ส่องดูหลาก “คดีอาวุธ” ในศาลทหาร: ปืนแก๊ป ปืนโบราณ จับทำไม้แต่พบปืน ครอบครองระเบิดหวังฆ่าตัวตาย

ส่องดูหลาก “คดีอาวุธ” ในศาลทหาร: ปืนแก๊ป ปืนโบราณ จับทำไม้แต่พบปืน ครอบครองระเบิดหวังฆ่าตัวตาย

ข้อกล่าวอ้างประการหนึ่งในการนำคดีพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเจ้าหน้าที่จากกรมพระธรรมนูญตลอดมา คือศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด โดยเฉพาะการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรง และคดีเกี่ยวกับ “ความมั่นคง”  (ดูตัวอย่าง 1 หรือ 2)

ในการตอบประเด็นคำถามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมการปฏิบัติตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเอง ตัวแทนรัฐบาลก็เน้นย้ำว่าพลเรือนที่ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารเป็นคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งคดีส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เกี่ยวข้องกับการครอบครองและการใช้อาวุธสงคราม

ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวถูกหลายองค์กรสิทธิมนุษยชนนำเสนอข้อมูลโต้แย้งตลอดมาว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด โดยคดีพลเรือนในศาลทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจำนวนมาก ล้วนเป็นคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ไม่ใช่การกระทำที่ “ร้ายแรง” แต่อย่างใด ทั้งในสังคมปกติ แทบจะไม่ถือว่าเป็นความผิดใดๆ เสียด้วยซ้ำ อาทิเช่น คดีกินแม็คโดนัลด์คัดค้านการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริต, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นต้น

ทั้งคดีพลเรือนส่วนใหญ่ที่ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารเอง ก็ยังไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังกล่าว โดยสถิติจากกรมพระธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2557 – 30 พ.ย.2559 มีจำนวนคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ทั้งสิ้น 1,716 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 2,177 คน ในจำนวนนี้ เป็นคดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2490 จำนวน 1,577 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.9 ของคดีพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารทั้งหมด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีที่เกี่ยวกับอาวุธเหล่านี้ พบว่ามีเพียงบางคดีเท่านั้นที่มีมูลเหตุแห่งคดี หรือประวัติของผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง เช่น คดีขอนแก่นโมเดล, คดีระเบิดศาลอาญา หรือ คดีแม่ครัวครอบครองอาวุธที่จังหวัดลำพูน เป็นต้น

ขณะที่ก็มีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะเกี่ยวพันกับการก่อเหตุความรุนแรงในประเทศ และไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือไม่ อาทิเช่น คดีระเบิดราชประสงค์, คดีเหตุระเบิดห้างเซ็นทรัลฯ ที่เกาะสมุย หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในหลายจังหวัดภาคใต้ ในช่วงเดือนส.ค.2559 เป็นต้น

หากแต่คดีเกี่ยวกับอาวุธที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลทหารในทั้งสองลักษณะข้างต้น ล้วนอยู่ในสัดส่วนจำนวนที่ไม่มากนัก โดยคดีส่วนใหญ่นั้น กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือการก่อความรุนแรงระดับประเทศใดๆ  แต่เป็นคดีการครอบครองอาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน หรือคดีที่เกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาในข้อหาหลักเรื่องอื่นๆ เช่น คดียาเสพติด คดีบุกรุก คดีป่าไม้ ฯลฯ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธในระหว่างจับกุม ทำให้ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลทหารไปด้วย

ขณะเดียวกัน คสช.ยังมีการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 59/2557 และ 62/2557 กำหนดในเรื่องการให้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาต มาส่งมอบต่อนายทะเบียน ภายในวันที่ 25 มิ.ย.2557 โดยมีการกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ทำให้กรณีการตรวจพบอาวุธผิดกฎหมายหลังจากนั้น ไม่เพียงถูกฟ้องคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ในศาลทหาร ยังมีการฟ้องคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ดังกล่าวด้วย เพราะไม่นำอาวุธมามอบต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้จำเลยในหลายคดีได้รับโทษจำคุกที่สูงขึ้นด้วย

