ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ

คอลัมน์ นิติ/สังคม

ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เดือนตุลาคม ปี 2516 คนหนุ่มสาวหลายคนเดินทางไปชุมนุมเพื่อขับไล่เผด็จการคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ หลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย บางคนกลับไปด้วยร่างกายพิการ บางคนกลับไปด้วยความรู้สึกใหม่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

14 ตุลาฯ กลายเป็นบทตอนของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่บ่งชี้ว่าสังคมไทยเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยุคแห่งประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน ผู้เสียชีวิตได้รับการยกย่องในฐานะวีรชน และเป็น “ผู้สละชีวิตเพื่อชาติด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เป็นตัวอย่างอันเลิศแก่ผู้ที่อยู่ข้างหลัง”[1] ส่วนเรื่องราวการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนตั้งแต่วันที่ 5-16 ตุลาคม 2516 ได้ถูกรัฐไทยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้เป็นเหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย[2] ว่าครั้งหนึ่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองเคยได้มาด้วยเลือดเนื้อของวีรชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย[3]

14 ตุลาฯ ได้รับขนานนามว่าเป็น “วันมหาปิติ”[4] แต่ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่า ในวันที่ “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ”[5] ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อความรุนแรงต่อประชาชน ประกอบด้วย จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เพียงถูกขับไล่ออกจากประเทศเท่านั้น ระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายไม่สามารถนำตัวบุคคลทั้งสามมารับโทษได้ มิหนำซ้ำ ยังมีท่าทีเพิกเฉยต่อการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น

ด้วยการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว บทความนี้จึงมุ่งศึกษาปฏิบัติการทางกฎหมายซึ่งนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำและจัดการกับความรุนแรง เพื่อหาคำตอบว่าด้วยปฏิบัติการเช่นใดทำให้ 14 ตุลาฯ เป็นชัยชนะอันล้มเหลวในการสถาปนาหลักนิติรัฐหรือการปกครองแบบกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคม

.

การ (ไม่) แสวงหาความยุติธรรม ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

หลัง 14 ตุลาฯ รัฐบาลที่นำโดยสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้จัดให้มีการค้นหาความจริงและสอบสวนการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ผ่านการทำรายงานของกระทรวงกลาโหม และออกเป็นคำแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การสอบสวนการสั่งการของจอมพลถนอม และจอมพล ประภาส จารุเสถียร และการปฏิบัติการของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร” ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2516[6]

บรรทัดสุดท้ายของแถลงการณ์ได้ให้ความหวังต่อประชาชนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐไทยจะดำเนินคดีลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงในชั้นศาลได้ ดังที่ระบุว่า “รัฐบาลจะได้มอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” เนื่องจากบุคคลทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และ “แฝงด้วยโทสะจริตมุ่งหมายทำลายล้างนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน” ด้วยการสั่งการให้มีการใช้กำลังทางอาวุธปราบปรามประชาชน[7]

ทว่าถัดจากวันออกแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งสัปดาห์ ความหวังที่วีรชนและผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจะได้รับความยุติธรรมต้องสิ้นสุดลง เมื่อรัฐไทยได้ตรา “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516” แม้จะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนและนักศึกษา แต่บทบัญญัติ หลักการและเหตุผล รวมทั้งถ้อยคำของผู้มีบทบาทพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามขยายขอบเขตให้มีการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปยังเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงด้วย

.

การลดทอนให้ความรุนแรงใน 14 ตุลาฯ “เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกัน

การพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ ตลอดจนการสอบสวนค้นหาความจริง มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง และญาติพี่น้องของวีรชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเฉพาะสมาชิกสภานิติบัญญัติเพียงไม่กี่ร้อยคนที่ได้รับตำแหน่งโดยการแต่งตั้งสมัยจอมพลถนอมรัฐประหารตนเอง ไม่ได้ยึดโยงใดๆ กับประชาชน

