ความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. 5/60 ต่อวัดพระธรรมกาย (ตอนที่ 2)

ความเห็นกรณีการประกาศเเละการปฏบัติการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560

ต่อกรณีวัดพระธรรมกายเเละพระธัมมชโย

ฐานอำนาจที่ใช้ในการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.. 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยระบุให้ “วัดพระธรรมกาย” ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี1 เป็น “พื้นที่ควบคุม”2 ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ “พนักงานเจ้าหน้าที่”3โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department Special of Investigation หรือ DSI) เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคำสั่งฉบับดังกล่าว4

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า เเม้เหตุผลเเละความจำเป็นตามที่กล่าวอ้างไว้ในคำสั่งจะไม่ชัดว่าประสงค์จะบังคับเอากับพระธัมมชโย ซึ่งในขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเเละพวกในคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันเเละปราบปรามการฟอกเงิน5 เเต่ปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรวมถึงทหารเเละเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตลอดระยะเวลากว่าสามสิบวันแสดงให้เห็นว่า รัฐมุ่งดำเนินการกับบุคคลเฉพาะกลุ่มเเละเฉพาะพื้นที่อันนำมาสู่ผลที่มิอาจกล่าวได้ว่า ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองหรือรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมเเต่อย่างใด

ผลจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560

หากพิจารณาจากเนื้อหาคำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการควบคุมพื้นที่ทั้งที่รโหฐานเเละที่สาธารณะ ควบคุมบุคคล ควบคุมระบบสาธารณูปโภคและระบบการสื่อสาร รื้อถอน ทำลาย เคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกันตลอดทั้งสามารถจับกุมตัวบุคคลซึ่งกระทำความผิดอาญาซึ่งหน้า6 นำมาซึ่งเหตุในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบต่อทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันและต่อบุคคลทั่วไป เช่น

  • กำหนดให้ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรอบพื้นที่วัดพระธรรมกายมารายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเเละสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่นอย่างไม่มีกำหนด7
  • กำหนดให้พระสงฆ์ ผู้ดูเเลอาคารสถานที่ภายในวัดพระธรรมกาย ตลอดทั้งบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย มารายงานตัวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษตามคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/25608 ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวไม่มารายงานตัวตามวันเเละเวลาที่กำหนด ต้องถูกดำเนินคดีฐานขัดขวางหรือฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่9
  • ตรวจค้นยานพาหนะที่สัญจรผ่านทางเข้าออกวัดพระธรรมกาย10 ตรวจค้นพื้นที่ซึ่งถูกระบุให้เป็นพื้นที่ควบคุม11 จนเกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำรวจ ทหารเเละเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกว่า 4,000 นาย กับศิษย์วัดพระธรรมกายจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย12

ด้วยผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ในฐานะ “กฎหมาย” นับตั้งเเต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ..2560 ถึงวันที่ 10 มีนาคม พ..2560 มีผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวหรือให้ถ้อยคำต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเเล้วอย่างน้อย 316 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีเนื่องจากขัดขวางหรือฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่เเล้ว อย่างน้อย 45 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดอาญาฐานอื่นเเต่ด้วยเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติตามคำสั่งฉบับดังกล่าวอีกอย่างน้อย 3 กรณี13

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณานอกเหนือจากความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลข้างต้นเเล้ว ผลของการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ยังเป็นอีกหนึ่งข้ออ้างให้เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อละเมิดเเละจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมเเละนอกเหนือพื้นที่ควบคุมหลายประการ เช่น กำหนดมิให้ส่งอาหารและน้ำดื่มเข้าไปในวัดพระธรรมกาย จำกัดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารผ่านการห้ามมิให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวขณะเจ้าหน้าที่กำลังตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายและห้ามมิให้ช่องข่าว Voice TV เสนอรายการ Wake Up News เพราะเหตุมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่อกรณีวัดพระธรรมกาย14ตลอดทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตัดสัญญานโทรศัพท์เเละสัญญานอินเตอร์เนตในบริเวณดังกล่าว15

