เริ่มคุกคาม-จับตา งานวันที่ 24 มิ.ย. ครบรอบ 85 ปีการอภิวัฒน์สยาม

ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ วันที่ 24 มิ.ย.60 เป็นวาระครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ.2475 โดยมีกลุ่มผู้ก่อเปลี่ยนแปลงเป็นที่รู้จักกันชื่อว่า “คณะราษฎร” จึงเป็นวันที่นักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง นักวิชาการ กลุ่มลูกหลานของคณะราษฎรและบุคคลทั่วไป ให้ความสำคัญ โดยมีการจัดกิจกรรมและงานเสวนาตามที่ต่างๆ

แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้จะยิ่งกลายเป็นประเด็นจับตาหลังจากที่ “หมุดคณะราษฎร” ถูกสับเปลี่ยนกลายเป็น “หมุดหน้าใส” จนทำให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เตือนว่าไม่ควรใช้พื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีการประกาศว่าจะใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 (อ่าน ที่นี่) แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีนักกิจกรรมกลุ่มใดนัดทำกิจกรรมที่จุดดังกล่าว นอกจากแฟนเพจ “หมุดคณะราษฎร” ที่ตั้งอีเว้นท์ในเฟซบุ๊กชื่อ “วันชาติไทย ปีที่ 85 ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร” แต่เพจดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นเจ้าของ

จนกระทั่งในวันนี้ (23 มิ.ย.) ก่อนที่จะถึงวันที่จะมีกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งโทรศัพท์และไปพบตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมโดยตรง หรืออดีตนักกิจกรรมที่ตอนนี้ได้ยุติบทบาทไปแล้ว รวมถึงนักวิชาการ เพื่อที่จะสอบถามว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมใดในวันที่ 24 มิ.ย.หรือไม่ จนถึงตอนนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีผู้ถูกติดตามจากเหตุดังกล่าวอย่างน้อย 11 คน ต่อไปนี้เป็นประมวลภาพปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นักศึกษา 2 คน ของกลุ่มที่เคยจัดกิจกรรมประชามติ และถูกจับกุมตัวเมื่อปี 2559 ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางเขน เพื่อสอบถามว่านักศึกษาคนดังกล่าวจะทำการเข้าร่วมในงาน “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน วัน (ไม่มี) ประชาธิปไตย” ที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขนหรือไม่ และภายในงานจะมีกิจกรรมอย่างไรบ้าง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนเท่าไร ซึ่งนักศึกษาคนดังกล่าวได้ตอบกล่าวไปว่าตนไม่ทราบรายละเอียด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุว่าไม่อยากให้มีประเด็นทางการเมือง เนื่องมาจาก “นาย” เป็นห่วง และทางมหาวิทยาลัยก็ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย ซึ่งในตอนท้ายของการพูดคุยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าภายในวันงานจะมีทั้งทหารและตำรวจหลายหน่วยเข้าไปบริเวณที่จัดงาน

นอกจากนักศึกษาแล้ว เจ้าหน้าที่ยังติดตามอาจารย์ด้วย วันนี้ (23มิ.ย.60) ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อเวลาราว 7.00 น. มีรถกระบะสีดำป้ายแดงเข้าไปยังหมู่บ้านของอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับวนอยู่ในหมู่บ้านหลายรอบ จากนั้นมีคนลงจากรถมาเดินไปมาบนถนน คนหนึ่งมาทำทีออกกำลังกายตรงสนาม ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้าน จนเวลาราว 8.00 น. มีเพื่อนบ้านมาเรียก ถามว่าเมื้อกี้มีคนมาหาไหม จึงบอกไปว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาสังเกตดูสงสัยว่าจะเป็น “โจร” มาดูลาดเลา พร้อมทั้งบอกว่ารถคันนั้นยังจอดอยู่ที่ปากซอย

อาจารย์อนุสรณ์จึงออกไปดู  ก่อนเข้าไปทำการเคาะรถและเรียกให้ลงมาคุย ปรากฎว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบฯ 3 นาย ซึ่งแต่ละคนแต่งกายกันคนละบุคลิก คนหนึ่งแต่งตัวเหมือนช่างรับเหมา คนหนึ่งใส่ชุดกีฬา คนหนึ่งดูภูมิฐานเป็นผู้ใหญ่ มาสอบถามเรื่องงาน 24 มิ.ย. พยายามถามว่าพรุ่งนี้อาจารย์จะไปร่วมงานไหนบ้าง เนื่องจากทางตำรวจถูก คสช. สั่งให้มาหาข่าว และต้องติดต่ออนุสรณ์ ให้ได้ก่อนเที่ยงวันนี้

