สันติบาลไปหาครอบครัว “ติวเตอร์สอนภาษา” ขอให้เลิกโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานกรณีการคุกคามจากการโพสต์ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ต.ค. 63) เจ้าหน้าที่สันติบาลได้ไปที่บ้านของนายชัยวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อขอให้เขาลบและหยุดแชร์โพสต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แต่เนื่องจากเขามาทำงานเป็นติวเตอร์สอนภาษาที่จังหวัดสระบุรี แม่ของเขาจึงเป็นผู้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่แทน อีก 2 วันถัดมา (6 ต.ค. 63) เวลาประมาณ 23.30 น.​ ชัยวัฒน์ยังพบรถตำรวจจอดอยู่บริเวณบ้านที่ปัจจุบันตนพักอาศัยอยู่และวนรอบบริเวณบ้านของเขาประมาณ 3 รอบ โดยไม่ทราบสาเหตุ

ชัยวัฒน์ทวนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ให้ฟังว่า ช่วงประมาณ 4-5 โมงเย็น เจ้าหน้าที่สันติบาล 1 นาย ไม่ทราบชื่อและยศ พร้อมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเข้ามาหาที่บ้านของเขาในจังหวัดขอนแก่น อ้างว่าชัยวัฒน์ได้โพสต์หรือแชร์ข้อความที่มีเนื้อหา “จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์” พร้อมกับพิมพ์ภาพตัวอย่างของโพสต์ที่เป็นประเด็น แต่เนื่องจากชัยวัฒน์นั้นทำงานอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง แม่ของเขาจึงเป็นคนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แทน 

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าขอให้แม่ติดต่อกับชัยวัฒน์ แล้วขอให้เขาลบโพสต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ทิ้ง อ้างว่าเป็นการขอความร่วมมือ มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีต่อไป ทำให้แม่ของเขาตกใจมาก จนไม่ทันสังเกตว่าโพสต์ที่เป็นประเด็นนั้นมีอะไรบ้าง 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่นั้นยังทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าชัยวัฒน์ทำงานประกอบอาชีพอิสระอยู่ที่จังหวัดสระบุรี แต่ยังใช้มาตรการมาหาที่บ้านของพ่อแม่ แทนที่จะติดต่อกับเขาโดยตรง หรือมาพบเขาเอง โดยก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่จะมาพบแม่นั้น ยังทราบว่าสันติบาลได้เข้าไปประสานกับผู้ใหญ่บ้านมาก่อน แล้วมอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับชัยวัฒน์ ให้พาเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน 

เมื่อแม่ของชัยวัฒน์พบเจ้าหน้าที่แล้วจึงโทรศัพท์มาขอให้เขาลบโพสต์ในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยชัยวัฒน์เล่าว่าปกติแล้วเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทยในเฟซบุ๊กและตั้งค่าเป็นสาธารณะตลอด เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุและผลตามความคิดของเขา และไม่เคยวิจารณ์ด้วยคำหยาบคายแม้แต่ครั้งเดียว และแม่ซึ่งเป็นเพื่อนกับเขาในเฟซบุ๊กก็ไม่คิดว่าโพสต์เหล่านี้มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเจ้าหน้าที่ต้องมาหาที่บ้าน 

สำหรับโพสต์ที่ชัยวัฒน์คาดว่าน่าจะเข้าข่ายที่ทำให้เจ้าหน้าที่มาติดตาม ได้แก่ โพสต์ว่าตนเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา, โพสต์เกี่ยวกับ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และไลฟ์สดการชุมนุมที่จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ขณะที่เขาได้ไล่ลบโพสต์ในเฟซบุ๊ก เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า การแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น จะเป็นความผิดได้อย่างไร แต่ก็ต้องลบเพื่อความสบายใจของครอบครัว 

ชัยวัฒน์เล่าความรู้สึกว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ไปหาครอบครัว ทำให้คุณแม่นั้นกังวลและเป็นห่วงอย่างมาก และก่อนที่ตนจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรต้องคิดถึงครอบครัวอยู่เสมอ ทำให้รู้สึกว่าขอบเขตการแสดงความคิดเห็นนั้นถูกจำกัดลง

“พอเกิดเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น พ่อแม่และญาติคนอื่นๆ ก็ใช้โอกาสนี้มาขอให้เราเพลาๆ การแสดงออกแบบนี้ เพราะเขาก็อึดอัด คับข้องใจมานานแล้วที่เราแสดงออกแบบนี้หรือคิดเห็นแบบนี้ เขาไม่ได้บังคับนะ แต่เป็นการขอร้องมากกว่า ซึ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกเกรงใจ ถ้าเจ้าหน้าที่มาหาเราโดยตรง เราอาจจะไม่รู้สึกเกรงใจขนาดนี้ แต่พอเป็นครอบครัวขอมา ก็ทำเราไปไม่เป็นเหมือนกัน เพราะต้องแคร์ความรู้สึกของครอบครัวเรา” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาได้แชร์ประสบการณ์เจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน และได้อ่านประสบการณ์จากคนอื่นที่ถูกคุกคามในลักษณะคล้ายๆ กัน ทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และเลือกที่จะยืนหยัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านการแชร์เรื่องราวที่ประสบพบเจอให้ผู้อื่นทราบด้วย

“เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่เจอ และวิธีการนี้ก็เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้หลายครั้ง เราถามตัวเองอยู่ว่าแล้วเราจะหยุดพูดไหม ถ้าเรายิ่งไม่พูดไม่แสดงออก เขาคงคิดว่าเรากลัว ซึ่งเราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น”  

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เวลา 23.30 น.​ ชัยวัฒน์พบรถกระบะของตำรวจจอดอยู่หน้าบ้านในจังหวัดสระบุรี ราว 10 วินาที และขับออกไป ครู่ต่อมารถตำรวจขับวนบริเวณหน้าบ้านของเขาอีกถึง 2 ครั้ง พร้อมเปิดไฟกระพริบสีแดง โดยไม่ทราบว่าสาเหตุที่รถนั้นเข้ามาที่บริเวณบ้านของชัยวัฒน์คืออะไร และไม่ทราบว่ารถตำรวจคันที่เข้ามาจอดกับคันทึ่ขับวนมาอีก 2 รอบนั้น เป็นคันเดียวกันหรือไม่ 

หากนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. ถึงวันที่ 9 ต.ค 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งข้อมูลกรณีมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านของผู้โพสต์หรือแชร์ข้อความที่เกี่ยวข้องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว 12 กรณี โดยเจ้าหน้าที่มักเข้าไปหาที่บ้านพร้อมกับภาพโพสต์ที่กล่าวหาว่าเข้าข่าย “จาบจ้วง” สถาบันฯ โดยมีแนวโน้มที่การคุกคามในลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการนอกกฎหมายที่ใช้กดดันไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (อ่านวิธีรับมือเมื่อเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน: “ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง”)

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

แชร์โพสต์ FB สมศักดิ์ เจียม-ปวิน-Andrew นอกเครื่องแบบคุกคามที่บ้าน สั่งให้ลบโพสต์ บังคับเซ็น mou อ้าง “หมิ่นสถาบัน”

ตร.ติดตามนร.-น.ศ. 5 ราย แชร์โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์ถึงบ้าน บังคับเซ็นข้อตกลงไม่ทำอีก

จนท.จ.เลย ติดตามถึงบ้าน นร.ม.4 ให้ลบโพสต์ คาดเหตุแชร์ลิงค์หนังสือคำปราศรัยทนายอานนท์

X