ยิ่งกว่าผลกระทบจากการปฏิบัติตามคำสั่งต่อทั้งบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเเละบุคคลทั่วไป ก็ยังปรากฏผลอันมิอาจคาดหมายได้จากการผู้ที่ต่อต้านการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เช่น มีชายซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกายผูกคอตายเพราะเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวต่อวัดพระธรรมกายไม่สำเร็จ16 หรือเเม้เเต่มีการดำเนินคดีกับเยาวชนอายุเพียง 14 ปีด้วยเพราะชูป้ายให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวเช่นกัน17 เป็นต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายในระยะเวลาเพียง 30 วัน นับเเต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 มีผลบังคับใช้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม บุคคลที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตลอดทั้งบุคคลทั่วไปจนมิอาจประเมินได้ ความเสียหายดังกล่าวแทบไม่ได้สัดส่วนกับความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีกับพระธัมมชโยด้วยกระบวนการ “พิเศษ” ตามมาตรา 44 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติได้อยู่เเล้ว เเละท้ายที่สุด กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดีได้ เพียงเเต่มีการถอดสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยอันมีผลเมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดที่จะชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติการตามคำสั่งฉบับดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 เพียงเเต่มีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ควบคุม เเละมีความเป็นได้ว่าจะมีการปฏิบัติการตามคำสั่งในพื้นที่เดิมอีก หรือเเม้เเต่ขยายขอบเขตเพื่อระบุพื้นที่ควบคุมอื่น18

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเเละคดีแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหารในปี 2557 เห็นว่าผลจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสชฉบับดังกล่าวเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของหัวหน้า คสชโดยตรง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนเหตุและผลในการประกาศใช้คำสั่ง โครงสร้างของคำสั่ง ผลการปฏิบัติตามคำสั่ง เเละการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำสั่งในฐานะ “กฎหมาย” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นดังต่อไปนี้

ความเห็นต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ทุกกรณีซึ่งมีผลเป็นการออกกฎหมาย วางนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติตามนโยบาย การเเทรกเเซงการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐเเละเอกชน เพราะด้วยฐานการใช้อำนาจที่มิชอบขัดต่อหลักการใช้อำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะหลักนิติรัฐ19 (Rule of Law) และเป็นการใช้อำนาจโดยบุคคลเดียวขัดต่อหลักการแยกอำนาจ อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าประชาชนมิใช่เจ้าของอำนาจที่เเท้จริงผู้ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพโดยบทบัญญัติกฎหมาย ท้ายที่สุด คำสั่งหัวหน้า คสชที่อาศัยฐานการออกตามมาตรา 44 จะนำไปสู่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจเเละสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้กับทั้งผู้ออกคำสั่งเเละผู้ปฏิบัติตามคำสั่งอีกด้วย

ด้วยเหตุความมิชอบของฐานในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอหยิบยกความบิดเบือนของเนื้อหาเเละผลของการปฏิบัติตามคำสั่งฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็น เหตุผลเเละความจำเป็นในการประกาศใช้ อำนาจเเละหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดให้ผู้ที่ขัดขวางหรือฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรับโทษทางอาญา เเละการยกเว้นมิให้มีการทบทวนความชอบด้วยกฎหมายต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 เนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ขัดกับหลักความมั่นคงเเน่นอนของกฏหมาย20

หากพิจารณาถึงภาพรวมของเนื้อหาในคำสั่งฉบับดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเเท้จริงเเล้วรัฐประสงค์ที่จะระบุขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการพิเศษเฉพาะในเขตพื้นที่วัดพระธรรมกายเเละบริเวณโดยรอบเท่านั้น เมื่อมีการใช้มาตรการพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางอาญาอีกทั้งยังกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่ขัดขวางหรือฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงถือได้ว่าคำสั่งนี้มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เมื่อคำสั่งฉบับดังกล่าวมิได้มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป หากเเต่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง คำสั่งนี้ในฐานะ “กฎหมาย” จึงขัดต่อหลักความมั่นคงเเน่นอนของกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยมิชอบ21 (Abuse of Legislative Power) อีกด้วย

ประเด็นที่ 2 มาตรการพิเศษตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ขัดกับหลักความได้สัดส่วนของกฎหมาย22

อกจากคำสั่งฉบับดังกล่าวจะกำหนดให้ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย(หรืออีกถ้อยคำหนึ่งคือการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560) จำกัดอยู่เพียงเขตพื้นที่วัดพระธรรมกายเเละบริเวณโดยรอบอันขัดต่อหลักความมั่นคงเเน่นอนของกฎหมายเเล้ว ในคำสั่งยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการพิเศษเพื่อดำเนินการภายในพื้นที่ควบคุมได้อีก เช่น ควบคุมการเข้าหรือออกพื้นที่ ควบคุมระบบสาธารณูปโภค เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น ค้นตัวบุคคลและพาหนะ รื้อถอนทําลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น และดําเนินการอื่นใดที่จำเป็นตามสมควรแก่กรณี เป็นต้น23

