ผบ.ฉก.ร.8 ผู้สั่งการจับกุมจำเลย ‘ขอนแก่นโมเดล’ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลยนัดที่สอง

ผบ.ฉก.ร.8 ผู้สั่งการจับกุมจำเลย ‘ขอนแก่นโมเดล’ เข้าตอบคำถามค้านทนายจำเลยนัดที่สอง

25 พ.ย.59 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดพร้อมโจทก์จำเลยในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ เพื่อสืบพยานโจทก์เป็นนัดที่ 2 โดยอัยการทหารได้นำพยานฝ่ายโจทก์ปากที่ 1 พล.ต.ชาญชัย เอมอ่อน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 จ.เลย ซึ่งขณะเกิดเหตุในปี 2557 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 (ผบ.ร.8) ทั้งยังเป็นผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 8 (ผบ.ฉก.ร.8) ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร และมีบทบาทในการจับกุมจำเลยในคดีนี้ เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดแรกเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ซึ่งเป็นทนายจำเลยที่ 2, 10-15, 17-18, 21-24 ใช้เวลาถามค้านตั้งแต่เวลาประมาณ 10.30 น. จนถึงเวลาประมาณ 17.00 น. จากนั้นอัยการทหารได้ถามติง และเสร็จการสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ในเวลาประมาณ 17.30 น.

โจทก์ได้แถลงขอนำพยานโจทก์เข้าสืบอีก 5 ปาก ในวันที่ 23 ธ.ค. 59 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. และขอนัดหมายการสืบพยานครั้งต่อ ๆ ไป ในวันที่ 20 ก.พ., 24 มี.ค., 28 เม.ย., 26 พ.ค. 59 ตามที่ได้ตกลงกับทนายจำเลยแล้ว ศาลอนุญาตตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการถามค้านพยานโจทก์ในช่วงบ่าย ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า มีกลุ่มบุคคลติดบัตรระบุสังกัด กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ได้เข้ามาถ่ายรูปทนาย และจำเลย ในบริเวณศาลหลายครั้ง และในเช้าวันนี้ ได้เข้ามาขอรายชื่อทนายทั้งหมด ซึ่งทำให้ทีมทนายความเป็นกังวลว่า อาจจะตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม และขัดขวางการทำหน้าที่ทนายความเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับจำเลย ถ้าหากศาลจะมีวิธีบรรเทาสิ่งนี้ได้ก็จะเป็นพระคุณ ศาลรับไว้พิจารณาและจะแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลให้ดูแลในบริเวณศาล และหากทนายถูกคุกคามให้แสดงคำร้องมา ศาลจะพิจารณาให้

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลว่า จำเลยบางคนและครอบครัวถูกทหารติดตามพฤติกรรมอยู่โดยตลอด โดยเข้าไปพบที่บ้านหรือที่อื่นประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

591125

คดีขอนแก่นโมเดล อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ กับพวกรวม 26 คน  เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10 ก/2557 ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ร่วมกันตระเตรียมก่อการร้าย, เป็นซ่องโจร, มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, พกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ, มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง และมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

การสืบพยานโจทก์ปากแรกเริ่มมีขึ้นหลังจากอัยการยื่นฟ้องจำเลยมากว่า 2 ปี โดยโจทก์อ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ขณะที่จำเลยที่ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวหลังการถูกจับกุมไม่ต่ำกว่า 5 เดือน เหลือเข้าร่วมการพิจารณาคดีเพียง 22 ราย เนื่องจากเสียชีวิต 1 ราย และหลบหนี 3 ราย ในจำนวนจำเลยที่เข้าร่วมรับฟังการสืบพยานมี 3 ราย ที่ถูกควบคุมตัวอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการพูดคุยในเรือนจำ โดยยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว คดีดังกล่าวศาล มทบ.23 สืบพยานโจทก์ปากแรก พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ไปเมื่อวันที่ 9 ก.ย.59 และนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 8 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยศาลมีคำสั่งให้พิจารณาลับทั้งคดี

ทั้งนี้ จำเลยในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เพราะเห็นว่าคดีนี้ต้องให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และขอให้ศาลทหารส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, 37/2557 , 38/2557 และ 50/2557 ขัดหรือแย้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว )พ.ศ.2557 มาตรา 4 หรือไม่  โดยศาล มทบ. 23 และศาลจังหวัดขอนแก่นมีความเห็นพ้องกันว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร และศาล มทบ.23 มีคำสั่งเอง (โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลทหารส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ) ว่า ประกาศ คสช.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ศาลทหาร-ศาลจังหวัดขอนแก่นเห็นพ้อง ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ พร้อมชี้ รธน.57 รับรองประกาศ คสช.

ขอนแก่นโมเดลยังไม่เริ่มสืบพยาน ศาล มทบ.23 เลื่อนตรวจพยานหลักฐานอีก

112 ขอนแก่น ตรวจพยานหลักฐานแล้ว ศาลสั่งพิจารณาลับทั้งคดี

 

X