ผอ.สถาบันสิทธิฯ มหิดล ชี้ ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ เป็นสิทธิพื้นฐาน-ไม่ใช่การชุมนุม

นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนให้การเป็นพยานผู้ต้องหาคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ชี้การรณรงค์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน-ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ย้ำผู้สังเกตการณ์ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย พร้อมตั้งข้อสังเกต การดำเนินคดีเป็นการเลือกปฏิบัติ

6 ธ.ค.59 นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เพื่อให้ปากคำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ต้องหาอ้างเป็นพยาน ในคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’

อ.เอกพันธุ์1

อ.เอกพันธุ์2

คดีนี้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และเพื่อนนักศึกษา/นักกิจกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อดีตนักการเมือง และผู้สังเกตการณ์การละเมิดสิทธิ รวม 11 คน ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่ศาลาจตุรมุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.59  ซึ่งผู้จัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและนักศึกษาได้พูดคุยอภิปรายเรื่องปัญหาในพื้นที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ในบรรยากาศที่จะมีการออกเสียงประชามติ

ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิฯ ให้การว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่รับรู้เนื่องจากมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ส่วนความเห็นในฐานะนักวิชาการต่อกิจกรรมดังกล่าวขอให้การเป็นเอกสาร พร้อมเอกสารแนบ จำนวน 13 แผ่น นอกจากนี้ นายเอกพันธุ์ยังได้ให้การเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 บัญญัติสาระสำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกซึ่งเนื้อหาและความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ จึงตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีต่อผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

หลังจากนี้ พนักงานสอบสวนจะได้สรุปสำนวนคดีให้คณะกรรมการสอบสวนระดับจังหวัดพิจารณามีความเห็นสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้อง ต่อไป

 

เนื้อหาโดยสรุปของคำให้การ

นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นต่อกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ”  ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องการทำประชามติ ว่า มีลักษณะของการพยายามที่จะเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนอย่างเสรีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ทราบอย่างหลากหลาย ซึ่งไม่ว่าจะมีเนื้อหาที่แสดงออกถึงการเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นได้ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีจุดประสงค์ในการชี้ชวน หรือกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์กับการทำประชามติแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มาตรา 61 วรรคสอง ยังระบุว่า  “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ดังนั้น การรณรงค์ด้วยการแจกเอกสาร สวมเสื้อ พูดคุยเสวนา และการแสดงสัญลักษณ์ ฯลฯ โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคามผู้อื่น ย่อมไม่ขัดมาตรานี้

อ.เอกพันธุ์ ยังมีความเห็นอีกว่า การจัดเวทีเสวนาดังกล่าวไม่อาจจะตีความได้ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากเป็นลักษณะของการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งนี้ นิยามของการชุมนุมทางการเมือง (Political Assembly) ตามรากศัพท์ของคำว่า Assembly คือการรวมตัวกันด้วยเหตุผลร่วมกัน และ Politics ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการปกครอง หรือความเป็นไปในการปกครองประเทศ หรือพื้นที่ (Oxford English Dictionary) ซึ่งการเสวนาในหัวข้อดังกล่าวมิได้ตรงกับการนิยามของการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ อ.เอกพันธุ์ ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการที่ทำงานด้านการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานฯ และการทำงานเพื่อการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งโดยสันติวิธี ได้ทำกิจกรรมการเสวนาในประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ มาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังที่รัฐบาล และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ ให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง ยังได้เป็นผู้นำการรณรงค์ในหัวข้อ “การรณรงค์ ไม่ผิด” ซึ่งเป็นการแสดงความชัดเจนต่อสาธารณชนว่า การรณรงค์ไม่ว่าจะเป็นการเห็นด้วย หรือเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติของการทำประชามติ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การประชาสัมพันธ์ว่าบัตรลงคะแนนมี 2 ช่อง คือเห็นชอบ และไม่เห็นชอบก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผิด โดยได้จัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่งเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าการรณรงค์ (ตามกฎหมาย) ไม่มีความผิดใด ๆ พร้อมอ่านแถลงการณ์ที่เน้นจุดยืนตามหลักวิชาการ และหลักการประชาธิปไตย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากนักกิจกรรมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ออกมาชี้ความผิดแต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ในสถานการณ์โดยทั่วไป เมื่อมีการทำประชามติควรมีการเปิดโอกาสให้เกิดการรณรงค์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยยังมีการจัดเวทีเสวนาในประเด็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่างได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องขอความร่วมมือในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ลงท้าย ผอ. สถาบันสิทธิฯ ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีผู้สังเกตการณ์ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้พร้อมกับผู้จัดงานด้วยว่า ประการแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างโดยสุจริตนั้น ไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบในการกระทำความผิดใด ๆ และประการที่สอง ผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีการแสดงตัวอย่างชัดเจนและไม่ได้มีส่วนร่วมกับการก่อเหตุใด ๆ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และในหลายกรณีก็มักจะได้รับการพิทักษ์สิทธิในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์ จึงมิควรจะถูกจับกุมในฐานะผู้ร่วมก่อเหตุไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

10 ผู้ต้องหาพูดเพื่อเสรีภาพปฏิเสธข้อหา เห็นว่าการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญและประชามติเป็นเสรีภาพ

พ.ร.บ.ประชามติฯ รับรองการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” พยานผู้เชี่ยวชาญให้การตำรวจ

พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนให้การตร. ชี้ผู้ต้องหาคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ไม่ได้กระทำผิด

 

X