‘จิตรา’ ยืนยันไม่เจตนาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่ไปแจ้งสถานทูตแล้วไม่รับแจ้ง หลังสืบพยานจบศาลนัดพิพากษา 6 ก.ค.นี้

ศาลทหารนัดสืบพยาน2ปากสุดท้าย จิตรา คชเดช เบิกความยืนยันว่าไม่ได้เจตนาฝ่าฝืนคำสั่งและเห็นว่าสถานทูตไทยในสวีเดนถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทยจึงเข้ารายงานตัวและชี้แจงเหตุขัดข้อง แต่เจ้าหน้าที่สถานทูตไม่รับ โดยมีพยานที่เดินทางไปสถานทูตด้วยกันมายืนยันเป็นพยานปากสุดท้าย หลังสืบพยานเสร็จศาลนัดฟังคำพิพากษา 6 ก.ค.2560

24-25 เม.ย.2560 ที่ผ่านมาศาลทหารนัดสืบพยานจำเลย น.ส.จิตรา คชเดช ขึ้นเบิกความในฐานะพยานคดีที่ตนตกเป็นจำเลยจากการถูกโจทก์ฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรียกเข้ารายงานตัว ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2557 จำเลยขึ้นเบิกความในประเด็นที่ตนไม่ได้เจตนาจะฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง แต่ ณ วันที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวยังเดินทางอยู่ในประเทศสวีเดน ส่วนพยานอีกปากเป็นเพื่อนของจำเลยนายมาธิอัส เคิน ซึ่งเดินทางไปที่สถานทูตด้วยกันกับจำเลยได้มาเบิกความยืนยันว่าจำเลยได้ไปชี้แจงถึงเหตุขัดข้องที่สถานทูตไทยในสวีเดนจริง

วันที่ 24เม.ย. น.ส.จิตราขึ้นเบิกความว่า ตนเดินทางไปประเทศสวีเดนตั้งแต่วันที่ 24เม.ย.2557 เพื่อไปแลกเปลี่ยนดูงานและบรรยายเรื่องสภาพการจ้างงานของแรงงานในประเทศไทย โดยมีกำหนดกลับในวันที่ 9 มิ.ย.2557 แต่เห็นว่าวีซ่าท่องเที่ยวมีอายุถึงวันที่ 13มิ.ย.2557 จึงเปลี่ยนใจอยู่ท่องเที่ยวต่อในประเทศสวีเดนจึงเลื่อนตั๋วเครื่องบินขากลับประเทศไทยเป็นวันที่ 12มิ.ย.2557 แทน โดยดำเนินการเลื่อนตั๋วตั้งแต่วันที่ 26พ.ค.2557 ก่อนที่จะคสช.จะออกคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 1มิ.ย.2557เรียกน.ส.จิตราให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3มิ.ย.2557

ทั้งนี้น.ส.จิตราตัดสินใจไม่เดินทางกลับมารายงานตัวเนื่องจากเห็นว่าหากต้องเปลี่ยนตั๋วเพื่อเดินทางกลับก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มหลังจากที่ได้เลื่อนตั๋วกลับไปแล้วครั้งหนึ่งได้จ่ายไปประมาณ 16,000 บาท และอาจจะไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ทันเพราะเวลาที่ไทยเร็วกว่าสวีเดน 5 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบินอีก 10 ชั่วโมง

น.ส.จิตราจึงไปที่สถานทูตไทยในสวีเดนในวันที่ 3มิ.ย.2557โดยมีเพื่อนที่สวีเดนพาไป เพื่อเข้ารายงานตัวพร้อมนำเอกสารชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ ได้ตามคำสั่ง คสช. เพราะเห็นว่าสถานทูตไทยถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่อยู่ในต่างปประเทศ แต่เมื่อไปถึงแล้วเลขานุการเอกของสถานทูตแจ้งว่าทั้งทูตทหารและเอกอัครราชทูตไม่เข้าสถานทูตในวันนี้ และทางสถานทูตก็ไม่ได้มีกรอบการทำงานร่วมกับ คสช. ในการรับรายงานตัว

ระหว่างการเบิกความน.ส.จิตราได้นำภาพและวิดีโอที่บันทึกการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตมาแสดงต่อศาลเพื่อยืนยันว่าตนได้ไปที่สถานทูตจริงและมีการพูดคุยจริง

จากนั้นในวันที่8 มิ.ย.2557 จำเลยก็ได้ทราบว่าตำรวจได้ออกหมายจับผูที่ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวเป็นจำนวน 10 คน ซึ่งเป็น 10 คนแรกที่มีการออกหมายจับตามข้อหานี้ โดยมีชื่อของตนเป็น 1ใน 10 คนด้วย เมื่อได้รับทราบว่าตนเองมีหมายจับจึงได้ติดต่อน.ส.เกศริน เตียวสกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไร น.ส.เกศรินแนะนำว่าให้ทำหนังสือร้องเรียนถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ และได้ติดต่อนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อประชาชน เพื่อขอคำแนะนำ นายยิ่งชีพเห็นว่าควรทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ และแจ้งว่าจะเข้ารายงานตัวเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย และจำเลยยังได้ค้นหาช่องทางติดต่อ คสช. ในอินเตอร์เนตก็ได้เบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายประชามสัมพันธ์ของ คสช. มาสองเบอร์แต่เมื่อโทรศัพท์ไปแล้วปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย

ทั้งนี้หนังสือชี้แจงได้ให้นายยิ่งชีพเป็นผู้นำส่งถึงสโมสรกองทัพบกซึ่งเป็นสถานที่รับรายงานตัวในวันที่ 9มิ.ย.2557 โดยมีพ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้รับหนังสือ

สาเหตุที่จำเลยปรึกษากับทั้งสองคนและมีการดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากว่าได้เห็นข่าว คสช.ควบคุมตัวน.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ และไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวไปที่ไหน จำเลยจึงกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน จึงทำหนังสือถึงนพ.นิรันดร์เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ กสม. ไปรอรับที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 13 มิ.ย.2557

เมื่อน.ส.จิตราเดินทางถึงประเทศไทยแล้วก็ถูกควบคุมตัวที่จุดตรวจคนเข้าเมืองของสนามบิน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวไปที่ห้อง ตม. จากนั้นได้แจ้งว่ามีหมายจับอยู่ จำเลยจึงโทรศัพท์ถึงน.ส.เกศรินเพื่อแจ้งว่าถูกควบคุมตัวและขอให้เข้ามาพบที่ห้อง ตม. เพื่อร่วมรับฟังการแจ้งหมายจับและทำบันทึกจับกุม หลังการทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ ตม. ได้นำตัวจำเลยไปส่งที่กองบังคับการปราบปราบ

ที่กองบังคับการปราบปราม น.ส.จิตราได้ให้การกับพนักงานสอบสวนโดยละเอียดพร้อมหลักฐานทุกอย่างเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้ต้องการฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว

สาเหตุที่เลื่อนการเดินทางกลับเพราะเห็นว่าที่ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22พ.ค.2557อีกทั้งยังเห็นว่าวีซ่ายังเหลืออยู่จึงอยากอยู่จนครบกำหนดของวีซ่า แล้วการเลื่อนตั๋วก็ทำก่อนที่จะถูกเรียกรายงานตัว แม้ว่าจะได้นำพยานหลักฐานมอบให้แก่พนักงานสอบสวนแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงไม่เข้ารายงานตัว แต่พนักงานสอบสวนก็ยังคงส่งสำนวนต่อถึงอัยการ เมื่อสำนวนถึงอัยการ น.ส.จิตราจึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากอัยการ

น.ส.จิตรายังได้ย้ำว่าหากมีเจตนาจะฝ่าฝืนแล้วก็จะไม่ไปที่สถานทูตเพื่อขอเข้ารายงานตัวและเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยเพราะสามารถทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยเหมือนคนอื่นๆ ก็ได้

น.ส.จิตราตอบคำถามช่วงอัยการถามค้านพยานว่าหากต้องเดินทางกลับมารายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย.2557 เวลา 10.00 น. ตามที่ระบุในคำสั่งเรียกรายงานตัว อาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันเนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีตั๋วเครื่องบินหรือไม่และการซื้อตั๋วใหม่อีกครั้งก็มีค่าใช้จ่าย และถึงสามารถหาตั๋วกลับประเทศไทยได้แต่เวลาที่ไทยก็เร็วกว่าที่สวีเดนและก็ต้องใช้เวลาเดินทางเป็น 10 ชั่วโมง ก็ไม่รู้ว่าจะเดินทางกลับมาทันหรือไม่ จึงตัดสินใจไปที่สถานทูตไทยในสวีเดน

อัยการถามอีกว่าก่อนที่จะเดินทางไปประเทศสวีเดนในวันที่ 24เม.ย.2557 ทราบหรือไม่ว่าเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมีความไม่สงบในประเทศไทย จำเลยตอบว่าทราบ แต่ความขัดแย้งก็มีมาโดยตลอดไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นตอนที่จะเดินทาง

ทนายความจำเลยถามติงว่าเหตุที่เลื่อนตั๋วเพราะอะไรและการขอเลื่อนตั๋วเครื่องบินต้องทำล่วงหน้าหรือไม่ น.ส.จิตราตอบว่าเหตุที่เลื่อนตั๋วเพราะต้องการท่องเที่ยวต่อเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเพราะตอนทำเรื่องขอเลื่อนตั๋วก็ยังไม่มีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว ส่วนในการไปขอเลื่อนตั๋วกลับเมื่อวันที่ 26พ.ค.2557จากเดิมที่ซื้อตั๋วกลับในวันที่ 9 มิ.ย.2557 เลื่อนเป็น 12มิ.ย. ก็ต้องทำเรื่องขอเลื่อนล่วงหน้าหลายวัน เพราะต้องดูว่าวันที่จะเดินทางกลับจะมีที่นั่งให้จองหรือไม่และค่าตั๋วก็อาจจะสูงมาก แล้วการะจะซื้อตั๋วใหม่ทันทีจะได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ

ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากต่อมาเมื่อวันที่ 25เม.ย. พยานปากนี้เป็นเพื่อนชาวสวีเดนของจำเลย นายมาธิอัส เคิน เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ศาลจึงได้จัดหาล่ามแปลภาษาสวีดิชเป็นภาษาไทยตามที่ได้ทนายความได้ร้องขอต่อศาลไว้ในนัดเมื่อวันที่ 16ก.พ.2560

นายมาธิอัสเบิกความว่าตนเคยเป็นนักข่าวและได้รู้จักจำเลยตั้งแต่ปี 2552 จากการติดต่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลิกจ้างคนงานเพราะน.ส.จิตราเป็นที่ปรึกษาของสหภาพแรงงานในประเทศไทย เกี่ยวกับในคดีนี้คือเมื่อวันที่ 2มิ.ย.2557จำเลยได้ติดต่อหาพยานเพื่อขอให้พาจำเลยไปสถานทูตไทยในสวีเดนเพราะจำเลยไม่รู้เส้นทางในสต็อกโฮล์ม

จำเลยได้บอกเหตุผลที่ไปสถานทูตว่าเพราะจำเลยถูก คสช. ออกคำสั่งเรียกรายงานตัวที่ประเทศไทย แต่ไปไม่ได้เลยจะไปที่สถานทูตเพื่อชี้แจงโดยหนังสือชี้แจงถึงสาเหตุที่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ไม่ได้

น.ส.จิตราบอกพยานว่าที่เดินทางไปประเทศสวีเดนเพราะว่าต้องการท่องเที่ยวและไปพูดคุยเรื่องแรงงานไทย โดยจะอยู่ที่ประเทศสวีเดนราว 7-10 วัน ก็จะเดินทางกลับประเทศไทย

น.ส.จิตราได้นัดพยานไปสถานทูตในวันที่ 3มิ.ย.2557 เวลาประมาณ10.00น. โดยมีพยาน จำเลยและเพื่อนของจำเลยในสวีเดนไปด้วย เมื่อไปถึงแล้ว จำเลยได้พบกับเลขานุการเอกของสถานทูตว่าอยากขอพบกับทูตทหารของไทย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าทูตทหารไม่อยู่ จำเลยจึงจะขอพบเอกอัครราชทูตแทน แต่เลขานุการเอกก็แจ้งว่าทูตก็ไม่อยู่เช่นกัน

พยานได้เห็นจำเลยนำจดหมายชี้แจงว่าทำไมถึงไม่สามารถไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่กรุงเทพฯ ได้ทัน แต่เลขาฯ บอกว่าไม่สามารถรับจดหมายได้เพราะไม่มีอำนาจ น.ส.จิตราจึงถามเจ้าหน้าที่ว่าถ้าอย่างนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะไม่สามารถเดินทางกลับได้ทัน จากนั้นจำเลยได้โทรศัพท์มือถือมาถ่ายวิดีโอเพื่อให้รู้ว่าได้มาสถานทูตจริงและเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานว่าได้มายื่นเอกสารชี้แจงแล้วจริง และจำเลยยังได้ขอให้พยานถ่ายรูปเอาไว้ด้วย พยานจึงใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเอาไว้ จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ

ภายหลังนายมาธิอัสทราบจากเพื่อนของน.ส.จิตราส่งอีเมล์มาบอกว่า น.ส.จิตราถูกออกหมายจับจึงให้เพื่อนทำหนังสือชี้แจงถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะไม่เข้ารายงานตัว ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต่อมาเพื่อนคนเดิมก็อีเมล์แจ้งว่าเมื่อจำเลยเดินทางกลับถึงประเทศไทยก้ถูกจับกุมและดำเนินคดี

ทนายความได้ถามนายมาธิอัสว่าหากพยานอยู่ที่ไทยแล้วถูกรัฐบาลสวีเดนเรียกกลับประเทศจะทำอย่างไร นายมาธิอัสตอบว่าหากเดินทางกลับสวีเดนไม่ได้ก็จะไปติดต่อที่สถานทูตเพราะถือว่าสถานทูตเป็นตัวแทนของประเทศสวีเดน

อัยการถามค้านว่าพยานทราบหรือไม่ว่าก่อนวันที่ 24เม.ย.2557 ซึ่งเป็นวันที่น.ส.จิตราเดินทางไปประเทศสวีเดน ที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองและเกิดความไม่สงบขึ้น นายมาธิอัสตอบว่าทราบว่าในประเทศไทยเกิดความไม่สงบมานานแล้ว แต่ในช่วงวันที่ 24เม.ย.ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเป็นพิเศษ

หลังการสืบพยานทนายความได้แถลงศาลว่าพยานที่จะนำเข้าสืบหมดเพียงเท่านี้ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 ก.ค.2560 เวลา 8.30น.

X