จากภาพรวมคดีพลเรือนในศาลทหารดังกล่าว ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคดีเกี่ยวกับอาวุธบางส่วนที่เกิดขึ้น ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูล และเห็นว่าพอจะเป็นภาพสะท้อนคดีของพลเรือนอีกจำนวนมาก ที่ต้องถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหาร

คดี “ปืนแก๊ป” ใช้ล่าสัตว์ของกลุ่มชาติพันธุ์

นายอาจ่า (สงวนนามสกุล) เป็นพลเมืองไทย แต่มีพื้นเพชาติพันธุ์เป็นคนอาข่า ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย  ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 หลังการรัฐประหารไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองหลายสิบนาย ได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นในหมู่บ้าน ก่อนจะมีการตรวจพบปืนแก๊ป จำนวน 1 กระบอกในบ้านของนายอาจ่า

นายอาจ่าระบุว่าปืนดังกล่าวเป็นเพียง “อุปกรณ์” ที่ใช้ขณะออกไปทำไร่ทำนา หรือล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบริเวณไร่ตามวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังต้องพึ่งพิงกับธรรมชาติอยู่ แต่เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง มีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ก่อนจะถูกขออำนาจศาลจังหวัดเชียงรายในการฝากขัง และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 30,000 บาท

ต่อมา เมื่อไปรายงานตัวที่ศาลพลเรือนตามกำหนดครบฝากขังในครั้งที่ 5 อัยการพลเรือนได้ส่งสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เพราะข้อหาดังกล่าวมีประกาศคสช.กำหนดให้ต้องพิจารณาในศาลทหาร นายอาจ่าจึงถูกอัยการทหารฟ้องคดีในศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ในการสั่งฟ้อง มีการเรียกหลักทรัพย์ในการประกันตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ญาติของอาจ่าไม่มีเงินในการขอประกันตัว ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.2557 เป็นเวลาราวหนึ่งอาทิตย์ ก่อนญาติจะได้เช่าหลักทรัพย์ และยื่นขอประกันตัวใหม่ เป็นเงินจำนวน 120,000 บาท โดยมีผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านมาช่วยรับรองความประพฤติในการยื่นขอประกันตัวด้วย

การถามคำให้การในคดี เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2557 นายอาจ่าได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยได้ว่าจ้างทนายขอแรง เป็นเงินจำนวน 4,500 บาท เพื่อให้ช่วยเขียนคำร้องประกอบคำรับสารภาพยื่นต่อศาลทหาร โดยขอให้รอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา พร้อมยื่นหนังสือรับรองจากกำนันในพื้นที่ว่าจำเลยเป็นพลเมืองดีของชุมชน มีความประพฤติดี และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

วันที่ 29 ต.ค.2557 ศาลทหารเชียงรายนัดฟังคำพิพากษา โดยตัดสินให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พันบาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 2.5 พันบาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญาเอาไว้ โดยคดีถือเป็นอันสิ้นสุดในศาลเดียว เนื่องจากเกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึก

นอกจากคดีของนายอาจ่า หากได้ลองพิจารณารายชื่อจำเลยบนบอร์ดของศาลทหารในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือในแต่ละเดือน จะพบว่ายังมีชื่อสกุลของจำเลยที่บ่งบอกว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกหลายต่อหลายคดี

คดี “ปืนโบราณ” ตั้งโชว์ในบ้าน

นายกรกช (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบอาชีพรับจ้างส่งผัก จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น แม่ของกรกชเสียชีวิตไปแล้ว โดยเขาต้องอยู่และช่วยพ่อทำมาหาเลี้ยงครอบครัวที่มีฐานะยากจน และมีหนี้สินภาระที่ต้องรับผิดชอบ

ในช่วงต้นเดือนก.ค.2557 กรกชถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เนื่องจากมีการตรวจพบอาวุธปืน ที่ระบุว่าเป็น “ปืนลูกซองเดี่ยว” (Snider Patent) ขนาด 28 ซึ่งไม่มีใบอนุญาต จำนวน 1 กระบอก อยู่ในบ้านของเขา หากแต่อาวุธปืนของกลางดังกล่าว กรกชระบุว่าเป็นเพียงอาวุธปืนโบราณ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนมาถึงพ่อของเขา ทั้งยังมีลักษณะเก่าและชำรุด โดยปกติมีไว้เพียงตั้งโชว์ไว้ภายในบ้านเท่านั้น