การลดทอนสาเหตุการใช้ความรุนแรงใน 14 ตุลาฯ ให้เป็นเพียงความ “ไม่เข้าใจกัน” ระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุบัติเหตุ ไม่มีใครประสงค์ให้เกิดขึ้น จึงไม่ควรมีใครสมควรต้องรับโทษ เป็นประเด็นหนึ่งที่พบระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ดังจะสังเกตได้จากการประชุมช่วงหนึ่งที่ ประหยัด เอี่ยมศิลา หนึ่งในสมาชิกสภาฯ ขอคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่ามีเหตุผลอะไรที่ชี้ให้เห็นถึงความ เข้าใจผิด ระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษากับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยตั้งคำถามว่า “มีอะไรส่อว่าเข้าใจผิดระหว่างบุคคลเหล่านี้”[8]

ต่อคำถามดังกล่าว ประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้รับหน้าที่เสนอร่างกฎหมายต่อที่ประชุม ชี้แจงว่าเบื้องต้นรัฐบาลในชั้นแรกก็ได้มีการห้ามใช้ความรุนแรง หรือได้มีการรักษาความสงบโดยไม่ได้มีการทำร้ายกัน “แต่เมื่อมีการใช้กำลังกันขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยการเข้าใจผิดกัน”[9]

อย่างไรก็ตาม มารุต บุนนาค ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยหากจะนิรโทษกรรมแก่ทั้งสองฝ่ายโดยปราศจากเงื่อนไข เพราะปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า “ได้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงกราดนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่มีแต่มือเปล่า และผู้กระทำเป็นนายทหาร บุคคลประเภทนี้หาชอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไม่” ซึ่งเขาเห็นว่าหากจะทำเช่นนั้นก็เท่ากับผู้กระทำผิดได้รับการยกเว้นความผิดโดยมิชอบ[10]

สุดท้ายประเด็นนี้ถูกที่ประชุมเพิกเฉย และไม่มีการอภิปรายเรื่องการจะเอาผิดกับผู้สั่งการอีกเลย แม้ก่อนหน้านี้ ประกอบจะกล่าวถึงประเด็นการดำเนินคดีกับผู้บังคับบัญชาไว้ว่า “ผู้ที่เป็นผู้เริ่มออกคำสั่งนั้น จึงจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ”[11] แต่ถูกปล่อยให้กลายเป็นเรื่องคลุมเครือต่อไป

.

ร่องรอยความไม่มั่นใจในความชอบธรรม

ในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีสมาชิกสภาฯ กล่าวบ่อยครั้งว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม[12]  ซึ่งสะท้อนถึงมโนทัศน์ของรัฐไทยที่ยึดบทบัญญัติกฎหมายให้เป็นกฎเกณฑ์สูงสุดในการบ่งชี้ว่าการใช้ความรุนแรงนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ กฎหมายจึงทำงานร่วมกับการก่อความรุนแรงต่อประชาชนได้อย่างแนบเนียน

อย่างไรก็ตาม มีร่องรอยถึงความไม่มั่นใจในความชอบธรรมปรากฏอยู่เช่นกัน ดังที่ประหยัดได้แสดงความข้องใจซึ่งขัดแย้งกับความเคลือบแคลงใจที่ให้ไว้ตอนแรกว่า “ถ้าหากเราจะให้ความกว้างขวางหรือประนีประนอมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างข้าราชการตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องนี้ โดยให้เขียนกฎหมายนิรโทษกรรมไปเสียทีเดียว”[13] หากไม่ทำเช่นนี้ ก็หมายความว่ายังต้องมีการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง และอาจจะถูกฟ้องต่อศาล ซึ่ง “ก็จะเป็นเรื่องที่กินใจกันกว้างขวางออกไปอีก”[14]

ส่วนการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชา ประหยัดกล่าวว่าการเอาผิดนักการเมืองระดับสูงทั้งสามคนนั้น (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) ให้เป็นปัญหาเรื่อง “การเมืองระดับสูง…จะทำอะไรในเรื่องทางการเมืองกันไปก็สุดแต่จะโหวต”[15] จากคำกล่าวนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า “การเมืองระดับสูง” หมายความว่าอย่างไร และปัญหาความขัดแย้งกันเองในหมู่ชนชั้นนำเป็นต้นเหตุความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือไม่?