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ามาตรการพิเศษดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินกว่าจำเป็นและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างน้อย 6,000 คนภายในบริเวณพื้นที่ควบคุม ซึ่งมิใช่บุคคลหรือกลุ่มที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและมีหมายจับ24 หรือเเม้เเต่ตัวบุคคลซึ่งตกเป็นวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างพระธัมมชโยเอง ก็ยังไม่มีเหตุใดเเสดงให้เห็นความจำเป็นต้องใช้กระบวนการพิเศษตามมาตรา 44 หรือมาตรการพิเศษในรูปแบบคำสั่งหัวหน้า คสช.เเต่อย่างใด เนื้อหาของมาตรการพิเศษดังกล่าวจึงขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนที่เรียกร้องให้การใช้อำนาจของรัฐจะต้องดำเนินเป็นไปอย่างพอเหมาะพอประมาณ เเละท้ายที่สุดเเล้ว มาตรการพิเศษดังที่กล่าวมาก็มิใช่มาตรการหรือเครื่องมือที่เหมาะสมอันจะทำให้วัตถุประสงค์คือการนำตัวพระธัมมชโยเเละพวกมาดำเนินการตามกฎหมายลุล่วงไปได้อย่างชอบธรรม

ประเด็นที่ 3 การกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่ขัดขวางหรือฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย25

นอกจากสถานการณ์การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของพระธัมมชโยและพวกจะไม่ถึงขั้นต้องใช้กระบวนการพิเศษเเละมาตรการพิเศษตามที่กล่าวมาข้างต้นเเล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังมีความเห็นว่าการกำหนดโทษที่เจาะจงบังคับเอากับผู้ที่ขัดขวางหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/256026 นั้นเป็นการกำหนดฐานความผิดและโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น เนื่องด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 บัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาอยู่เเล้ว การกำหนดซ้ำซ้อนซึ่งความผิดเเละโทษทางอาญาที่สูงกว่ากฎหมายทั่วไป เเละมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพของบุคคลเพราะอ้างเหตุตามกฎหมาย ทำให้เนื้อหาในคำสั่งไม่มีความชอบที่จะเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชนอันขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน

ประเด็นที่ 4 การยกเว้นการทบทวนความชอบด้วยกฎหมายจากองค์กรตุลาการเเละการยกเว้นความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิด ( Impunity)

เเม้รัฐอาจคาดหมายได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายด้วยการออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสชตามกระบวนการพิเศษ เเละการใช้มาตรการพิเศษต่อบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมจะสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือการกระทำที่เกินกว่าเหตุของของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เเต่ตามข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 ยังกำหนดยกเว้นให้การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเเละกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองเเละวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันหมายความว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐบังคับเอากับบุคคลใดบุคคลหนึ่งกลับไม่ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น ซึ่งในสภาวะการณ์ปกติเเล้วสามารถตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกเช่น ศาล

นอกจากนี้ เนื้อหาในข้อ 8 ตามคำสั่งฉบับเดียวกันยังกำหนดให้นำมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ..2548 มาบังคับใช้ ฉะนั้น หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนี้ปฏิบัติการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ฉะนั้น เเม้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีการสนธิกำลังกันทั้งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตำรวจ ทหาร เเละฝ่ายปกครอง กระทำการอันใดจนเกิดความเสียหายต่อบุคคลใด บุคคลนั้นไม่สามารถฟ้องร้องพนักงานเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางอาญา หรือชดใช้ค่าเสียหายทางเเพ่ง หรือแม้แต่การร้องเรียนว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยต่อหน่วยงานต้นสังกัดก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน

ข้อเสนอแนะของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แม้ผลจากการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจะเเสดงให้เห็นเเล้วว่ากระทบต่อการใช้สิทธิเเละเสรีภาพของประชาชนอย่างมิอาจคาดหมายได้ ฐานอำนาจในการออกเเละเนื้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ที่ขัดกับหลักการใหญ่อย่างหลักนิติรัฐเเละหลักการย่อยของหลักนิติรัฐในประเด็นต่างๆ ตามรายละเอียดข้างต้นก็จะไม่ได้รับการทบทวนความชอบด้วยกฎหมาย เหตุเพราะมาตรา 44 รับรองให้คำสั่งรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญเเละเป็นที่สุด รวมทั้งเนื้อหาคำสั่งเองยังกำหนดยกเว้นการทบทวนความชอบด้วยกฎหมายจากองค์กรตุลาการ เเละยกเว้นความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิด ( Impunity) ของทั้งรัฐเเละเจ้าหน้าที่เองในที่สุด

ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ..2557  ทุกกรณี เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปกติสามารถดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ เคารพซึ่งหลักการแยกอำนาจอันจะทำให้การใช้อำนาจรัฐทุกกรณีสามารถตรวจสอบเเละถ่วงดุลได้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
.
.

หมายเหตุ – สามารถดาวน์โหลดไฟล์บทความได้ที่นี่ word และ PDF

.
.

