ศาลขอนแก่นสั่งฝากขังผัด5 ต่อ ขณะ “ไผ่” ให้ทนายวอล์คเอาท์จากห้อง ค้านกระบวนพิจารณาลับ

20 ม.ค.60 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น หลังจากครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4 ในคดีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีไทย โดยทนายความของจตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อไปไว้ และได้ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังต่อหน้าผู้ต้องหา ศาลจึงได้มีการเบิกตัวนายจตุภัทร์มาศาลในวันนี้

2

(ภาพประกอบจากเพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

พนักงานสอบสวนขอฝากขังผัด 5 ต่อ ขณะทนายยื่นคัดค้าน

ด้วยเหตุที่การไต่สวนฝากขัง 2 ครั้งที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้การพิจารณาเป็นการลับ ทำให้ในวันนี้ทางทนายความได้ยื่นคัดค้านการพิจารณาลับไว้ด้วย โดยยืนยันว่าแม้ศาลจะอ้างอำนาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 177 แต่มาตรา 177 ระบุเหตุที่ศาลจะสั่งให้พิจารณาลับไว้เพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อป้องกันความลับไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน แต่การไต่สวนคำร้องขอฝากขัง เป็นเพียงขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี ที่ผู้ต้องหาใช้สิทธิคัดค้านเรื่องความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหา จึงไม่เกี่ยวกับเหตุดังกล่าวที่ศาลจะใช้อำนาจสั่งให้พิจารณาลับได้

ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอฝากขังผู้ต้องหาอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.- 1 ก.พ.60 โดยระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาตลอด หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยระบุว่าจากการประชุมสรุปพยานหลักฐานของหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 4 พบว่ายังมีพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติม เช่น พยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และพยานจับกุม

ด้าน ทนายของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังดังกล่าว โดยระบุถึงเหตุที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน โดยสรุปได้แก่

1. ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการฟ้องคดีแต่อย่างใด อีกทั้งที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างว่าผู้ต้องหามีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการสอบสวนนั้น เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย เพราะพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนจะสอบเป็นพยานนั้นล้วนมีตำแหน่งหน้าที่การงานน่าเชื่อถือ และมีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จึงเป็นไปไม่ได้ที่การแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาจะมีอิทธิพลเหนือพยานบุคคลจนเป็นอุปสรรคของการสอบสวนได้

2. แม้ผู้ต้องหาจะถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่คดีความผิดเช่นเดียวกันนี้ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หลายกรณี ซึ่งคดีนี้ผู้ต้องหาเพียงแชร์ข่าวจากเว็บไซด์ข่าวบีบีซี ไม่ใช่การแสดงความเห็นด้วยตนเองและไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรง อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาในทางสื่อออนไลน์ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ หรือไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะกระทำผิดในคดีนี้ซ้ำแต่อย่างใด การนำมาเป็นเหตุในการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยปราศจากอิสรภาพ จะเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหาจนเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

3. ผู้ต้องหาไม่เคยถูกกล่าวหาหรือกระความผิดอาญาใดๆ มาก่อน อีกทั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย และมีความจำเป็นต้องศึกษาต่อให้จบ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและตัดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ผู้ต้องหาต้องได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ทั้งที่ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งในทางกฎหมายผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์กระทำความผิดที่เป็นอาชญากรก่อให้เกิดภยันตรายต่อผู้อื่นและสังคม

ขณะเดียวกันคำร้องยังได้แนบจดหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การสหประชาชาติ ที่ระบุถึงการแสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน และการเพิกถอนสัญญาประกันตัวของนายจตุภัทร์ด้วย ประกอบการคัดค้านฝากขังในครั้งนี้ด้วย

1

(ภาพประกอบจากเพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

 

ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ขณะ “ไผ่” ให้ทนายออกจากห้องด้วย ยืนยันกระบวนการไม่เป็นธรรม

จนเวลา 10.00 น. ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้มีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยขอให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา ยกเว้นตัวผู้ต้องหา บิดามารดา และทนายความ