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นนี้ชวนให้สับสนและมีความย้อนแย้งกับประเด็นแรกอยู่ไม่น้อย เพราะหากรัฐยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชนและมีสาเหตุเนื่องจากความเข้าใจผิดตั้งแต่แรก ย่อมไม่มีความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากขาดองค์ประกอบภายใน เหตุใดจึงต้องพยายามคุ้มครองการกระทำที่ได้กระทำลงตามคำสั่งอีก ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐในระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำรัฐบาลที่มีส่วนในการสั่งการถูกทำให้กลายเป็นเรื่องซับซ้อนผ่านการใช้คำที่คลุมเครืออย่างคำว่า “การเมืองในระดับสูง” แทน

.

การวาดภาพให้เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเหยื่อ

นอกจากนี้ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังปรากฏการพยายามวาดภาพให้เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเหยื่อ (self-victimization) ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายเป็นเรื่องสมควรแก่เหตุมากขึ้น เช่นกรณี เพทาย อมาตยกุล เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตราเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมา เพราะมีทหารและตำรวจหลายคนได้ละทิ้งหน้าที่ ถอดเครื่องแบบ แล้วเข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งผิดวินัยหนีทหารระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ “สำหรับผู้ที่ได้กระทำเกินขอบเขตหรือไร้สติ กระผมจะไม่ขอกล่าว”[16]

ขณะเดียวกัน พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ผู้บังคับบัญชาได้สั่งว่าไม่ให้ทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม และอ้างถึง พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้มีอำนาจสูงสุดรองจากถนอม-ประภาส ได้สั่งห้ามไม่ให้ยิงหรือขัดขวางกลุ่มผู้ชุมนุม และทางรัฐบาลได้หารือกันแล้ว “ทหารไม่ใช่ไม่อยากได้รัฐธรรมนูญ ทหารตั้งการรัฐธรรมนูญอันถาวรและแน่นอน”[17] แต่ก็ต้องรักษาระเบียบวินัยแบบแผนของทหาร เมื่อถูกสั่งให้ต้องไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว สิ่งที่ดีสุดคือการหลีกเลี่ยง เพราะ “ขืนแต่งเครื่องแบบไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน หรือไม่ใช่นักศึกษา ก็พยายามที่จะทำร้ายร่างตำรวจและทหาร บางส่วนเท่านั้นไม่ใช่มาก แต่ก็จำเป็นต้องถอดเครื่องแบบ”

.

การนิรโทษกรรมอาจเป็นเครื่องมือกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงอื่นๆ

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งยกเว้นความผิดครอบคลุมทุกฝ่ายฉบับนี้กำลังมีผลในทางกฎหมาย แต่พลเอกวิชัย พงศ์อนันต์ กลับยังรู้สึกว่า “แคบเหลือเกิน แคบมาก” และตั้งข้อสังเกตว่า ควรนิรโทษกรรมแก่ทหารและตำรวจซึ่งได้ร่วมขับไล่รัฐบาลเก่าให้ลาออกด้วย เนื่องจากการกระทำนั้นอาจเข้าข่ายการเป็น “รัฐประหาร” ถ้าหากไม่มีการนิรโทษกรรมย่อมส่งผลให้ทหารและตำรวจเหล่านั้นตกเป็นกบฏ[18]

ข้อสังเกตนี้บ่งชี้ให้เห็นร่องรอยความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ และความเป็นไปได้ที่ผู้จุดชนวนความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อาจทำไปเพื่อทำลายความชอบธรรมของกลุ่มอำนาจเก่าอย่าง ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ว่า อาจมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมมากกว่าหนึ่งกลุ่ม เพื่อกลบเกลื่อนหรือป้องกันการสืบทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ การตรากฎหมายนิรโทษกรรมจึงจำเป็นยิ่ง

.