ต่อมา อัยการทหารได้ยื่นฟ้องคดีของกรกชต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาเรื่องการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฝ่าฝืนไม่นำอาวุธปืนส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ในเวลาที่กำหนด ตามประกาศของคสช. กรกชได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และได้ติดต่อขอให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดทำคำร้องประกอบคำรับสารภาพให้

วันที่ 4 ก.พ.2558 ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดใน 2 กระทง คือฐานมีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท ส่วนความผิดฐานไม่นำอาวุธปืนส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 62/2557 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี รวมจำคุกสองกระทง 2 ปี 8 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท

ศาลทหารยังเห็นว่าตามสภาพความผิด จำเลยเพียงแต่มีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำผิดอื่น จึงไม่มีความร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน คดีจึงมีเหตุอันปรานี ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี เนื่องจากคดีเกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึก จึงถือเป็นอันสิ้นสุดในศาลเดียวเช่นกัน โดยจำเลยไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้

คดีตัดไม้” แต่พบปืนและกระสุนในที่เกิดเหตุ

ตัวอย่างคดีอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ คดีของนายประพันธ์ และนายบุญช่วย ในศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่  ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันทำไม้หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ, มีไม้แปรรูปและเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต, มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งข้อหาไม่นำอาวุธปืน ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายในเวลาที่กำหนด ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 62/2557

คดีนี้เกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สนธิกำลังกันเข้าตรวจจุดที่มีรายงานว่ามีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2557 ก่อนจะตรวจพบอาวุธปืนแก๊ปสำหรับล่าสัตว์ 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซอง 8 นัด และเลื่อยโซ่ยนต์ อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุใกล้กับจุดตัดไม้ แต่ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 จึงมีการควบคุมตัวทั้งสองคนในภายหลัง โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวอ้างว่าสามารถสืบทราบว่าผู้กระทำผิดในกรณีดังกล่าวคือนายประพันธ์และนายบุญช่วย และมีทางผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้การว่าเคยพบทั้งสองคนเข้าไปตัดไม้ในป่าอยู่เป็นประจำ ทั้งสองคนจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท

ในส่วนของนายบุญช่วย อายุ 57 ปี มีอาชีพปลูกกาแฟและเมี่ยงชา รวมทั้งยังเลี้ยงผึ้งป่าเป็นรายได้เสริม ซึ่งเขาระบุว่าเป็นการดำเนินการตามการส่งเสริมของโครงการในพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ ขณะที่นายประพันธ์เองก็เป็นประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งป่าดังกล่าว โดยในการเลี้ยงผึ้งป่าจำเป็นต้องมีการนำไม้ที่ล้มแล้วมาทำกล่องสำหรับเลี้ยงและให้ผึ้งทำรัง อีกทั้ง ชาวบ้านยังมีการเข้าไปหาของป่าตามวิถีชีวิตอยู่บ้าง แต่เขายืนยันว่าปืนดังกล่าวที่พบในที่เกิดเหตุไม่ใช่ของตน

คดีนี้มีการส่งฟ้องสู่ศาลทหารเมื่อเดือนพ.ย.2557 โดยจำเลยทั้งสองคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา จึงเริ่มมีการสืบพยานเรื่อยมาตลอดปี 2558 และ 2559 จนถึงปัจจุบันการสืบพยานโจทก์ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากการนัดคดีในศาลทหารเป็นรูปแบบสองถึงสามเดือนต่อหนึ่งนัด การพิจารณามีขึ้นเฉพาะในช่วงเช้า รวมทั้งมีการเลื่อนคดีบ่อยครั้ง พยานบางปากในคดีนี้ใช้เวลาสืบถึง 3 นัด กว่าจะสืบแล้วเสร็จ ทำให้คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า และจำเลยทั้งสองคนยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายสิบกิโลเมตรเข้ามาศาลทหารทุกๆ 2-3 เดือน และภาระการว่าจ้างทนายความช่วยเหลือคดีที่ใช้ระยะเวลานาน

เนื้อหาการสืบพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเจ้าหน้าที่รัฐในคดีนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเภทของไม้หวงห้าม กฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวน สภาพพื้นที่ป่าไม้และหมู่บ้านของชาวบ้าน หรือเหตุการณ์การเข้าตรวจพบการกระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่ กล่าวได้ว่าไม่ได้มีเนื้อหาที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องของ “ความมั่นคง” แต่อย่างใด

