาญหัตถกิจ ผู้กำกับสภ.เมืองชัยนาท ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มาแสดงให้ดู

ประกาศดังกล่าวระบุว่าผู้จัดกิจกรรมนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น. โดยที่เดิมมีการพิมพ์ประกาศว่าให้เลิกในเวลา 19.00 น. แต่ได้มีการใช้ปากกาขีดฆ่าออก แล้วแก้ไขเวลาใหม่ด้วย

 

(ภาพจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

 

แม้ผู้จัดกิจกรรมจะระบุว่าไม่เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุม เป็นการจัดรำลึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ตำรวจก็ยืนยันว่าเป็นการชุมนุมที่ต้องยกเลิก เพราะไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุม จากนั้นตำรวจในเครื่องแบบ 2 นายดังกล่าวก็เดินออกไป แต่ก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาพูดกับผู้จัดในลักษณะกดดันว่าจะเลิกหรือยัง เก็บข้าวของได้หรือยังอีกด้วย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย นำกล้องวิดีโอมาตั้งถ่ายกิจกรรมไว้โดยตลอดด้วย ทำให้เยาวชนหลายคนที่เดิมจะขึ้นพูดรำลึก 6 ตุลา ไม่กล้าขึ้นพูดอีกด้วย

จนเวลา 17.50 น. ทางผู้จัดจึงได้ตัดสินใจเริ่มการเล่นดนตรี โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ราว 50 คน ก่อนจะเคารพธงชาติ พร้อมชูสามนิ้วร่วมกันในเวลา 18.00 น.

แต่เนื่องจากผู้เตรียมขึ้นกล่าวปราศรัยไม่มีใครกล้าขึ้นพูดอีก ทำให้ผู้จัดได้กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เล็กน้อย และมีกิจกรรมดนตรีอีกเพียงสั้นๆ ก่อนจะยุติกิจกรรมไปในเวลาประมาณ 18.30 น.

 

X