เจตนาคือปกป้องราชบังลังก์ ไม่ใช่ทำร้ายประชาชน

การขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันอยู่ที่คำอภิปรายของ สุวิชช พันธเศรษฐ ซึ่งนำเสนอว่า ที่ประชุมไม่ควรถือให้อดีตผู้นำรัฐบาลทั้งสามคนและผู้สั่งการคนอื่นๆ เป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่แรก และไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันในเรื่องที่ว่าควรนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลเหล่านี้หรือไม่ เพราะรัฐบาลจะต้องบริหารตามกฎหมาย และหน้าที่ของรัฐบาลคือการปกป้องราชบังลังก์

“ผู้ที่มีอำนาจในการที่จะป้องกันประเทศชาติราชบัลลังก์นั้นคือรัฐบาลใช่หรือไม่ รัฐบาลนั้นโดยตรงกระทำหน้าที่เช่นนี้และมีกฎหมายฉบับใดมาตราใด ที่บอกว่าการสั่งการป้องกันและปราบปรามผู้ที่จะเข้ามาทำลายประเทศชาติราชบัลลังก์ จะต้องไม่กระทำการเกินกว่าเหตุผล เกินกว่าเหตุอย่างไร เพราะเหตุว่ามีหลักสุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งว่า เมื่อไม่มีกฎหมายย่อมไม่มีโทษ เมื่อไม่มีโทษแล้วจะเอาโทษเขาอย่างไร”[19]

จากนั้น สุวิชชได้สรุปประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ชวนให้ฉงนอย่างยิ่ง คือ ฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับสมาชิกบางท่านที่บอกว่าควรจะรวมไปนิรโทษกรรมให้เช่นนั้น เพราะเหตุว่าถ้าหากรัฐบาลจะเอาโทษผู้สั่งการหรืออะไรต่างๆ นานานั้น กลับจะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้[20] หมายถึง เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดว่าผู้สั่งการผิด ก็ไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรม

ข้อเสนอของสุวิชช มุ่งเน้นไปที่การยกเว้นความผิดแก่ผู้สั่งการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ใช่เพียงต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมกินความไปถึงผู้สั่งการเท่านั้น เพราะตามหลักการแล้ว การนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลใด แสดงว่าบุคคลนั้นมีความผิด แต่ได้รับการยกเว้นความผิด

ดังนั้น เหตุผลของสุวิชช ที่ไม่ต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไม่ใช่เพราะการตระหนักถึงความยุติธรรม แต่เป็นเพราะสุวิชช เห็นว่าคนกลุ่มนั้นไม่ได้มีความผิดอยู่แล้วตั้งแต่แรก เนื่องจากได้สั่งการเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ที่จะเข้ามาทำลายประเทศชาติราชบัลลังก์ ที่สำคัญ ไม่มีผู้ใดทักท้วงข้อเสนอนี้แม้แต่คนเดียว

สุวิชชเป็นสมาชิกสภาคนหนึ่งจากสมาชิกอีกหลายคนที่อภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐก่อความรุนแรงด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์เพื่อปกป้องชาติและราชบัลลังก์ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมี “เจตนา” สั่งการให้ทำร้ายประชาชนแต่อย่างใด

.

การอ้าง “เพื่อความปรองดองและสามัคคีของคนในชาติ”

สุวิชช ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติมีความสำคัญกว่าการตามหาคนผิดเพื่อลงโทษ “ข้าพเจ้าจึงใคร่ที่จะขอให้ทั้งสภานี้ รัฐบาลและประชาชน รวมทั้งนิสิต นักศึกษาทั้งหลาย ร่วมกันเป็นกำลังแรกเพื่อจะช่วยให้ประเทศชาติก้าวหน้า เพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความผาสุกของประชาชน อย่าได้คิดว่าคนนี้แบ่งกันเป็นบุคคลชนิดนั้นชนิดนี้ ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง…”[21]

ปัญหาของประเด็นนี้คือ เมื่อใช้คำว่า “คนในชาติ” ย่อมหมายถึงปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่มีความแตกต่างหลากหลายด้านความคิดและวัฒนธรรม รวมถึงผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การอ้างว่าตนได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของ “คนในชาติ” จึงไม่สู้จะชอบธรรมและสมเหตุสมผลเท่าใดนัก ที่สำคัญ “การให้อภัย” ควรเป็นคำที่ออกมาจากปากของเหยื่อ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือผู้มีส่วนร่วมกับความรุนแรง

ที่ประชุมลงมติรับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนแปรญัตติฯ  ซึ่งยังคงปรากฏความพยายามขยายขอบเขตการยกเว้นความผิดให้ครอบคลุมทุกฝ่ายเช่นเดิม ดังที่สุวิชชขอให้ที่ประชุมแก้ไขคำปรารภจาก “สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว” เป็น “สำหรับการกระทำของรัฐบาลนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว”[22]