คดีครอบครองระเบิดหวังฆ่าตัวตาย เหตุโรครุมเร้า

นายสุริยะ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมในคืนวันที่ 29 เม.ย.2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สำโรงเหนือขณะรับประทานอาหารอยู่ในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งในซอยแบริ่ง จากการที่เขานำระเบิดขว้าง M67 จำนวน 1 ลูก ขึ้นมาถือไว้แล้วเคาะที่หัว พร้อมตัดพ้อน้อยใจอยากจะฆ่าตัวตาย เนื่องจากความเครียดจากการที่มีโรครุมเร้าหลายโรคและท้อแท้ในชีวิต เจ้าของร้านจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา สุริยะถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดประเภทที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ พนักงานสอบสวนได้นำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท

ก่อนหน้านี้หลายสิบปี สุริยะเคยรับราชการทหารสังกัดหน่วยทหารม้าในจังหวัดสระบุรี แต่เออลี่รีไทร์ออกมาก่อนถึงอายุเกษียณราชการ ในช่วงที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีนโยบายให้ข้าราชการสามารถเออร์ลี่รีไทร์ได้ และได้รับเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่ง

สุริยะได้งานเป็นคนดูแลและเก็บค่าบริการที่ลานจอดรถของเอกชนแห่งหนึ่งย่านสำโรง แต่เมื่อปี 2556 ได้เกิดอุบัติเหตุ เขาถูกรถทับระหว่างทำงาน ทำให้กระดูกเชิงกรานและกระดูกน่องหัก รวมทั้งกระดูกสันหลังเอวยุบ ก่อนได้รับการผ่าตัด โดยต้องใส่เหล็กที่เท้าขวา และต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาเกือบสามเดือน ทั้งสุดท้ายบาดแผลเกิดติดเชื้อ ทำให้เขาต้องตัดขาขวาออกแล้วใส่ขาเทียมตั้งแต่ใต้เข่าลงไป หลังจากนั้น สุริยะต้องกินยาเพื่อรักษาและบรรเทาอาการปวดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอาการไตวายตามมา

สุริยะต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินและบางครั้งก็ต้องนั่งรถเข็น เพราะไม่สามารถเดินได้นานๆ และยังต้องเข้ารับการฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ด้วยโรคที่รุมเร้าทำให้เขามีอาการซึมเศร้า เครียด และนอนไม่หลับร่วมด้วย บางครั้งก็บ่นให้คนในครอบครัวฟังว่า “รู้สึกอยากตาย เมื่อไหร่จะหมดเวรหมดกรรม” “ใครที่ไม่ได้เป็น ก็ไม่รู้หรอก” จึงต้องเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรับยาคลายเครียดด้วย ทั้งยังมีโรคประจำตัวหลายโรค อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน เก๊า ความดันสูง หอบหืด และต้อกระจก

วันที่ 9 ก.พ.2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การในคดี สุริยะให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยทนายได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพนี้ ตุลาการศาลทหารได้พิพากษาลงโทษจำคุกนายสุริยะ 5 ปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพเป็นเหตุให้บรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนประเด็นที่ทนายได้ยื่นขอให้รอการลงโทษเนื่องจากนายสุริยะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วหลายโรค และต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน ศาลได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าได้ลงโทษสถานเบาแล้ว

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา สุริยะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์เดิม ก่อนที่ต่อมาวันที่ 22 ส.ค.2559 ศาลทหารกลางจะนัดอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามสำนวนคดี ที่จำเลยถูกจับกุมขณะครอบครองลูกระเบิดในที่สาธารณะ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้ลูกระเบิดดังกล่าวก่ออาชญากรรมใด นับว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย จึงพิพากษายืนตามศาลทหารกรุงเทพ

ขณะนี้ สุริยะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกาคดีต่อศาลทหารสูงสุด

 

