ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 10 ปี มาแล้วนี้ มีผู้เห็นต่างทางการเมืองกับฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐในมือถูกดำเนินคดีจำนวนมากมาย ด้วยข้อหาต่าง ๆ กัน หนึ่งในนั้นคือข้อหาหรือความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”

กรณีที่เป็นที่รับรู้ในแวดวงผู้ที่สนใจติดตามสถานการณ์การเมือง ได้แก่ กรณีของสุดสงวน สุธีสร หรือ อ.ตุ้ม อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 1 เดือน ด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 จากกรณีจัดชุมนุมวางพวงหรีดที่ศาลแพ่ง หลังศาลแพ่งมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. (อ่านข่าวประชาไท)

หรือล่าสุด กรณีนักศึกษา/นักกิจกรรม 7 คน ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า กระทำการละเมิดอำนาจศาล จากกรณีจัดกิจกรรมบนฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อสะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม และให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง กล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย และไม่ได้รับการประกันตัวหลังถูกถอนประกันเมื่อเดือนธันวาคม 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งสองกรณีนี้ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนทั่วไปถึงการตีความกฎหมายในความผิดฐานนี้อย่างกว้างขวาง จนเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ ตลอดจนสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในที่สุด

มีงานศึกษาถึงการใช้อำนาจของศาลในคดีละเมิดอำนาจศาลที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ได้แก่ วิทยาพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2554 เรื่อง ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลโดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี ซึ่งได้ศึกษาถึงแนวความคิดในการบัญญัติถึงการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในต่างประเทศ ตลอดจนกลไก โทษ และการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนากฎหมายไทยให้เหมาะสมต่อไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอสรุปย่อเนื้อหามาเผยแพร่ในที่นี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาของผู้ที่สนใจ (ดูเอกสารฉบับเต็มที่นี่)

 

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

อำนาจตุลาการหรือศาล ได้รับการยอมรับกันในระบบกฎหมายทุกระบบของโลกว่าเป็นที่พึ่งของประชาชน เนื่องจากเป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และประชาชนมีความเชื่อถือ ศรัทธาในการทำหน้าที่ ซึ่งต้องวางตัวเป็นกลาง อย่างไรก็ดี แม้ศาลจะสามารถวางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่และพยายามดำเนินกระบวนพิจารณาให้ดีที่สุดอย่างไร ก็ยังอาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นได้ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้น เพื่อให้ศาลสามารถบรรลุเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีการให้เครื่องมือแก่ศาลในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างพิจารณา เครื่องมือดังกล่าวก็คือ การกำหนดให้การกระทำที่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดี หรือการประวิงคดีให้ล่าช้าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีใช้กันอยู่ในทุกระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (ระบบกฎหมายจารีตประเพณี) หรือซีวิลลอว์ (ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร) แต่แนวคิดพื้นฐาน ตลอดจนความมุ่งหมายในการบัญญัติย่อมแตกต่างกันตามแต่นิติวิธีของระบบกฎหมาย ส่งผลให้การกระทำที่เป็นความผิดฐานนี้ ตลอดจนวิธีพิจารณาคดี และโทษแตกต่างกันออกไป

สำหรับในประเทศไทย มีการบัญญัติถึงความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ไทยยังใช้กฎหมายตราสามดวง แต่เพิ่งจะเริ่มถูกศาลนำมาใช้กันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการยกขบวนมาประท้วงแล้วด่ากันที่บริเวณศาลยุติธรรม กรณีการพูดเชิงดูหมิ่นศาลปกครอง หรือกรณีที่มีการส่งมอบสินบนกันภายในอาคารที่ทำการของศาลฎีกา

ทั้งนี้ ในคดีละเมิดอำนาจ ศาลสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวน ฟ้องร้อง ดำเนินคดีให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไปแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและคลางแคลงใจว่า การที่ศาลลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นไปโดยชอบหรือไม่ อันอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของศาล

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาถึงแนวความคิดในการบัญญัติถึงการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในต่างประเทศ ตลอดจนกลไก โทษ และการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนากฎหมายไทยให้เหมาะสมต่อไป

 

หลักการที่ใช้ในการควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้ศาลสามารถบรรลุเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการให้เครื่องมือศาลในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างพิจารณา เครื่องมือดังกล่าวก็คือ การกำหนดให้การกระทำที่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดี หรือการประวิงคดีให้ล่าช้าเป็นการกระทำที่เป็นความผิด ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) เรียกว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่มุ่งในทางรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณา ส่วนในประมวลกฎหมายอาญาเรียกว่า ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ซึ่งเป็นข้อบัญญัติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อรักษาความยุติธรรมในการเป็นความ แต่ทั้งสองต่างก็มีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันดังที่กล่าวแล้ว