การขอให้แก้ไขคำปรารภนี้ชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ให้การกระทำของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย เนื่องจากสุวิชชเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น “เป็นการกระทำของรัฐบาลในการป้องกันประเทศชาติและราชบัลลังก์ เพราะเวลานั้นเป็นเรื่องเวลาสับสน”[23]

อย่างไรก็ตาม การอ้างเหตุผลว่าการสั่งการนั้นเป็นไปเพื่อ “การป้องกันและปราบปรามผู้ที่จะเข้ามาทำลายประเทศชาติราชบัลลังก์” ย่อมทำให้ทุกสิ่งที่ผู้สั่งการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจผิดเนื่องจากความไร้สติและการคิดไม่รอบคอบในการรับฟังข้อมูลหรือรายงานต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม หรือการสั่งการที่แฝงด้วยโทสจริตมุ่งหมายทำลายชีวิตประชาชน ดูราวกับเป็นเรื่องที่สังคมควรให้อภัยกัน

 .

การไม่แยกว่าใครเป็นผู้สั่งการเป็นการ ย้ำหัวตะปูไว้อีกที

สานนท์ สายสว่าง อภิปรายสนับสนุนประเด็นการขยายขอบเขตการยกเว้นความผิดให้ครอบคลุมทุกฝ่ายว่าจะเป็นการ “ย้ำหัวตะปูไว้อีกที”[24] ไม่จำเป็นต้องแยกว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชา “คล้ายยกให้เด่นขึ้นว่า รัฐบาลน่ะทำตามกฎหมายนั้นไม่ผิดไม่จำต้องนิรโทษกรรม ทีนี้ถ้าเราไม่เขียนไว้อย่างนี้มันไปแยกผู้บังคับบัญชา และคณะรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในนี้ไม่พ้นนะครับ รับผิดชอบร่วมกันครับ”[25]

ทั้งสุวิชชและสานนท์สนับสนุนการแก้ไขคำปรารภโดยอ้างอิงตามหลักนิติศาสตร์ที่กำหนดให้ “การกระทำของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกันทั้งหมดทั้งคณะ[26]” ซึ่งการสนับสนุนนี้ดูราวกับเป็นการปกป้องคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่อาจถูกดำเนินคดีได้หรืออาจเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลชุดก่อนให้หลุดพ้นคดีโดยไม่ออกหน้าออกตามากเกินไป แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติให้ยืนตามร่างเดิม 136 ต่อ 1 เสียง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำใดๆ[27]ในคำปรารภ

ที่ประชุมสภาฯ มีมติสมควรให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงได้รับการตราออกมาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การมีมติยืนตามร่างเดิมอาจไม่ได้หมายความว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับเสนอขอแปรญัตติของสุวิชชและสานนท์ แต่อาจหมายความถึงความไม่มีประโยชน์อันใดที่จะต้องแก้ไขแล้ว เพราะถึงจะไม่มีการระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้นิรโทษกรรมแก่ทุกคนในรัฐบาลของจอมพลถนอมและผู้สั่งการคนอื่นๆ แต่หากพิจารณาประกอบกับการไม่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาสามปีภายหลังเหตุการณ์ รวมถึงการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้งของอดีตผู้นำรัฐบาลทั้งสามคน โดยรัฐไทยไม่ได้มีท่าทีเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะนำตัวคนเหล่านั้นมาดำเนินคดี ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวได้ครอบคลุมไปยังทุกฝ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หาใช่เพราะจอมพลถนอมบวชเป็นเณรเข้ามา หรือกระแสอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายขวาที่กำลังมาแรง ณ ขณะนั้นเพียงอย่างเดียวไม่

.