คดีจ้างวานมือปืนลอบสังหาร เพราะความขัดแย้งส่วนตัว

อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นข่าวดังในช่วงปี 2558 ได้แก่ กรณีการฆาตกรรมพระอาจารย์บัณฑิต สงวนแก้ว หรือที่รู้จักกันในนาม “พระหมอ” เจ้าอาวาสวัดป่าตอสีเสียด จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2558 หลังจากถูกมือปืนไม่ต่ำกว่า 2 คน ขับรถติดตามขณะกำลังกลับจากเดินบิณฑบาต ก่อนหยุดจ่อยิงปืน ส่งผลให้พระบัณฑิตมรณภาพในทันที

ในการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งประเด็นไปเรื่องที่มีสีกาคนหนึ่งได้เข้ามาปฏิบัติธรรมในวัด ทำให้ผู้บงการที่คบหากับสีกาคนดังกล่าวอยู่นั้นเกิดความเข้าใจผิด และเกิดความหึงหวง จนมีการจ้างวางมือปืนลอบสังหาร โดยอาวุธที่ใช้ลอบสังหารพบว่าเป็นปืนลูกซองดัดแปลง โดยใช้กระสุนปืน M16

ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนผู้ลอบสังหาร ผู้ต้องสงสัยว่าคอยเฝ้าติดตามพระหมอและขับรถให้มือปืน พร้อมกับควบคุมตัวดาบตำรวจนายหนึ่งที่ต้องสงสัยเป็นผู้จ้างวานก่อเหตุ ต่อมาผู้ต้องสงสัยได้มีการซัดทอดไปถึงประธานโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ว่าเป็นหนึ่งในผู้จ้างวานฆ่าด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่มีการขอหมายจับจากศาลมณฑลทหารบกที่ 24 เข้าจับกุม ในข้อหาให้ผู้อื่นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน, ข้อหาร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ต้องหาทั้งสี่รายถูกแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวไปขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง โดยไม่ได้รับการประกันตัว

คดีนี้จำเลยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากมีการแจ้งข้อหาเรื่องการมีอาวุธปืนในครอบครอง โดยไม่ทราบความคืบหน้าของคดี และเนื่องจากเกิดขึ้นขณะยังมีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้

กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างของ “คดีอุกฉกรรจ์ทั่วไป” ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งส่วนตัว คือเป็นอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญต่อประชาชน และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดรุนแรงกว่าความผิดประเภทอื่นๆ เช่น การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา หรือการปล้นทรัพย์ เป็นต้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือความมั่นคงของรัฐใดๆ  หากคดีลักษณะนี้ก็กลับถูกนำขึ้นพิจารณาพิพากษาในศาลทหารด้วยเช่นกัน

คดีอาวุธในศาลทหาร: กระบวนการ (อ) ยุติธรรม ที่ไม่ถูกสนใจ

จะเห็นได้ว่าคดีตัวอย่างดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ได้เป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะรุนแรงใดๆ โดยตรง หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเพียง “อาชญากรรมปกติ” ที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมทุกยุคทุกสมัย ไม่ได้มีลักษณะพิเศษเฉพาะหรือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองใดๆ เลย อย่างกรณีการลอบสังหาร “พระหมอ” ข้างต้น  โดยหากเราพิจารณาตัวเลขจำนวนคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ โดยปกติ จากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมย้อนหลัง ในช่วงปีพ.ศ. 2552-2558 จะพบว่า

ปี 2552 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 30,390 คดี

ปี 2553 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 26,558 คดี

ปี 2554 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 31,153 คดี

ปี 2555 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 33,625 คดี

ปี 2556 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 42,260 คดี

ปี 2557 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 43,766 คดี

ปี 2558 มีคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ จำนวน 36,614 คดี

จะเห็นได้ว่า การจับกุมดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จำนวนมากนี้ เกิดขึ้นเป็น “ปกติ” ในบริบทของสังคมไทยอยู่แล้ว คือโดยเฉลี่ยราว 30,000-40,000 คดีต่อปี ไม่ใช่สิ่งที่มาเกิดเพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนหรือหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 อันทำให้ต้องมีการดำเนินการใน “ลักษณะพิเศษ” ใดๆ ต่อการกระทำความผิดในข้อหานี้ ข้อกล่าวอ้างของคสช. เรื่องการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน เพราะมีการกระทำอาชญากรรมที่ร้ายแรง และเป็นช่วง “สถานการณ์พิเศษ” จึงไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 50/2557 ไม่ใช่ความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ทั้งหมดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่เฉพาะข้อหาความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้เท่านั้น ที่ถูกนำมาพิจารณาในศาลทหาร  ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ในฐานอื่นๆ อาทิเช่น การพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เป็นเหตุให้ตัวเลขคดีตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ต่อปีในศาลยุติธรรมข้างต้น สูงกว่าตัวเลขคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ในศาลทหารในระยะเวลาสองปีเศษที่ผ่านมา

