ปรับ 4,000 รอลงอาญา 2 ปี คดีฉีกคำให้การของจำเลยศูนย์ปราบโกงสกลนคร

ปรับ 4,000 รอลงอาญา 2 ปี คดีฉีกคำให้การของจำเลยศูนย์ปราบโกงสกลนคร

26 เม.ย.60 ศาลจังหวัดสว่างแดนดินอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสว่างแดนดินเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอุดร สวัสดิ์พันธุ์ อายุ 70 ปี, นางนวนจันทร์ สุริยมาตย์ อายุ 51 ปี, นางวิรัตน์ สาพรเจริญ อายุ 62 ปี, นายสุพรรณ นินธิสิงห์ อายุ 66 ปี และนายศักดิ์ชัย ค้ำคูณ อายุ 60 ปี เป็นคดีหมายเลขดำที่ 478-482/2560 ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 กรณีที่ทั้ง 5 ฉีกบันทึกคำให้การของตนเองในคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.สกลนคร ซึ่งขณะนั้นทั้ง 5 คน ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับคนอื่น ๆ รวม 22 คน

ในชั้นสอบสวน ทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 21 มี.ค.60 จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษา และให้ประกันตัวในวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท แต่จำเลยทั้ง 5 หาหลักประกันไม่ทันในวันฟ้อง จึงได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันที่ 22 มี.ค.60

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 5 มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีความประพฤติเสียหาย ประกอบไม่เคยต้องคดีอาญา นอกจากคดีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (จ.อุดรธานี) ซึ่งศาลรอการลงโทษ จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

กรณีนี้สืบเนื่องจากการติดตามชาวบ้านในอำเภอส่องดาว จ.สกลนคร และแกนนำ นปช. รวม 22 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลังรวมตัวกันจะไปร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอสว่างแดนดิน แต่กิจกรรมถูกยกเลิก ชาวบ้านซึ่งยังไม่ได้เดินทางไปถึงอำเภอสว่างแดนดินจึงร่วมกันถ่ายรูปที่สวนยางของแกนนำ แล้วแยกย้ายกันกลับ โดยมีทหารเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี ทั้ง 22 คน ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน สภ.ส่องดาว

หนึ่งในจำเลยผู้สูงวัยเล่าว่า วันที่ 20 ก.ค.59 ตำรวจติดต่อให้มาประชุมที่ที่ว่าการอำเภอ มีทหาร 2 คน มาชี้แจง พยายามให้พวกเขายอมรับสารภาพ แล้วเข้าไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารเพื่อให้คดีจบ ประชุมอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง แต่พวกเขายังยืนยันปฏิเสธเหมือนเดิม   ออกมาจากห้องประชุม ตำรวจก็เรียกไปที่สถานีตำรวจทีละกลุ่ม ให้เซ็นเอกสาร แต่หลังจากกลับออกมาพูดคุยกัน คนที่ได้อ่านเอกสารแล้วรู้ว่า เป็นคำให้การรับสารภาพก็ไม่ได้ลงชื่อ แต่มีบางคนไม่ได้อ่านเพราะมองไม่เห็น อ่านไม่ออก ได้ลงชื่อไป พอรู้ว่าเป็นเอกสารให้การรับสารภาพ จึงกลับไปหาตำรวจ ตัวเขาเองต้องการกลับไปบอกตำรวจเพียงว่า ถึงเซ็นแล้วก็ไม่ไปปรับทัศนคติ แต่เข้าไปถึง ตำรวจได้เอาเอกสารมาวางเรียงที่โต๊ะแล้ว บอกกับพวกเขาว่า อยากฉีกใช่มั้ย หยิบของใครของมันฉีกเลย จะถ่ายรูปให้ พวกเขาจึงทำตามที่ตำรวจบอกโดยไม่คิดว่าจะเป็นความผิด

