ห้ามต่างชาติพูดเรื่องซ้อมทรมาน จนท.กระทรวงแรงงานอ้างไม่มีใบอนุญาตทำงาน

ห้ามต่างชาติพูดเรื่องซ้อมทรมาน จนท.กระทรวงแรงงานอ้างไม่มีใบอนุญาตทำงาน

photo_2016-09-28_10-24-30

28 ก.ย. 2559 สำนักงานใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International: AI) ยกเลิกจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน เรื่อง “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” หลังเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบห้ามวิทยากรชาวต่างชาติขึ้นพูด โดยอ้างว่าวิทยากรไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

เวลา 10.00 น. แอมเนสตี้ฯ กำหนดแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน เรื่อง “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 กรุงเทพมหานคร โดยมีราเฟนดี จามิน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก AI, ยูวาล กินบาร์ ผู้เขียนรายงาน และผู้เชี่ยวชาญประเด็นการซ้อมทรมาน AI, และโลคอง เมยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้นำเสนอรายงาน และมีผู้ร่วมงาน สื่อมวลชน ผู้แทนสหภาพยุโรป เจ้าหน้าที่สถานทูตสหราชอาณาจักร สวีเดน สหรัฐอเมริกา และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเข้าสังเกตการณ์ รวมประมาณ 80 คน

ก่อนเริ่มการแถลงข่าวประมาณ 30 นาที ซึ่งตามกำหนดการเป็นช่วงเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานลงทะเบียนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าตรวจแรงงาน สวมแจ็กเกตที่มีตัวย่อของกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบระมาณ 5-6 นาย โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้ามาคุยกับผู้จัดงาน และผู้นำเสนอรายงานซึ่งเป็นชาวต่างชาติ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานอ้างว่า หากผู้นำเสนอซึ่งเป็นชาวต่างชาติขึ้นพูดจะถือว่าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ม.9 ที่ระบุว่าห้ามมิให้คนต่างด้าวทำงานใดนอกจากงานตามมาตรา 7 และได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วนที่มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 15 วัน แต่คนต่างด้าวจะทำงานนั้นได้เมื่อมีหนังสือแจ้งให้นายเบียนทราบ แม้ผู้จัดงานจะชี้แจงว่าเป็นการให้ความรู้ แต่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานยืนยันว่าการนำเสนอรายงานครั้งนี้เป็นการทำงาน และหากนำเสนอรายงานอาจจะดำเนินคดีในภายหลัง ทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจยกเลิกการแถลงข่าวในที่สุด

ผู้จัดงานกล่าวว่า ก่อนจัดงานได้แจ้งแก่กระทรวงแรงงานแล้วว่าจะมีงานแถลงข่าวดังกล่าว รวมถึงช่วงสัปดาห์ก่อนวันจัดงานได้มีเจ้าหน้าที่โทรมาถามรายละเอียดการจัดงานกับทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยด้วยว่า จะจัดงานที่ไหน วันที่เท่าไหร่ และเนื้อหารายงานเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นกรณีแรกที่มีการใช้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว มาห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติจากองค์กรระหว่างประเทศแถลงรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานก็แจ้งต่อผู้จัดงานว่ากรณีเปิดตัวรายงาน เรื่อง “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” ถือเป็นกรณีพิเศษ เมื่อถูกถามว่าดำเนินการเช่นนี้กับงานที่มีวิทยากรชาวต่างชาติทุกงานหรือไม่ การอ้างกฎหมายเช่นนี้อาจนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นำเสนอโดยองค์กรระหว่างประเทศได้ในอนาคต จากเดิมที่มีการห้ามจัดกิจกรรรมหรือเสวนาเกี่ยวกับการเมือง สิทธิมนุษยชน หรือเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอยู่แล้ว

สามารถดาวน์โหลดรายงาน “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” ได้ที่ https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/4746/2016/en/

X