ความเห็นทางกฎหมายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเต็มพร้อมข้อเสนอ)

ความเห็นทางกฎหมายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเต็มพร้อมข้อเสนอ)

4
ความเห็นของศูนย์ทนายความต่อร่างรัฐธรรมนูญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการร่างที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่กลับถูกยกเลิกโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ในการคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้อยู่ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิเสรีภาพที่สุดเสนอให้องค์กรรัฐที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ้นสภาพลงทันทีรวมถึงประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดในฐานะสิ่งแปลกปลอมในระบบกฎหมายต้องถูกยกเลิกทั้งหมด ทั้งนี้ ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอว่าประชาชนที่ตระหนักถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติที่จะแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆที่สืบเนื่องจากรัฐประหารในวิธีทางที่เป็นไปโดยสันติ ไม่ว่าจะผ่านการไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญและเรียกร้องการให้มีการคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมถึงช่วยกันออกแบบกติกาประชาธิปไตยสำหรับประเทศต่อไป
X