การได้มาซึ่งความรุนแรงและความ “อยุติธรรม”

ชัยชนะของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือประชาชนขับไล่ผู้นำเผด็จการทหารให้พ้นออกจากตำแหน่ง จนต้องหนีไปต่างประเทศ และทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในระยะยาว เมื่อรัฐไทยโยนการแสวงหาความยุติธรรมทิ้งออกไป หลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายย่อมถูกทำลายไปพร้อมกันด้วย

หากต้องการสร้างการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่มีไม่ผู้ใดยิ่งใหญ่เหนือกฎหมายได้ 14 ตุลาฯ นับเป็นโอกาส แต่รัฐไทยกลับดำรงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้คงอยู่อย่างมั่นคงสืบต่อมา และทำให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความอยุติธรรมตามมาในอีกหลายลักษณะ  กล่าวคือ

ประการแรก กระบวนการบิดเบือนให้การใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก กลายเป็นเพียงเรื่องความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องมิให้ผู้ก่อความรุนแรงมีความรับผิดทางกฎหมาย

ประการที่สอง ระหว่างกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมใน มีผู้อภิปรายบางคนพยายามกลบเกลื่อนการออกคำสั่งเข้าสลายการชุมนุมนักศึกษาด้วยอาวุธสงคราม ด้วยถ้อยคำว่าเป็น “การป้องกันและปราบปรามผู้ที่จะเข้ามาทำลายประเทศชาติราชบัลลังก์” และ “เพื่อถวายความอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มาเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าการทำร้ายนักศึกษาควรค่าแก่การให้อภัย

ประการที่สาม กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโทษกรรม ได้วาดภาพให้ความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นหรือการนำผู้ทำร้ายประชาชนขึ้นศาลกลายเป็นการทำลายผลประโยชน์ของส่วนรวม บั่นทอนความสงบและความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ความข้อนี้ถูกใช้อ้างทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้การลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม

เหนือสิ่งอื่นใด การที่ระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมาย ได้ถูกผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือบิดเบือน กลบเกลื่อน และซ่อนเร้นการกระทำความผิดของรัฐเสียเอง มีส่วนพยุงสังคมที่ปราศจากความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ผู้มีอำนาจรัฐสามารถทำลายชีวิตประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิดให้ดำรงอยู่ต่อไปได้


.

ภาพเหตุการณ์ : ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, ขบวนการประชาชน ตุลาคม 2516.(กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์ ,2517)

เชิงอรรถ

[1] กระแสพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้ไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2517 ใน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, ขบวนการประชาชน ตุลาคม 2516.(กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517)

[2] งานศึกษาเกี่ยวกับการชำระสะสางข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ส่วนใหญ่จะวางโครงเรื่อง (plot) โดยเริ่มต้นจากการที่มีนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งเปิดการแถลงข่าวและเดินแจกใบปลิวเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2516 ต่อด้วยการจับกุมและดำเนินคดีผู้เรียกร้องทั้ง 13 คน ความผิดฐานก่อกบฏ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2546), หน้า 16-19.

[3] คำอาลัยวีรชนของชาติ ของ จินตา บุณยอาคม (ประธานศาลฎีกา) ใน พระราชทานเพลิงศพวีรชน ณ เมรุท้องสนามหลวง 14 ตุลาคม 2517, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.), ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[4] งานเกี่ยวกับ 14 ตุลาฯ หลายชิ้นมักเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “วันมหาวิปโยค” แต่มีหนังสือขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งชื่อ 14 ตุลาฯ ว่าเป็น “วันมหาปิติ” เน้นไปที่ความหวังว่าประชาธิปไตยจะงอกงามจากการต่อสู้ครั้งนี้ ใน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ. (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2554)

[5] ส่วนหนึ่งในบทกลอน สิบสี่ตุลา โดยวิสา คัญทัพ ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อสดุดีวีรชน 14 ตุลาฯ และเป็นกวีนิพนธ์ที่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่มีความร่วมสมัย ณ ปัจจุบัน ใน วิสา คัญทัพ, เราจะฝ่าข้ามไป, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: พิราบ, 2517), หน้า 19-20.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 173

[7]หมายเหตุท้าย พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

[8] รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 472.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 473

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 474

[11] เรื่องเดียวกัน

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13] รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 472

[14] เรื่องเดียวกัน

[15] เรื่องเดียวกัน

[16] รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 476

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 478

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 481.

[19] รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 485.

[20] เรื่องเดียวกัน.

[21] รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 486.

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 495.

[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 496.

[24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 497

[25] เรื่องเดียวกัน

[26] เรื่องเดียวกัน

[27] เรื่องเดียวกัน, หน้า 501.

.

X