เชิงอรรถ

1ดู ข้อ 9 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ 9 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสําหรับความผิดที่ได้มีการออกหมายตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ เมื่อคําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้วัดพระธรรมกาย ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายในอําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ในตําบลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 และหมู่ 11 ในตําบลคลองสาม อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุมตามคําสั่งนี้

2 ดู ข้อ 1 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ 1 ในคําสั่งนี้..

พื้นที่ควบคุม” หมายความว่า พื้นที่ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมพื้นที่เท่าที่จําเป็น เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อย่างมีประสิทธิภาพ..”

3ดู ข้อ 1 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ 1 ในคําสั่งนี้..

พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้าราชการตํารวจ ข้าราชการทหาร หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติการ ตามคําสั่งนี้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการร้องขอจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสนธิกําลัง หรือสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้…”

4ดู ข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ 4 ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคําสั่งน้ี และให้มีอํานาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ในกรณีจําเป็นอาจร้องขอให้พระสังฆาธิการ ผู้ปกครองสงฆ์ และภิกษุอื่นที่เกี่ยวข้อง อนุเคราะห์ให้ การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยเรียบร้อยตามกฎหมายและพระธรรมวินัยด้วยก็ได้

เมื่อได้รับการร้องขอตามวรรคหนึ่งแล้วให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับการร้องขอดําเนินการให้ เป็นไปตามคําร้องขอในทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กําหนด

5รายละเอียดปรากฏตาม http://thaipublica.org/2017/02/credit-unions-klongchan-115/

6ดู ข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามคําส่ังนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจ ดําเนินการภายในพื้นที่ควบคุม ดังต่อไปนี้

(1) ควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่

(2) สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กําหนด หรือสั่งให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทําใด ๆ อันเป็นการรบกวน หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

(3) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจน ส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด

(4) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดอาญาซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงาน สอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

(5) ดําเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนกําหนดมาตรการและดําเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย

(6) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ () รื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น () ดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นตามสมควรแก่กรณี

(7) รื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น

(8) ดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นตามสมควรแก่กรณี

7 ดู หนังสือด่วนเลขที่ ปท 0023.4/3240 จากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 คน พื้นที่รอบวัดธรรมกายมารายงานตัว เมื่อเข้ารายงานตัวก็มีคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่ ณ วิทยาลัยการปกครอง คลอง 6 .ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อย่างไม่มีกำหนด เพื่อไม่ให้ทั้ง 6 คนยุ่งเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกาย; รายละเอียดปรากฏตาม http://www.nationtv.tv/main/content/social/378537441/

8รายละเอียดปรากฏตาม http://news.thaipbs.or.th/content/260389

9ดู ข้อ 6 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 กำหนดว่า ข้อ ๖ ผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้ระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําท้ังปรับ

10 รายละเอียดปรากฏตาม http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9600000016155  

11 รายละเอียดปรากฏตาม http://www.bbc.com/thai/thailand-39000923

12 รายละเอียดปรากฏตาม http://www.thairath.co.th/content/862816

13รายละเอียดปรากฏตาม http://www.matichon.co.th/news/491382

14รายละเอียดปรากฏตาม http://www.matichon.co.th/news/484235

15รายละเอียดปรากฏตาม http://www.matichon.co.th/news/475072

16รายละเอียดปรากฏตาม http://www.bbc.com/thai/thailand-39092077

17รายละเอียดปรากฏตาม https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_256177

18รายละเอียดปรากฏตาม http://www.matichon.co.th/news/491382

19ดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน, (กรุงเทพมหานคร:โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2555), .170-176

20ดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อ้างเเล้ว เชิงอรรถที่ 19

21ดู วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, “หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองคู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง,(กรุงเทพมหานคร:สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2543),.145-152

22ดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อ้างเเล้ว เชิงอรรถที่ 19

23ดู ข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560, อ้างเเล้ว, เชิงอรรถที่ 6

24ดู แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้หยุดใช้มาตรา 44 และใช้กระบวนการยุติธรรมปกติกรณีวัดพระธรรมกาย; รายละเอียดปรากฏตาม https://tlhr2014.com/?p=3520

25ดู คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, (กรุงเทพมหานคร:สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร),.2

26 ดู ข้อ 6 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 5/2560 อ้างเเล้ว, เชิงอรรถที่ 9

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประมวลเหตุการณ์และผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 ต่อวัดพระธรรมกาย

ทหารปล่อย“สมบัติ ทองย้อย” เสื้อแดงสมุทรปราการแล้ว หลังควบคุมตัวกว่า 24 ชั่วโมง เหตุไปร่วมชุมนุมที่วัดธรรมกาย

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้หยุดใช้มาตรา 44 และใช้กระบวนการยุติธรรมปกติกรณีวัดพระธรรมกาย

44 MISSION IMPOSSIBLE: ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ ม.44 ทำไม่ได้?”

X