วันต่อมา พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวได้แจ้งความดำเนินคดี ชาวบ้าน 7 คน ในข้อหาทำลายเอกสาร และออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ คำบรรยายฟ้องของอัยการระบุว่า หลังเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยชี้แจง จำเลยกับพวกบางส่วนมีความประสงค์ที่จะสมัครใจเข้ารับการอบรม จึงได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อขอให้การใหม่ จากเดิมที่ให้การปฏิเสธ เป็นขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ร.ต.อ.อยุธยา วงษ์ลา พนักงานสอบสวนจึงได้จัดทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ และให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ต้องหา โดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้ จากนั้นจำเลยได้ออกไปจาก สภ.ส่องดาว จากนั้น จำเลยได้กลับมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง เพื่อขอตรวจและอ่านบันทึกคำให้การเพิ่มเติมดังกล่าว โดยอ้างว่า  จำเลยยังไม่เข้าใจและยังสับสนในคำให้การเพิ่มเติม ร.ต.อ.อยุธยา จึงได้นำบันทึกคำให้การดังกล่าวมาให้จำเลยอ่านอีกครั้ง หลังจำเลยอ่านแล้วได้ฉีกทำลาย และนำไปจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยไม่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้อื่น และประชาชน

จำเลยคนเดิมเล่าอีกว่า ใน 7 คน ที่ถูกดำเนินคดีฉีกเอกสารอีก 1 คดี มี 2 คน ซึ่งรับสารภาพและยินยอมเข้าอบรมในคดีชุมนุม ในคดีนี้ก็รับสารภาพไปก่อนพวกเขา  ศาลตัดสินปรับคนละ 5,000 บาท พวกเขา 5 คน ที่เหลือเห็นว่า ถ้าโทษเท่านี้ จ่ายค่าปรับให้คดีจบๆ ไปดีกว่าต้องเป็นภาระมาศาลอีกหลายครั้ง เมื่ออัยการส่งฟ้องศาล พวกเขาจึงตัดสินใจรับสารภาพ

“ก็ตั้งใจรับว่า เราฉีกจริง แต่เพราะตำรวจสั่งให้ฉีก ทีนี้พอเรารับสารภาพ ศาลไม่ได้ให้อธิบายเหตุผล ตกใจตอนต้องประกันตัวตั้งคนละ 1 แสน เราก็ว่าคดีไม่มีอะไร เขาไม่ควรฟ้องเป็นคดีตั้งแต่แรกแล้ว ตอนพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะตามคำสั่งศาลเราก็เล่าให้ฟังทั้งหมดตามที่เป็นจริง จะมีผลให้ศาลลงโทษเบาลงหน่อยหรือไม่ ก็ไม่รู้”

หลังฟังคำพิพากษา จำเลยผู้สูงวัยทุกคนโล่งใจว่าไม่ถูกจำคุก ประสบการณ์ที่ถูกขัง 1 คืน 1 วัน ช่วงรอหลักทรัพย์ประกัน แม้ทำให้ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ได้เคยได้สัมผัสมาก่อน แต่ก็ไม่อยากกลับเข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ภาระในการมาศาลไม่ได้หมดไปอย่างที่คาดหวัง ผู้เฒ่าทั้ง 5 ยังต้องมารายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติ บริเวณชั้นล่างของศาลอีก 4 ครั้ง ในเวลา 1 ปี และโทษจำคุกที่รอลงอาญาอยู่ก็ทำให้ต้องระมัดระวังตัว ไม่ไปเข้าร่วมกิจกรรมของคนเสื้อแดงอย่างที่ชอบอีกภายในเวลา 2 ปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งฟ้องศาลทหาร 20 ชาวบ้าน-แกนนำ นปช.สกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ-ส่งไก่ย่าง

ศาลทหารอุดรฯ ลงโทษอีก 20 ชาวบ้านสกลนคร ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ปรับ 2,500 รอลงอาญา 1 ปี

 

X