7 นักศึกษา คดีละเมิดอำนาจศาล ยืนยันจัดกิจกรรมสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม

7 นักศึกษา คดีละเมิดอำนาจศาล ยืนยันจัดกิจกรรมสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม

กลุ่มนักศึกษาละเมิดอำนาจศาล ยืนยันจัดกิจกรรมให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” เพื่อแสดงจุดยืนและเพื่อสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไผ่ถูกกระทำตั้งแต่ ชั้นกระบวนการจับกุม ไม่ได้กล่าวละเมิดการทำงานของศาลแต่อย่างใด

คดีละเมิดอำนาจศาลของ 7 นักศึกษา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น กลุ่มนักกิจกรรมเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค จัดกิจกรรมบนฟุตบาท หน้าศาลจังหวัดขอนแก่น ให้กำลังใจและเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวออนไลน์บีบีซีไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ ) เหตุเพราะยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาและเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติที่จะดำเนินคดีบุคคลดังกล่าว

ภายหลังจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีนักศึกษาถูกดำเนินคดี 7 ราย ถูกกล่าวหาโดยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาล จังหวัดขอนแก่น ว่าเป็นกลุ่มบุคคลประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดในข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานในประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ในประเด็นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อิสระ ที่ให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยทั้งสามกลุ่มมีจุดยืนร่วมกันคือ การต่อต้านรัฐประหาร

จากการสัมภาษณ์ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ตัวแทนนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินได้เล่าถึงสาเหตุที่จัดกิจกรรมดังกล่าวว่า พวกเรามารวมตัวกันเนื่องจากพวกเรามีเพื่อนที่ทำกิจกรรมทางสังคมหลายกลุ่มกระจายตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็อยากที่จะมาเยี่ยมพี่ไผ่อยู่แล้วเราจึงเห็นว่าวันนั้นเป็นวันดีที่พวกเรานักศึกษา 4 ภาค จะมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจพี่ไผ่ เรามีกิจกรรมการอ่านกวีที่เพื่อนเราแต่งเพื่อให้กำลังใจพี่ไผ่ การอ่านแถลงการณ์เพื่อสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการทางกฎหมายในปัจจุบันและเพื่อสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ หลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนทางกฎหมายนั้นถูกทำให้บิดเบี้ยวไปจากตำราเรียนที่พวกผมได้เรียนมาตลอด 4 ปี เช่น กรณีคดี 14 นักศึกษาที่ขึ้นศาลทหารและถูกสั่งฝากขังตอนเที่ยงคืน หรือว่าการที่พี่ไผ่โดนจับกุมครั้งแรกของคดี 112 โดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้วถูกนำตัวไปที่ไหนก็ไม่รู้ นั้นถือว่าเป็นการการอุ้มหายอีกวิธีหนึ่ง แม้สุดท้ายจะรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะบอกที่ที่นำตัวพี่ไผ่ไปก็ตาม อีกทั้งการกระทำของพวกเรานั้นก็เป็นเพียงการให้กำลังใจ และ แสดงจุดยืนของพวกเรา ที่ไม่ได้กล่าวละเมิดการทำงานของศาลแต่อย่างใด แต่เรามองภาพรวมในกระบวนการที่พี่ไผ่พบเจอมาตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมแล้ว

ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ ตัวแทนกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ เล่าว่าที่ตนไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากมองว่ากระบวนการยุติธรรมมันกลายเป็นความ อยุติธรรมไปแล้ว ณรงค์ฤทธิ์ เล่าต่อว่า ตนเริ่มทำกิจกรรมตอนเทอม 2 ของปี 1และเริ่มสนใจมากขึ้นหลังจากการลงพื้นที่ ศึกษากรณีปัญหา เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ที่ จ.ชัยภูมิ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากการลงพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจในการข่มขู่ชาวบ้าน เช่น ไม่ให้จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งบุญผ้าป่า ทำเราเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจึงต้องเข้าไปทำงานและรู้สึกสนใจเรื่องนี้ และในวันนี้ตนเองโดนคดีละเมิดอำนาจศาลเพียงเพราะการทำกิจกรรมให้กำลังใจเพื่อน มันยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ตัวแทนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กล่าวว่าตนเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจไผ่ ดาวดิน เพราะไผ่ขึ้นศาลและทราบมาว่าทางกลุ่มนักศึกษา 4 ภาค จะจัดกิจกรรมให้กำลังใจไผ่ ตนก็ยืนดูเพื่อทำกิจกรรมและร่วมวางดอกไม้แค่นั้น และกิจกรรมที่เพื่อนนักศึกษาทำก็ทำนอกบริเวณศาล คิดว่าน่าจะไม่มีอะไรและน่าจะไม่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล เพราะการละเมิดอำนาจศาลมันต้องอยู่ในบริเวณศาลและต้องกระทบต่อการพิจารณาคดี แต่กิจกรรมของเพื่อนนักศึกษาที่ทำก็ไม่ได้กระทบกระการพิจารณาคดีของศาลเลย ไม่ได้สร้างความวุ่นวายและคดีของไผ่ก็ต้องดำเนินต่อไปอยู่ดี โดยส่วนตัวไม่ได้เตรียมกิจกรรมอะไรไปทำเลย แต่กลับโดนคดีไปด้วยจึงเห็นว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้น่าจะมีการหมายหัวไว้แล้ว เพราะตนเป็นเพียงคนไปยืนดูแต่กลับโดนคดีไปด้วย

คดีดังกล่าวศาลได้นัดพิจารณาคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาลพรุ่งนี้ (24 เม.ย. 60)

นอกจากคดีนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 ปัจจุบัน มี 4 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรม 7 นักศึกษาชูป้ายต้าน  รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น  คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 และข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 14 นักศึกษา  คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ และคดีละเมิดอำนาจศาล

พายุ บุญโสภณ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 4 ปัจจุบัน มี 3 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรม 7 นักศึกษาชูป้ายต้าน  รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น  คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 และข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 14 นักศึกษา  และคดีละเมิดอำนาจศาล

อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์  นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2 สาขาขอนแก่น ปี ปัจจุบันมี 3 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรม 7 นักศึกษาชูป้ายต้าน  รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น  คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 และข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 14 นักศึกษา  และคดีละเมิดอำนาจศาล

อาคม ศรีบุตตะ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 ปัจจุบัน มี 2 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ และคดีละเมิดอำนาจศาล

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 4 ก่อนหน้านี้จุฑามาส เคยถูกควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร เนื่องจากไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมชูป้ายต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ของ 7 นักศึกษา ดาวดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และคดีละเมิดอำนาจศาลเป็นแรกของจุฑามาส จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ปัจจุบัน มี 2 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 จากกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ และคดีละเมิดอำนาจศาล

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ปัจจุบันมี 4 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ คดีเลือกตั้งที่รัก (ลัก) 7/2557 ฝ่าฝืนประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.  คดีฝ่าฝืนประกาศเงื่อนไข ปล่อยตัว ตามประกาศ 40/2557 คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ฯ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558   ส่องแสงหากลโกง คดีพ.ร.บ.รักษาความสะอาด จากรณีการจัดกิจกรรมโพตส์สิทธิ์ ที่ BTS ช่องนนทรี จากการร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข และ 8 แอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์”

การจัดกิจกรรมให้กำลังใจไผ่ บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นของนักศึกษา/นักกิจกรรมทั้ง 7 ถือได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่ง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ได้ให้การรับรอง โดย ได้ระบุไว้ในข้อบทที่ 19 ข้อ 1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร การตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว และข้อ 50 บัญญัติให้บทบัญญัติของกติกานี้ครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐภาคีโดยปราศจากข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใด ๆ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) จะกำหนดให้ การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลถือเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล อีกทั้งไม่ได้มุ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อกระบวนการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาซึ่งจบลงไปก่อนเริ่มทำกิจกรรมแล้ว ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นที่จับตามองว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำวินิจฉัยโดยคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกตามหลักสากลหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษาโดนเพิ่มอีก 3 “ละเมิดอำนาจศาล” เหตุกิจกรรมให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์

 

X