รายงานพิเศษ: เมื่อคนกดไลค์-กดฟอลโลว์เฟซบุ๊กถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัว

การติดตามตัวคนกดไลค์กดติดตามเฟซบุ๊ก: ปรากฏการณ์ใหม่เดือนธันวาคม

เดือนธันวาคมที่กำลังจะผ่านไป นอกจากการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ของราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 1 ..แล้ว หลังจากนั้น ยังเกิดปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพียงแค่เข้าไปกดไลค์ (Like) หรือกดติดตาม (Follow) เพจการเมืองบางเพจที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความใดๆ ด้วยตนเอง โดยการดำเนินการดังกล่าวดูจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะเท่าใดนัก ทั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในลักษณะนี้มาก่อน

เหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการนำเสนอรายงานข่าวพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ของสำนักข่าวบีบีซีไทย โดยเป็นการรวบรวมพระราชประวัติหลายๆ ด้าน เผยแพร่ในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 1 .. หลังจากขึ้นทรงราชย์ รายงานข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมียอดไลค์ข่าวในเฟซบุ๊กกว่า 27,000 ไลค์ และยอดแชร์กว่า 2,800 แชร์ (จำนวนหลังจากเผยแพร่ได้สองวัน)

ข่าวดังกล่าวยังนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ต่อผู้แชร์รายงานข่าว เมื่อวันที่ 3 .. คือกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรม ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตาและกล่าวหาดำเนินคดีทางการเมืองมาแล้ว 4 คดีก่อนหน้านี้ แต่การดำเนินคดีก็เกิดขึ้นเพียงกรณีเดียว ทั้งที่ก็มีผู้แชร์รายงานข่าวดังกล่าวจำนวนมาก และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในทางคดีกับบีบีซีไทยแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ราวตั้งแต่วันที่ 5 ..เป็นต้นมา ก็เริ่มมีรายงานว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์เรียกให้ไปพบ หรือบางรายก็ถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบถึงที่บ้านโดยตรง โดยแจ้งเพียงว่าบุคคลเหล่านั้นได้กดไลค์ หรือกดติดตามเฟซบุ๊ก ที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ บางคนก็ทราบเพียงเท่านี้ แต่บางคนก็ได้ทราบว่าตนเองถูกเรียกเพราะไปกดไลค์โพสต์บางโพสต์ หรือเพราะไปกดติดตามเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การขยายพรมแดนการคุกคาม

จากข้อมูลของศูนย์ทนายสิทธิฯ ก่อนหน้านี้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือมาตรา 112 จากการใช้โซเชียลมีเดีย ยังค่อนข้างจำกัดอยู่จากการกระทำในการโพสต์หรือเขียนสเตตัสเองโดยตรง มีเพียงกรณีเดียวที่มีการดำเนินคดีจากการกดไลค์แฟนเพจคือกรณีของฐนกร หรือคดีที่เรียกกันว่า “หมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง” โดยนอกจากเรื่องนี้แล้ว ฐนกรยังถูกฟ้องว่ากระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งซึ่งไม่ถูกพูดถึงนัก คือการเข้าไปกดไลค์โพสต์ของแฟนเพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 โดยที่ฐนกรเองก็ไม่ได้เป็นผู้โพสต์เองหรือเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวแต่อย่างใด หลังจากนั้น เท่าที่ทราบ ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีจากการกดไลค์แฟนเพจหรือไลค์โพสต์อีก

แม้ในช่วงที่ผ่านมาบุคลากรของหน่วยงานรัฐยังมีการใช้วิธีการนอกกระบวนการยุติธรรม ต่อผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการเข้าไปคุกคามต่อครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นด้วย เช่น ในกรณีของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ ที่ไม่เพียงมีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้าน แต่ยังมีเจ้าหน้าที่จากกองปราบปรามเดินทางไปพบครอบครัว หรือกรณีเจ้าหน้าที่จากกองปราบเดินทางไปพบครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศของชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในต่างประเทศ แต่โพสต์เนื้อหาที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊ก โดยทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามให้ครอบครัวเตือนลูกชายให้หยุดแสดงความคิดเห็น

แต่ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปติดตามตัวบุคคลที่กดไลค์หรือกดติดตามเฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยยังไม่ได้มีการดำเนินคดี ก็เริ่มปรากฏขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้รับรายงานว่าในช่วงกลางเดือนพ..59 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เรียกตัวให้ไปพบ เนื่องจากได้ไปกดไลค์โพสต์ของผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายหนึ่งตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนก..59 เจ้าหน้าที่ได้มีการทำบันทึกการซักถาม โดยมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัว และสาเหตุการไปกดไลค์ แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด ก่อนที่การดำเนินการลักษณะดังกล่าวจะเกิดมากขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