นอกจากนั้น พลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีอาวุธปืนในศาลทหารข้างต้น ยังต้องเผชิญกับ “กระบวนการยุติธรรม” ที่แตกต่างออกไปจากศาลพลเรือนอย่างมาก ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ผู้ต้องหาและจำเลยในทุกๆ คดีควรได้รับ ไม่ว่าถูกดำเนินคดีในข้อหาใดหรือการกระทำที่ถูกกล่าวหาจะร้ายแรงเพียงใด อาทิเช่น การไม่ได้รับสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลสูง ในคดีที่เหตุเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก, ความล่าช้าของกระบวนการในคดีที่จำเลยมีการต่อสู้คดี โดยบางคดีสืบพยานมาแล้วกว่า 3 ปียังไม่แล้วเสร็จ

ศาลทหารยังมีแนวโน้มในการเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวที่มากกว่าศาลพลเรือน ดังตัวอย่างคดีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจับในเรื่องการครอบครองปืนแก๊ปดังกล่าว หรือในคดีที่จำเลยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตน ก็ประสบกับปัญหาการมีล่ามในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากศาลทหารไม่ได้มีระบบใดๆ รองรับในเรื่องล่าม รวมถึงเรื่องการเข้าถึงทนายความ ที่ศาลทหารก็ไม่ได้มีระบบทนายความขอแรงประจำที่ศาลเหมือนกับศาลพลเรือน ทำให้ผู้ต้องหาที่มีฐานะยากจนประสบปัญหาในการเข้าถึงทนายความอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ความไม่เป็นอิสระและการขาดความเชี่ยวชาญของตุลาการในการพิจารณาคดีเฉพาะทาง ยังเป็นประเด็นสำคัญที่อาจทำให้จำเลยหลายคดีประสบปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรม อาทิเช่น ข้อหาการตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนดังตัวอย่างข้างต้น ซึ่งโดยปกติไม่ใช่คดีความผิดที่มีการนำขึ้นสู่ศาลทหาร กฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับที่ดินหรือป่าไม้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตุลาการในศาลทหารเคยใช้ในการพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่ทหารตามปกติมาก่อน

แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 กำหนดให้ความผิดที่เคยมีประกาศคสช.ให้ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ที่เกิดขึ้นภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ กลับมาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม แต่เกือบสามปีที่ผ่านมา พลเรือนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ อย่างน้อย 1,577 คดี ทั้งที่ถูกตัดสินพิพากษาไปแล้ว และอีกจำนวนมากที่กำลังต่อสู้คดีในศาลทหาร กลับต้องถูกดำเนินการใน “กระบวนการ” ซึ่งมีหลักประกันการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม น้อยกว่าศาลยุติธรรมมาตลอด โดยที่คดีส่วนใหญ่ก็แทบไม่เป็นที่รับรู้และสนใจของสังคม

 

อ่านเพิ่มเติม

พลเรือนยังคงขึ้นศาลทหาร: เปิดสถิติคดีพลเรือนในศาลทหาร ปีที่ 3

บทสรุปการต่อสู้ของพลเรือนที่ไม่ยอมขึ้นศาลทหาร

ทนายสิทธิเล่าเรื่อง (2) : ปัญหาศาล(ทหาร)ไทยกับกระบวนการยุติธรรม

ทนายสิทธิฯ เล่าเรื่อง : ปัญหาการทำงานของศาลทหาร “การจองจำไม่มีวันหมดอายุ”

เปิด 16 ข้อ ทำไมการชี้แจงของตัวแทนรัฐบาลไทยเรื่องศาลทหาร จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง

ความยุติธรรมในศาลทหารเพื่อ “ความมั่นคง” Chapter III โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“ชะตากรรม” พลเรือนในศาลทหารต่างจังหวัด

 

X