รายงานพิเศษ: เมื่อศาลไทยตีความกติกา ICCPR รองรับประกาศ-คำสั่งคสช.

ประเด็นปัญหาหนึ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ชุด ICCPR ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย ก่อนหน้าการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้แก่ ประเด็นการบังคับใช้ ICCPR โดยองค์กรรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าศาลในประเทศไทยได้นำข้อบทของกติกา ICCPR มาใช้ในการตีความกฎหมายภายในประเทศหรือไม่ และอย่างไร

รัฐบาลไทยได้จัดส่งคำตอบต่อประเด็นคำถามดังกล่าว โดยระบุว่าแม้จะไม่ได้เป็นประเพณีในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมในไทยที่จะบังคับใช้กติการะหว่างประเทศต่างๆ โดยตรง แต่โดยพื้นฐาน หลักการทางสิทธิมนุษยชนใน ICCPR ได้รับการสนับสนุนและพิจารณาโดยศาล  โดยได้มีการยกตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสองกรณี ในปี 2555 และ 2556 ได้แก่ และคำวินิจฉัยกรณีพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ที่มีการอ้างอิงถึงหลักการที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามข้อ 14 (2) ของ ICCPR และคำวินิจฉัยเกี่ยวกับพ.ร.บ.ความร่วมมือในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่มีการอ้างอิงถึงหลักการต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย ตามข้อ 14 (3) ของ ICCPR  (ดูในรายงาน)

“คำตอบ” ดังกล่าวไม่มีการกล่าวในส่วนใดถึงสถานการณ์การตีความการบังคับใช้กติกา ICCPR ของศาล ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะคำวินิจฉัยจำนวนมากของศาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีแนวโน้มจะตีความรองรับการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่จำกัด สร้างสภาวะตรวจสอบการใช้อำนาจไม่ได้ และไม่ได้คุ้มครองสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด รายงานชิ้นนี้จะพาไปทบทวนว่าศาลไทยในบริบทหลังการรัฐประหาร ตีความการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างไร และก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง

หลักการในการขอ “งดเว้น” สิทธิตาม ICCPR

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากรัฐใดเข้าเป็นภาคีแล้ว มีหน้าที่จะต้องเคารพและยอมรับสิทธิขั้นพื้นต่างๆ ของบุคคลที่ปรากฎในกติกาฯ  โดยไม่ใช้มาตรการหรืออำนาจรัฐไปจำกัดและงดเว้นสิทธิต่างๆ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในกติกาฯ

การงดเว้นสิทธิ (Derogation) ตามกติกาฯ นั้น รัฐจะกระทำก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะที่มีภัยร้ายแรงที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐเท่านั้น และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในเชิงกระบวนการและเชิงเนื้อหา โดยในเชิงกระบวนการ อันดับแรก จะต้องมีภาวะฉุกเฉินสาธารณะ (Public emergency) ที่มีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงชั่วคราวที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐเกิดขึ้น อันดับต่อมา รัฐที่เป็นสมาชิกหรือภาคีกติกาฯ จะแจ้งว่ามีการประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณะ เหตุผลที่จะงดเว้นสิทธิและสิทธิที่จะงดเว้นไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อให้แจ้งไปยังรัฐภาคีอื่นๆ

ส่วนเงื่อนไขในเชิงเนื้อหา ประการแรก รัฐไม่สามารถงดเว้นสิทธิตามข้อ 6 สิทธิในชีวิต, ข้อ 7 สิทธิที่จะไม่ถูกซ้อมทรมาน, ข้อ 8 วรรค1, 2 สิทธิที่จะไม่ถูกเอาตัวเป็นทาส, ข้อ 11 สิทธิจะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่ชำระหนี้, ข้อ 15 ไม่มีความผิด โดยไม่มีกฎหมาย, ข้อ 16 สิทธิที่จะได้ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และข้อ 18 สิทธิในมโนสำนึก (ข้อ 4 (2) ใน ICCPR)

นอกจากนี้ ในความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลำดับที่ 29 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 เรื่องการของดเว้นสิทธิตาม ICCPR ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังระบุอีกว่า แม้ในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินสาธารณะ รัฐก็ไม่สามารถงดเว้นสิทธิตามข้อ 14 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนสิทธิที่จะได้รับสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิที่จะได้รับพิจาณาคดีไม่ล่าช้า และสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบได้

ประการที่สอง มาตรการที่ใช้งดเว้นสิทธิที่สามารถงดเว้นได้จะต้องสอดคล้องกับหลักจำเป็นและได้สัดส่วน ต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา และเผ่าพันธุ์ของชาติ ไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นๆ  (ข้อ 4 (1) ใน ICCPR)