ผู้ถูกติดตามตัวหลายสิบราย และอาจถึงหลักร้อย

จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถบอกจำนวนบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวหรือเข้าไปพบที่บ้านในลักษณะนี้ได้แน่ชัดว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด จำนวนเท่าที่ทราบในขณะนี้มีอย่างน้อย 7 ราย โดยเป็นการติดต่อแจ้งเรื่องมาที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ จำนวน 5 ราย และทราบเพิ่มเติมจากรายงานข่าวของประชาไทก่อนหน้านี้อีก 2 ราย บุคคลที่ถูกเรียกตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างจังหวัด

หลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าคุกคามดังกล่าว ยังไม่ใช่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว หรือ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามมาก่อนหน้านี้ ทั้งไม่เคยเป็นผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายใด แต่เป็นเพียงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไป ที่เข้าไปกดติดตามเพจการเมืองบางเพจเท่านั้น โดยที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของบุคคลนั้นมีการใช้ชื่อนามสกุลจริงทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วย ทำให้เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มีการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากชื่อสกุลดังกล่าว

อีกทั้ง จากคำบอกเล่าของบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวและไปพบ 2 ราย ระบุตรงกันว่าตำรวจที่ทำการซักถามเล่าให้ฟังว่า นอกจากพวกเขา 2 คนแล้ว ยังมีคนอื่นๆ ที่กำลังถูกเรียกหรือเจ้าหน้าที่จะไปพบในลักษณะเดียวกันนี้อีกมาก เช่น ในกรุงเทพฯ เฉพาะวันที่ 6 .. เจ้าหน้าที่ได้มีการพยายามเรียกบุคคลเข้าพบถึง 20 ราย หรือในพื้นที่ภาคเหนือก็ยังมีอีกอย่างน้อย 2 ราย โดยรายหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไปพบแล้ว ส่วนอีกคนยังติดตามตัวไม่เจอ ทำให้เป็นไปได้ว่าในเดือนที่ผ่านมามีประชาชนหรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกหลายสิบคน หรืออาจถึงหลักร้อย ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามโดยที่ไม่เป็นที่รับรู้รับทราบในทางสาธารณะแต่อย่างใด

บทบาทใหม่ของเจ้าหน้าที่กองปราบ และคำถามเรื่องการใช้อำนาจ

ก่อนหน้านี้หลังรัฐประหาร รูปแบบการติดตามตัวหรือเรียกรายงานตัว ที่ทางคสช.เรียกว่า “ปรับทัศนคติ” เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหารมีบทบาทหลัก ช่วงแรกๆ เป็นการเรียกตัวเข้าไปพูดคุยภายในค่ายทหาร หรือเดินทางไปติดตามตัวถึงที่บ้านของบุคคลนั้น โดยเน้นบุคคลที่เป็นแกนนำกลุ่มต่างๆ หรือผู้มีบทบาทนำมวลชน แต่รูปแบบการติดตามตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เกิดขึ้นโดยหน่วยที่มีบทบาทมากที่สุด ได้แก่ “กองบังคับการปราบปราม” หรือ “กองปราบ” ซึ่งเป็นหน่วยงานของตำรวจภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้บทบาทของกองปราบฯ ในคดีมาตรา 112 จะเป็นลักษณะจับกุมดำเนินคดีมากกว่า

การติดตามตัวที่พบในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีสองรูปแบบหลัก คือการที่เจ้าหน้าที่กองปราบปราม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เดินทางไปพบที่บ้านของบุคคลที่ติดตามตัวโดยตรง โดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าถึงการเข้าไปพบ อีกรูปแบบหนึ่งคือการโทรศัพท์ติดต่อเรียกตัวบุคคลให้ไปพบที่กองบังคับการปราบปรามในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัด ก็จะมีการให้เรียกให้ไปพบยังสถานีตำรวจตามท้องที่ต่างๆ แทน โดยระบุว่าบุคคลนั้นได้ไปกดไลค์กดแชร์เฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงอยากให้เข้าไปพูดคุย

การเข้าติดตามตัวหรือเรียกตัวของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด โดยทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และฉบับที่ 13/2559 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้กล่าวอ้างในการเรียกตัวหรือเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ มาก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าดำเนินการใดเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งกรณีที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีหมายค้น หมายเรียก หรือหมายจับใดๆ เป็นหนังสือ มาแสดงต่อผู้ที่ถูกติดตามตัว ตามมาตรา 51 และมาตรา 52 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การกระทำที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

กองปราบ-417x300

เจ้าหน้าที่ทำบันทึกการซักถาม ก่อนให้อัดวีดีโอกล่าวถึงความจงรักภักดี

ในส่วนรูปแบบการพูดคุยของเจ้าหน้าที่เท่าที่พบ ได้มีการพยายามสอบถามบุคคลที่ถูกติดตามตัวว่าได้ไปกดไลค์ กดติดตาม หรือกดแชร์เฟซบุ๊กของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางราย โดยเฉพาะของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จริงหรือไม่ พร้อมทั้งสอบถามถึงสาเหตุในการไปกดไลค์หรือกดติดตามดังกล่าว บางรายเจ้าหน้าที่มีการปริ้นท์ภาพแคปหน้าจอโพสต์ที่ไปกดไลค์มาให้ดู บางรายยังมีการขอตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีการแสดงหมายค้นใดๆ บางรายยังถูกขอให้กดยกเลิกการติดตาม (Unfollow) เพจใดเพจหนึ่ง ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่าได้กดยกเลิกติดตามจริงๆ