วันที่ 22 มิ.ย. สุวรรณา ตาลเหล็ก นักสหภาพแรงงาน และสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ประชาธิปไตย ระบุว่า ขณะที่สุวรรณาเดินทางไปจังหวัดอุทัยธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้โทรศัพท์ติดตามขอพบตัว เพื่อคุยเรื่องกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย.อีกครั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดตามถึง 2-3 ครั้ง สุวรรณาจึงยืนยันว่าทางกลุ่มไม่มีการจัดกิจกรรมอะไรในวันดังกล่าว แต่ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าผู้บังคับบัญชาไม่เชื่อว่าได้มีการพูดคุยกันแล้ว จึงขอพบระหว่างที่สุวรรณากำลังเดินทางกลับ โดยขอนัดพบกันที่จังหวัดสิงห์บุรี

เมื่อพบกันตำรวจนายนี้มาในชุดนอกเครื่องแบบพร้อมผู้หญิงอีกหนึ่งคน โดยไม่ทราบว่าเป็นใครรวม 2 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยย้ำถึงเรื่องกิจกรรมวันที่ 24 มิ.ย. อีกครั้ง แต่สุวรรณาก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่มีการจัดกิจกรรมในนามของกลุ่ม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้สอบถามถึงกิจกรรมของเพจ “หมุดคณะราษฎร” ที่ในกำหนดการจะมีการนัดรวมตัวที่หมุดคณะราษฎร เธอก็ยืนยันกับตำรวจว่าไม่ใช่กิจกรรมของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ถ้าเป็นของทางกลุ่ม ก็จะระบุชัดเจนว่าเป็นของทางกลุ่มจัดเอง หลังการพูดคุยเจ้าหน้าที่ตำรวจขอถ่ายภาพเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา ก่อนแยกย้ายกันกลับ วันเดียวกันญาติของสุวรรณาโทรศัพท์บอกอีกว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่บ้านเก่าของเธอที่จังหวัดชัยนาทด้วย แม้ว่าบ้านหลังดังกล่าวจะเป็นบ้านร้างที่ประกาศขายไปแล้วก็ตาม

วันเดียวกัน (23 มิ.ย.) อานนท์ นำภา ทนายความ ยังได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล โทรศัพท์ติดต่อมาสอบถามว่าวันที่ 24 มิ.ย. นี้ จะมีการจัดกิจกรรมอะไรหรือไม่ เจ้าหน้าตำรวจได้รับแจ้งมาจากทหารว่าไม่อยากให้จัดกิจกรรมใดๆ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จุดที่เคยมีหมุดคณะราษฏร ทางทนายอานนท์ได้ตอบกลับไปว่า ไม่มีการจัดกิจกรรมใด เนื่องจากช่วงนั้นตนเองจะเดินทางออกต่างจังหวัด จนล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายสายสืบ โทรศัพท์ติดต่อมายังทนายอานนท์ โดยระบุว่า ทราบข่าวว่าวันที่ 24 มิ.ย. ทนายอานนท์จะทำการเดินทางไปต่างจังหวัด ไม่ได้ไปจัดกิจกรรมใดๆที่หมุดคณะราษฏร จึงอยากให้ทนายอานนท์ทำการส่ง Location ไปให้ตนหน่อย เพื่อที่จะได้รายงาน “นาย”

นอกจากกรณีข้างต้น ศูนย์ทนายความฯ ยังได้รับทราบข้อมูลอีกว่า ยังมีนักกิจกรรมที่ถูกตำรวจโทรศัพท์ติดตามโดยระบุถึงเรื่องกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. อีกอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ นายณัฐพัช อัคฮาด นายธนพล พันธ์งาม และนักกิจกรรมที่ไม่ประสงค์ออกนามอีก 2 คน โดย 1 ใน 2 เพียงแค่กดเข้าร่วมกิจกรรมในเฟซบุ๊กของเพจ “หมุดคณะราษฎร” แต่ก็มีบางรายที่ถูกตำรวจไปหาที่บ้านของครอบครัวด้วย เช่น นายกันต์ แสงทอง และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่พบไม่ได้พบตัวโดยตรง และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกเหตุผลที่มากับคนในครอบครัว

ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อจับตา ติดตาม และห้ามปรามการจัดกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ และไม่ใช่เพียงปรากฎการณ์ต่อกรณีกิจกรรมวันที่ 24 มิ.ย. เท่านั้น วิธีการคุกคามเหล่านี้เจ้าหน้าที่รัฐยังได้ใช้มาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงช่วงครบรอบวันสำคัญในทางการเมืองของไทย หรือเมื่อมีการนัดทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ

X