ทนายความจึงได้แถลงว่า ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาลับ เนื่องจากไม่ได้เป็นกรณีที่เป็นเนื้อหาคดี แม้จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์หรือไม่ก็ตาม ขั้นตอนนี้ยังเป็นแค่ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าจะฝากขังหรือไม่ การพิจารณาโดยเปิดเผยจะเป็นหลักประกันเสรีภาพของผู้ต้องหา โดยที่ผ่านมาเป็นที่ชัดเจนว่าการขอฝากขัง 4 ครั้ง ที่ผ่านมาของผู้ร้อง ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคดี เป็นลักษณะการมาเบิกความว่าเหลือการสอบสวนพยานอีกกี่ปาก ขณะที่ในครั้งนี้ ยังมีคณาจารย์มาจากกรุงเทพ สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ ทุกคนมาเพราะความศรัทธาในศาล เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งโดยหลักการต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

จากนั้น ศาลได้ขอพักการพิจารณาเพื่อไปปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ราว 5 นาที ก่อนจะกลับมายืนยันคำสั่งพิจารณาคดีลับ โดยชี้แจงว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเป็นคดีที่มีโทษสูง จึงจำเป็นต้องสั่งพิจารณาลับ อีกทั้ง ศาลดำเนินการไต่สวนตามคำร้อง และพิจารณาตามหลักฐาน แม้จะพิจารณาลับ ศาลก็ยังให้สิทธิความเท่าเทียม พิจารณาตามหลักฐาน ไม่ได้กระทบสิทธิหรือเป็นโทษต่อผู้ต้องหา ทั้งได้ให้บิดามารดาเข้าร่วมการพิจารณา และให้มีทนายความเต็มที่ โดยที่คำสั่งศาล ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ ศาลจึงยืนยันตามคำสั่งเดิม

ขณะที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหา ได้แถลงต่อศาลว่าเมื่อศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตนจึงขอไม่ให้มีทนายความอยู่ในห้องพิจารณา เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทนายความ ตนก็ไม่ได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผยอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการให้มารองรับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องเช่นนี้ และยืนยันว่าจะไม่ลงนามในเอกสารใดๆ ในกระบวนการวันนี้

จากนั้นทีมทนายความจึงได้ออกจากห้องพิจารณาตามความตั้งใจของผู้ต้องหา และศาลให้เริ่มการไต่สวนฝากขัง โดยมีเพียงบิดาของผู้ต้องหาอยู่ในห้องพิจารณา

 

ศาลอนุญาตฝากขัง “ไผ่” ต่อ อีก 12 วัน ฝ่ายผู้ต้องหาปฏิเสธลงลายมือชื่อในเอกสาร

ต่อมาศาลได้ไต่สวนคำร้องแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 11.10 น. กระทั่งเวลาประมาณ 12.20 น. ศาลจึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอฝากขังได้อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคหก อีกทั้งคดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ร้องย่อมต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทุกชนิด เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา เมื่อผู้ร้องยืนยันว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ อีกทั้งยังต้องส่งเสนอสำนวนต่อคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตำรวจภูธรภาค 4 และยังต้องนำเสนอสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อมีความเห็นทางคดีต่อไป จึงมีเหตุจำเป็นที่ผู้ร้องต้องฝากขังต่อไป

ศาลยังได้สอบถามทนายความให้ลงลายมือชื่อในกระบวนการพิจารณา แต่ทนายความได้ระบุว่าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เพราะได้เดินออกมาจากห้องพิจารณาแล้ว ไม่ได้รับทราบกระบวนการพิจารณาที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถลงลายมือชื่อเพื่อรองรับได้ ทางผู้ต้องหาเองก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อในกระบวนการพิจารณาเช่นกัน

สำหรับบรรยากาศที่ศาลจังหวัดขอนแก่นวันนี้ มีนักกิจกรรม นักศึกษา และอาจารย์ มาให้กำลังใจนายจตุภัทร์ที่ศาล ราว 40 คน อาทิเช่นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนและปัญญาชนสาธารณะ, ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีเจ้าหน้าที่ทหารมาสังเกตการณ์โดยรอบศาล นำโดยพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี สังกัดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นนายทหารที่เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีนี้กับนายจตุภัทร์ด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม

45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย
กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59
รัฐพูดเรื่องจัดสอบให้ ‘ไผ่’ ไม่ตรงกัน ทนายชี้ไม่มีหลักประกันสิทธิ ด้านยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลทบทวนการควบคุมตัวในคดี 112 และให้ ‘ไผ่’ เข้าสอบตามกำหนด

X