ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”

ศาลทหารไม่อนุญาตให้การประกันตัว ผู้ต้องหาคดีทำเพจ  “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”  เหตุเพราะเป็นคดีร้ายแรงและพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2559 เวลา 9:00 น. พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามนำตัวผู้ต้องหา 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 รายที่ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เม.ย.และต่อมาพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการและปราบปราม แถลงข่าววานนี้ว่า ทั้งหมดมีพฤติการณ์ตามความผิด พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการรับจ้างทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ในเฟซบุ๊ก

ต่อมาทางพนักงานสอบสวนได้ขอยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดไว้เป็นเวลา 12 วัน คือตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. – 10 พ.ค. โดยให้เหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเพราะยังรอการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา รอสอบปากคำเพิ่มเติมและรอการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ด้วยเหตุนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยื่นคัดค้านการฝากขังและเตรียมยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวหากศาลมีคำสั่งให้ฝากขัง โดยทนายความให้เหตุผลว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีร้ายแรง อีกทั้งศาลทหารเคยมีบรรทัดฐานแล้วว่า การหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ถือเป็นความผิดฐานยุยุงปลุกปั่นจนก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ตาม ม.116

“ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนนั้น ต้องเป็นการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน แต่เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลแล้ว ย่อมหมายถึงผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ให้การไปทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งมวลแล้ว ไม่ประสงค์จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์อันใดทางกฎหมายต่อพนักงานสอบสวนอีกแล้ว ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน” จากส่วนหนึ่งของคำร้องในการคัดค้านการฝากขังของศูนย์ทนายความฯ

แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ทำคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวไว้แล้วโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีความผิดต่อความมั่นคง และเกรงว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

ขณะที่นายหฤษฎ์ มหาทน ผู้ต้องหาที่ 8 แถลงต่อศาลเพื่อขอคัดค้านการฝากขังว่า ในช่วงที่อยู่ในค่ายทหารนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารผลัดกันสอบสวนอยู่ตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่ตำรวจเองได้กล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมดว่า สอบสวนจนเสร็จสิ้นหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าการฝากขังเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมจึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ รวมถึงพวกตนไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี อย่างที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกังวล และทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือมาให้ปากคำเพิ่มเติม โดยไม่จำเป็นต้องถูกคุมขัง

photo_2016-04-29_09-51-591

ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฝากขัง นำตัวทั้งหมดไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ด้านทนายความเตรียมยื่นประกันแล้ว
ต่อมาเวลา 12:00 น. ศาลทหารกรุงเทพนั่งบัลลังก์มีคำสั่งตามคำร้องของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย โดยทั้งหมดกำลังถูกพาตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ด้านทนายความฝ่ายผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กำลังเตรียมยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และมีความเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งหมดไม่เข้าข่ายมีความผิดตาม ม.116 รวมถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยทหารและตำรวจ เพื่อจับกุมผู้ต้องหา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจควบคุมตัวก่อนออกหมายจับนั้น กระบวนการแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับประชาชนแล้วที่อ้างว่าต้องจับกุมและควบคุมตัวก่อนเพราะเกรงจะหลบหนีนั้นไม่สมเหตุสมผล

ส่วนผู้ต้องหาของคดีนี้รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความฯ ว่า แม้ผู้ต้องหาจะทำเพจการเมืองจริง แต่ก็ไม่ควรจะถูกกล่าวหาว่า มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเพราะเป็นเพจการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย แต่สำหรับสังคมไทยนั้นกลับถูกตั้งข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง

ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าว ส่วนนายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ผู้ต้องหาที่ 7  ที่มีกระแสข่าวว่าให้การรับสารภาพในขั้นการแถลงข่าวที่กองบังคับการและปราบปรามเมื่อวานนี้ก็แถลงต่อศาลขณะขอยื่นคัดค้านการฝากขังว่า การรับสารภาพนั้นเกิดจากความเข้าใจที่ผิด จึงขอปฏิเสธทุกกล่าวหา และขอกลับคำให้การที่ให้ไปแล้วในชั้นสอบสวน

photo_2016-04-29_13-19-31

ศาลทหารสั่งไม่ให้ประกันตัวเพราะเป็นคดีร้ายแรงและพนักงานสอบสวนคัดค้าน

ต่อมาเมื่อเวลา 16:00 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีความร้ายแรง ทำกันเป็นขบวนการ อีกทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

photo_2016-04-29_13-19-58

ทั้งนี้ก่อนหน้ามีคดีที่ลักษณะการกระทำใกล้เคียงกันนี้ที่ศาลทหารและอัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลพลเรือน 2 กรณี ได้แก่

กรณีแรกคือนางรินดา หรือหลิน พรศิริพิทักษ์ ได้โพสต์ข้อความกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาได้โอนเงินหมื่นล้านบาทไปธนาคารในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 คดีนี้อัยการศาลทหารได้มีคำสั่งฟ้องนางรินดาตามข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ข้อหายุยงปลุกปั่นและ ประมวลกฎหมายอาญา ม.384 แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 ในกรณีนี้ศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่มีเนื้อหาในทำนองปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคง แต่เป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 328 เท่านั้น ดังนั้นเมื่อคดีไม่เกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลทหารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นก็ไม่ได้เป็นความผิดที่เกี่ยวโยงตามประกาศคสช.ฉบับที่ 38/2557 คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ (ติดตามรายละเอียดได้ที่นี้)

กรณีต่อมานางแจ่ม ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ถึงความขัดแย้งภายใน คสช.จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2559 อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนางแจ่มตามมาตรา 116 และเห็นว่าความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นก็ไม่ได้เป็นความผิดที่เกี่ยวโยงตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งคดีต้องอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาของศาลอาญา จึงได้ส่งสำนวนคดีคือให้พนักงานสอบสวนสน.พระโขนงเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินนการต่อไป   (ติดตามรายละเอียดได้ที่นี้)

 
พฤติการณ์ที่ทั้ง 8 ถูกแจ้งข้อกล่าวนั้น “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” เห็นว่า เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการกระทำตามข้อกล่าวหาก็ยังเป็นการพาดพิงตัวบุคคลจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 116 ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐที่คดีจะถูกนำมาพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีกรณีที่ศาลทหารมีความเห็นต่อคดีของนางรินดา พรศิริพิทักษ์ ว่าเป็นการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทเท่านั้นและกรณีที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องนางแจ่มตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา

 

X