และประการที่สาม บุคคลที่ถูกกระทบสิทธิจากมาตรการการงดเว้นสิทธิของรัฐ ต้องสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ (ข้อ 2 ใน ICCPR)

 

ภาวะหลังรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557: ความขัดแย้งระหว่างสิทธิ กับการให้อำนาจรัฐ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่คสช.ประกาศใช้หลังการรัฐประหารนั้น มีสองมิติที่ย้อนแย้งกัน ในด้านหนึ่งก็มีมาตรา 4 ที่เขียนรับรองสิทธิของประชาชน ทั้งสิทธิได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว และเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตามกติกา ICCPR แล้ว จึงต้องถือว่าสิทธิที่มีอยู่ในกติกาฯ ดังกล่าว เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญทันที

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ปรากฏบทบัญญัติในมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช. ออกคำสั่ง ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการได้ รวมถึงให้คำสั่งดังกล่าวและการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในมาตรา 47 ก็รับรองความชอบด้วยกฎหมาย ให้คำสั่งและประกาศคสช. ที่มีการสั่งไว้ก่อนคณะรัฐมนตรีเข้าทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ในทำนองเดียวกันกับมาตรา 44  รวมทั้งในมาตรา 48 เอง ก็กำหนดนิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

คำถามสำคัญคือน้ำหนักของบทบัญญัติทั้งสองประเภท ประเภทใดมีสถานะสูงกว่ากันระหว่างบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของประชาชน หรือบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจ โดยคำตอบต่อคำถามดังกล่าว อาจพบได้ในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลต่างๆ ที่มีต่อการใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่งของคสช. ซึ่งพบว่าศาลมีแนวโน้มจะตีความให้บทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐมีสถานะสูงกว่า ทั้งทำให้บทบัญญัติเรื่องสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปโดยปริยาย

 

การตีความการบังคับใช้กติกา ICCPR โดยศาลไทย หลังรัฐประหาร

ภายหลังรัฐประหาร มีคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับผิดชอบจำนวน 11 คดี และยังพบคดีที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อีกจำนวน 1 คดี ที่มีการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งหรือประกาศคสช. และขอให้ศาลวินิจฉัยด้วยว่าประกาศและคำสั่งของคสช.ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) หรือไม่

ผลของคำสั่งศาลต่อกรณีต่างๆ ทั้ง 12 กรณีดังกล่าว หากพิจารณาลักษณะการปรับใช้กติกา ICCPR โดยศาล อาจสามารถแบ่งลักษณะได้ออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีศาลตีความให้สิทธิตาม ICCPR ถูกงดเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับคำสั่ง-ประกาศคสช. และ 2) กรณีศาลตีความไม่ปรับใช้กติกา ICCPR เพื่อปฏิเสธการตรวจสอบการใช้อำนาจตามคำสั่ง-ประกาศคสช.  โดยทั้งสองกรณีมีการตีความกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อหลักนิติรัฐ หรือแม้กระทั่งละเมิดสิทธิของประชาชนและกติกา ICCPR เอง แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1) กรณีศาลตีความให้สิทธิตาม ICCPR ถูกงดเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับคำสั่ง-ประกาศคสช.

คำสั่งศาลที่กระทบต่อหลักการการใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับสิทธิของประชาชน

ในคดีของนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ได้มีการยื่นโต้แย้งว่าคดีของตนไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร โดยโต้แย้งว่าศาลทหารเป็น “องค์กรตุลาการ” ที่ไม่เป็นอิสระและไม่มีความเป็นกลาง รวมถึงไม่สามารถอุทธรณ์ให้มีการทบทวนคำพิพากษาโดยศาลในระดับที่เหนือขึ้นไปได้ ขัดต่อข้อ 14 (1) และ (5) ของ ICCPR แต่ปรากฏว่าความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 1/2559 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2559 ศาลอาญาได้มีความเห็นต่อข้อโต้แย้งของนายพันธ์ศักดิ์ดังกล่าว โดยสังเขปเห็นว่า

เมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งข้อ 4 กำหนดว่ารัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณี ข้อ 14 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะ เมื่อประเทศไทยได้มีหนังสือถึงสหประชาชาติแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้รับรองให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ย่อมมีผลบังคับใช้

ตามความเห็นดังกล่าว ศาลอาญาได้นำเรื่องการงดเว้นสิทธิตาม ICCPR มาปรับใช้ในการงดเว้นสิทธิตามข้อ 14 เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยได้มีการประกาศกฎอัยการศึกและแจ้งว่าจะงดเว้นสิทธิตามเงื่อนไขในเชิงกระบวนการแล้ว

