ปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี 3 ผู้เฒ่าจำเลยศูนย์ปราบโกงหนองบัวลำภู

ศาล มทบ.24 พิพากษาคดีศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู จำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท รอลงอาญา 1 ปี หลังจำเลยทั้งสามตัดสินใจรับสารภาพ เหตุป่วยหนัก

13 ธ.ค.59 ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จ.อุดรธานี นัดพร้อมโจทก์จำเลยเพื่อสืบพยานโจทก์ ในคดีหมายเลขดำที่ 71/2559 ซึ่งอัยการศาล มทบ.24 เป็นโจทก์ฟ้องนายสนิท สมงาม, นายสุวาจิตร คำป้อง และนางจิตตรา จันปุย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งทั้งสามให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี

โจทก์นำพยานปากที่ 1 ร.อ.ประจักษ์จิตร์ ศาสตร์ศิลป์ สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงจังหวัดหนองบัวลำภู ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดี เข้าสืบ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสามได้แถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 14 ต.ค.59 และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามโจทก์ฟ้อง โดยก่อนหน้านี้ จำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงเกษตรกร ประกอบอาชีพสุจริต และเป็นเสาหลักของครอบครัว ประกอบกับให้การช่วยเหลืองานในสังคมด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้ โจทก์ไม่คัดค้าน และไม่ประสงค์สืบพยานต่อ

ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 จึงอ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 2,500 บาท พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามมีกำหนดคนละ 1 ปี   

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสามถูกขังเป็นเวลา 1 วัน ในระหว่างรอการปล่อยตัวชั่วคราวที่เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี หลังศาล มทบ.24 รับฟ้องโจทก์ และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 59 ศาลจึงหักค่าชดเชยกรณีที่ถูกขังให้คนละ 500 บาท คงเหลือค่าปรับคนละ 2,000 บาท

สนิท

จากการสอบถามจำเลยทั้งสามซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี ถึงสาเหตุที่เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ได้ข้อมูลว่า ขณะนี้นายสนิทสุขภาพไม่ดี ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ และอาจมีอาการท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล หากยืนยันปฏิเสธ คาดว่าต้องใช้เวลาสืบพยานอีกเป็นเวลานาน ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพของนายสนิท ประกอบกับในการมาศาลแต่ละครั้งต้องขับรถจากหนองบัวลำภูเป็นระยะทางกว่า 70 กม. เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย และต้องหยุดงาน เช่น นางจิตตรา มีอาชีพขายของในตลาดก็ต้องหยุดขายของเพื่อมาศาลทุกครั้ง ทั้งสามปรึกษากับทนายความแล้วจึงตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้คดียุติลง

นับเป็นคดีศูนย์ปราบโกงและคดีที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติคดีแรกที่ขึ้นสู่ชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาแล้ว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกลุ่มสตรีศรีหนองบัว ได้ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ศาลาวัดอุทุมพรพิชัย ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดหมายพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 19 มิ.ย.59 โดยกลุ่มฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนที่มาทำบุญในวัดไปลงประชามติ พร้อมทั้งชักชวนให้ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ

แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ติดตามคนที่มีรูปถ่ายกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ มาแจ้งข้อกล่าวหา “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” อันเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 รวมทั้งสิ้น 15 ราย แม้บางคนไม่อยู่ในภาพหรือในที่เกิดเหตุ

ผู้ต้องหา 12 คน รับว่า อยู่ร่วมในกิจกรรมจริง ตำรวจจึงส่งตัวเข้า ‘อบรม’ ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดงที่ 1 จ.หนองบัวลำภู โดยเซ็นเงื่อนไขว่าจะไม่ทำผิดอีก และถือว่าคดีเลิกกัน ส่วนนายสนิท, นายสุวาจิตร และนางจิตตรา ไม่ปรากฏในภาพถ่าย และไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนจึงส่งสำนวนให้อัยการศาล มทบ.24 และอัยการทหารยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม เมื่อวันที่ 11 ส.ค.59 หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้ง 3 จัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช.

เกี่ยวกับการดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาจัดกิจกรรมหรือแสดงความเห็นในช่วงก่อนและหลังประชามติ ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 207 คน แถลงการณ์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เมื่อวันที่ 19 ส.ค.59 ระบุในเรื่องนี้ว่า ขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และให้ปล่อยตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวที่ถูกจับกุมคุมขังจากการแสดงความไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” เสนอให้ผู้ดำเนินการใน “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งหมด ยุติการดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาประชามติทั้งหลาย เนื่องจากเป็นการแสดงออกโดยสันติ และการดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาทั้งหลายเกี่ยวกับการทำประชามติที่ผ่านพ้นไปด้วยความสงบและทราบผลอย่างเป็นทางการแล้วนั้น จะไม่เป็นการก่อประโยชน์ใดๆให้แก่สาธารณะ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ”

ศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู ถูกฟ้องตามหลังอุดรฯ ชุมนุมทางการเมือง

จำเลยศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู-อุดรธานี ขอสู้คดีต่อหลังถูกฟ้องชุมนุมทางการเมือง

 

X