หลังการสอบถาม เจ้าหน้าที่ยังได้มีการทำบันทึกการซักถาม โดยบันทึกถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกติดตามตัว การกระทำที่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตาม รวมถึงทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเจ้าหน้าที่จะให้ตรวจดูและลงลายมือชื่อไว้ คล้ายคลึงกับการทำบันทึกคำให้การในคดี แต่กรณีเหล่านี้ไม่ได้เป็นการดำเนินคดีแต่อย่างใด ในบันทึกการซักถามก็ไม่ได้อ้างอิงถึงข้อกฎหมายใด จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจใดในการทำบันทึกการซักถามดังกล่าว

นอกจากนั้น ผู้ถูกติดตามตัวบางรายยังถูกเจ้าหน้าที่ขอให้พูดต่อหน้ากล้องวีดีโอ เริ่มจากกล่าวแนะนำตัว แล้วตามด้วยกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณว่ามีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือกล่าวถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ตนเองรับรู้ ราว 2-3 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายวีดีโอให้ แต่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าจะนำวีดีโอดังกล่าวไปทำอะไรบ้าง

ผู้ถูกติดตามตัวบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ทราบรายละเอียดส่วนตัวบางประการ นอกจากเพียงแค่ชื่อนามสกุลและที่อยู่ปกติ เช่น ทราบถึงที่อยู่ของหอพัก หรือทราบถึงชื่อเล่นของตน จึงเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มีการสอดส่องในโลกออนไลน์อยู่ก่อนแล้ว

จากการควบคุมสิ่งที่ “เขียน” สู่การปิดกั้นสิ่งที่ “อ่าน”

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกจากจะชี้ให้เห็นการขยายพรมแดนของกลุ่มบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัว ไปสู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เพียงแค่เข้าไปกดไลค์กดติดตามเฟซบุ๊กการเมือง ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐในการเข้าไปควบคุมในระดับปัจเจกบุคคลว่าอะไรคือสิ่งที่รัฐ “อนุญาต” ให้ “อ่าน” ได้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวของพลเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีก

เดิมนั้นรัฐบาลทหารพยายามจัดการพื้นที่ออนไลน์ โดยพยายามควบคุมว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนจะ “เขียน” หรือแสดงออกทางการเมืองได้ ทั้งโดยการจับกุมดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ และการเรียกตัวไปพูดคุยจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่การดำเนินการติดตามตัวบุคคลที่กดไลค์กดติดตามเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น และพยายามให้เลิกกดติดตามนั้น กลับสะท้อนถึงการพยายามควบคุมการ “อ่าน” เนื้อหาในสังคมออนไลน์ของพลเมือง ไม่ใช่เพียง “การเขียน” หรือการโพสต์อีกต่อไป โดยที่การกดไลค์หรือกดติดตามเอง ก็มีความหมายได้หลากหลาย ทั้งอาจหมายถึงการกดไลค์ไว้โดยที่ยังไม่ได้อ่าน การกดไลค์ว่าได้อ่านแล้ว แม้จะไม่เห็นด้วยกับผู้โพสต์ หรือการเข้าไปกดติดตาม เพราะอยากทราบถึงความคิดเห็นของคู่ขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น

สิ่งที่ตามมาจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ คือความหวาดกลัวของผู้ที่ถูกคุกคามโดยตรง และส่งผลโดยอ้อมต่อสังคม คือทำให้คนที่กดไลค์หรือกดติดตามคนอื่นๆ เกิดความหวาดกลัวขึ้นเช่นกัน แม้กระทั่งในการที่จะกดติดตามบุคคลใดที่มีการแสดงออกแบบสาธารณะบนสื่อสังคมออนไลน์

ในทางตรงกันข้ามก็สะท้อนให้เห็นว่า “สื่อออนไลน์” ยังเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาและความคิดเห็นของพลเมืองได้เหมือนกับในสื่อประเภทอื่นๆ ที่การควบคุมเซ็นเซอร์เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า จนแม้แต่การกดไลค์กดติดตาม ยังกลายไปเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามเข้ามาควบคุม อีกทั้ง ยังดูจะสะท้อน “ความอ่อนแอของรัฐ” ในขณะนี้เอง ที่ “การเขียน” แสดงความคิดเห็น และ “การอ่าน” ผ่านการกดไลค์กดติดตามเฟซบุ๊ก ถูกทำให้กลายไปเป็นเรื่องของ “ความมั่นคงของรัฐ” ไปเสียหมด

อ่านเพิ่มเติม

กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม: คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกเรียกตัวไปซักถาม

1 เดือนหลังการสวรรคต: ประมวลสถานการณ์ความขัดแย้งและการดำเนินคดีมาตรา 112

คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (สำนักข่าวประชาไท)

X