แต่ข้อสังเกตประการหนึ่งที่สำคัญต่อความเห็นของศาลอาญา คือ ตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลำดับที่ 29 ดังกล่าวข้างต้น ได้ระบุว่า แม้ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะ รัฐก็ไม่สามารถงดเว้นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสิทธิที่จำเลยจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิที่จะได้รับพิจาณาคดีไม่ล่าช้า และสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ  การปรับใช้การงดเว้นสิทธิตามกติกา ICCPR ของศาลอาญาดังกล่าว จึงนับได้ว่ามีลักษณะผิดเงื่อนไขในเชิงเนื้อหา

นอกจากนี้ ผลของความเห็นดังกล่าวยังได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนกับบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้อำนาจรัฐในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย กล่าวคือส่งผลให้การใช้อำนาจของคสช. ไม่ว่าจะสอดคล้องกับสิทธิของประชาชนตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม ย่อมสามารถบังคับใช้ได้ และการอ้างอิงไปยังมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้คำสั่งและประกาศของคสช. ทั้งหมดได้รับการรับรองให้เป็นที่สุด ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอไป

ความเห็นในทำนองเดียวกันนี้ ถูกปรับใช้โดยศาลทหารในอีกหลายกรณี เมื่อจำเลยในคดีต่างๆ ได้มีการยื่นคำร้องผ่านศาลทหาร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศของคสช. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนอกจากศาลทหารจะอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลทหารส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงทำให้มีคำสั่งยกคำร้องทุกกรณี จำนวนอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่ คดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หมายเลขดำที่ 24ก./2557, คดีนางสาวจิตรา คชเดช หมายเลขดำที่ 28ก./2557, คดีกลุ่มนักเคลื่อนไหว “พลเมืองโต้กลับ” หมายเลขดำที่ 164ก./2558, คดีนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หมายเลขดำที่ 174ก./2558 และคดีนัชชา กองอุดม หมายเลขดำที่ 86/2558

ศาลทหารกรุงเทพยังได้วินิจฉัยในคำสั่งด้วยว่าประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ซึ่งให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนได้ในบางข้อหานั้น ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อ 14 ของกติกา ICCPR เนื่องจากประเทศไทยได้มีการงดเว้นพันธกรณีไว้ในขณะที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญได้รับรองความชอบด้วยกฎหมายให้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นในคำสั่งที่ 1/2559 ฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ในคดีของนัชชา กองอุดม ศาลทหารกรุงเทพ ระบุว่า

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยึดอำนาจสำเร็จ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จึงได้มีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกไปที่สหประชาชาติ เพื่อขอเลี่ยงการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) บางประการแล้ว ย่อมมีอำนาจออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนที่กระทำความผิดตามประกาศได้ ประกอบกับมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้รับรองให้บรรดาประกาศรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ออกในระหว่าง 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

2) กรณีศาลตีความไม่ปรับใช้กติกา ICCPR เพื่อปฏิเสธการตรวจสอบการใช้อำนาจตามคำสั่ง-ประกาศคสช. 

คำสั่งศาลที่กระทบต่อหลักการประชาชนต้องสามารถอาศัยสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้  และหลักการหากการใช้อำนาจรัฐก่อความเสียหายหรือฝ่าฝืนกฎหมาย รัฐจะต้องรับผิดจากการใช้อำนาจดังกล่าว

เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับสิทธิของประชาชนได้ ประชาชนของรัฐในฐานะประธานแห่งสิทธิ จะต้องมีสิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาล ให้ตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของรัฐชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้ แต่ปรากฏว่าภายหลังรัฐประหาร ศาลต่างๆ วินิจฉัยปฏิเสธสิทธิดังกล่าว ที่ประชาชนขอให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามประกาศหรือคำสั่งคสช.

อาทิเช่น กรณีนายวัฒนา เมืองสุข ได้ยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศคสช.ฉบับที่ 21/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ที่ห้ามบุคคลจำนวน 155 ราย รวมถึงนายวัฒนา เมืองสุข เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคสช. เนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อกติกา ICCPR ต่อศาลปกครอง แต่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง นายวัฒนาจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 617/2559 ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ไม่รับฟ้องดังกล่าว ยืนตามศาลปกครองกลาง โดยให้เหตุผลโดยสังเขป ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ให้เป็นโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ออกในระหว่าง 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด บทบัญญัติดังกล่าวจึงย่อมต้องผูกพันองค์กรศาล ให้ต้องพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ศาลปกครองจึงมิอาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น

คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ปรับใช้กติกา ICCPR และการอ้างมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในฟ้องร้องคดีต่อศาลให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของคสช. สิ้นผลลงในทันที  และนอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุดยังส่งผลให้ประเทศไทยละเมิดข้อ 2 ของกติกา ICCPR ที่ระบุว่าบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิจากมาตรการการงดเว้นสิทธิของรัฐ ต้องสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ และเป็นการลดฐานะของประชาชนเป็นวัตถุ ซึ่งรัฐจะใช้อำนาจกระทบต่อสิทธิอย่างไรก็ได้ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้เลย รวมถึงสร้างภาวะปลอดความรับผิดให้กับการใช้อำนาจของคสช. อีกด้วย

นอกจากนี้ การไม่ปรับใช้กติกา ICCPR ในทำนองเดียวกันนี้ ก็ถูกศาลอาญานำมาใช้ในการยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 โดยไม่ดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อาทิเช่น กรณีของนายธเนตร อนันตวงษ์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามหมายจับ แต่ไม่ได้ถูกนำตัวมาพบพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบโดยทันที นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งสิทธิใดๆ แก่นายธเนตร ประกอบกับถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 48 ชั่วโมงแล้ว นับตั้งแต่ควรถูกนำไปที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีการขออำนาจศาลฝากขังระหว่างสอบสวน ต่อมานายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในฐานะเพื่อนของนายธเนตร ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าการควบคุมตัวมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 และตามข้อ 9 ของ ICCPR  ต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำ ษ.99/2558 คดีหมายเลขแดง ษ.99/2558 ลงวันที่  17 ธันวาคม 2558 โดยให้ยกคำร้องดังกล่าว โดยสังเขประบุว่า

เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ควบคุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดตามประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 ได้ไม่เกิน 7 วัน ฉะนั้น การควบคุมตัวนายธเนตรจึงมิใช่การควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เช่นเดียวกับในกรณีการควบคุมตัวแปดแอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ที่ญาติมีการยื่นคำร้องต่อศาลเรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และตามข้อ 9 ของ ICCPR แต่ศาลอาญาได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลในลักษณะเดียวกันกับกรณีนายธเนตร การยกคำร้องดังกล่าวของศาลทำให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร และส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่ไม่สามารถร้องขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการคุมขังหรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (habeas corpus) ได้ ทั้งนี้สิทธิที่จะให้ศาลตรวจสอบการควบคุมตัวมิชอบถือเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมประการสำคัญที่รัฐไม่อาจงดได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด

 

ศาลไทยปฏิเสธการตรวจสอบอำนาจรัฐ?

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็ได้รับรองให้สิทธิที่ปรากฏในกติการะหว่างประเทศ มีสถานะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าภายหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีจำนวนอย่างน้อย 12 กรณี ที่ฝ่ายจำเลยได้มีการยื่นโต้แย้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามประกาศ-คำสั่งคสช. หรือโต้แย้งว่าประกาศ-คำสั่งคสช. ขัดแย้งกับสิทธิที่ปรากฏในกติกา ICCPR

แต่ปรากฏว่า ไม่ว่าผลจะปรากฏออกมาในรูปที่ศาลมีการออกคำสั่งที่กล่าวถึงหรือไม่กล่าวถึงการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศดังกล่าว ในสาระสำคัญไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าศาลบังคับใช้หรือตีความกติกา ICCPR ไปในทิศทางใด ก็ล้วนแล้วแต่มีลักษณะเป็นไปเพื่อยืนยันว่าบรรดาประกาศหรือคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งหรือประกาศคสช.ดังกล่าว ไม่สามารถถูกตรวจสอบและถูกจำกัดได้ หรือไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น  โดยเท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ ไม่ปรากฏคำสั่งของศาลใดๆ ที่มีเนื้อหาในลักษณะของการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจ คสช แม้ไทยจะเป็นภาคี ICCPR และอ้างว่ามีมาตรา 4 รับรองสิทธิตามที่ปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศ รวมถึงสิทธิต่างๆ ที่บัญญัติไว้ใน ICCPR ก็ตาม

 

อ่านเพิ่มเติม

บทสรุปการต่อสู้ของพลเรือนที่ไม่ยอมขึ้นศาลทหาร

เปิด “รายงานเงา” ศูนย์ทนายฯ-ICJ: ไทยกับการละเมิดสิทธิฯ ภายใต้กติกา ICCPR

เปิด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR ที่เจนีวา

10 ข้อควรรู้ ก่อนการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR ของไทย ที่นครเจนีวา

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

 

X