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดพิเศษที่ไม่ต้องมีการฟ้องร้องให้ศาลลงโทษ หากแต่ศาลใช้อำนาจตามบทบัญญัติในเรื่องนี้สั่งลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลได้อย่างเฉียบขาด และโดยฉับพลัน ไม่ว่าผู้ละเมิดอำนาจศาลนั้นจะเป็นคู่ความในคดีที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่ ทนายความ พยาน หรือบุคคลภายนอกก็ตาม ความผิดฐานนี้ไม่ได้กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษาเป็นการส่วนตัว หากแต่คำนึงถึงการผดุงรักษาความยุติธรรมในการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นกฎหมายสากลทั่วไป ที่ศาลแต่ละประเทศทั่วโลกทั้งในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ อย่างเช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และซีวิลลอว์ อย่างฝรั่งเศส เยอรมนี  และไทย ต่างก็มีกฎหมายในลักษณะนี้

 

มาตรการที่ใช้ในการควบคุมกระบวนพิจารณาของศาลในต่างประเทศ

  • ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษซึ่งใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ มีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 หรือตั้งแต่ตั้งระบบศาลคอมมอนลอว์ขึ้นเป็นครั้งแรก

เนื่องจากระบบกฎหมายคอมมอนลอว์เป็นระบบที่ให้ศาลเป็นผู้บริหารงานยุติธรรม และพัฒนาหลักกฎหมายโดยอาศัยเหตุผลและความยุติธรรม (Justice and Equity) คำพิพากษาของศาลถือเป็นกฎหมาย จึงจำเป็นมากกว่าระบบกฎหมายอื่นที่จะต้องมีการป้องกันไม่ให้บุคคลใดมาทำให้ศาลเสียความยุติธรรม การบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงมีแนวโน้มคุ้มครองตัวผู้พิพากษา ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควรได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ในระบบนี้จึงเห็นว่าความผิดฐานนี้ควรรวมไปถึงการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาล รวมทั้งให้ความคุ้มครองไปถึงคณะลูกขุนด้วย ทำให้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในระบบคอมมอนลอว์ค่อนข้างกว้างขวาง

การละเมิดอำนาจศาลแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การละเมิดอำนาจศาลในทางแพ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล กับการละเมิดอำนาจศาลในทางอาญา ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษถึงจำคุกได้ทั้งสองประเภท

นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งได้เป็นการละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาล เช่น การทำร้ายและข่มขู่บุคคลในห้องพิจารณา การใช้คำดูถูกเหยียดหยามผู้พิพากษา และการละเมิดอำนาจศาลที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลนั้น ซึ่งมักเกิดกับสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาของศาล ทั้งนี้ การแบ่งในลักษณะนี้ส่งผลต่อวิธีการดำเนินคดี กล่าวคือ ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำผิดที่ละเมิดอำนาจศาลต่อหน้าได้ทันที โดยไม่ต้องมีการจับกุม ฟ้องร้อง หรือพิจารณาคดี

แต่หากการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล ศาลต้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป เพราะแม้ว่ากฎหมายจะมีวัตถุประสงค์ให้ศาลใช้มาตรการพิเศษลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันที แต่ก็มีหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางสากลตามที่ปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกระทำผิดอาญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา และทุกคนที่ถูกกล่าวว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีแบบเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี ทำให้ในกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นนอกห้องพิจารณา อธิบดีอัยการต้องเป็นผู้ฟ้องร้อง  และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาเกือบทุกประการ

นอกจากนี้ การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้นั้น ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา รวมทั้งโจทก์ต้องพิสูจน์จนปราศจากความสงสัยว่า จำเลยได้กระทำผิดจริง ศาลจึงจะสามารถลงโทษจำเลยได้ โดยศาลมีอำนาจพิพากษาปรับได้ไม่เกิน 20 ปอนด์ และจำคุกได้ไม่เกิน 3 เดือน และจำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ ในกรณีที่การกระทำใดเป็นทั้งการละเมิดอำนาจศาลและเป็นความผิดอาญาเฉพาะอย่างพร้อมกันนั้น ศาลจะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ โดยให้ลงโทษตามความผิดอาญาเฉพาะอย่างเท่านั้น

  • ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกัน โดยมีต้นกำเนิดมาจากกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษ แต่ภายหลังหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดขอบเขตความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแทนที่หลักกฎหมายคอมมอนลอว์ที่รับมาจากอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลในสหรัฐอเมริกามีลักษณะคล้ายคลึงกับในอังกฤษ เช่น การประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลในระหว่างการพิจารณา หรือใกล้เคียงกับศาล เพื่อรบกวนการพิจารณาคดี การไม่เชื่อฟังคำสั่งศาลที่สั่งแก่คู่ความ พยาน หรือผู้เข้าฟังการพิจารณา

โดยเหตุที่อำนาจการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลโดยรวบรัดตามกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษถูกตั้งข้อรังเกียจมากขึ้นจากแนวความคิดและเหตุผลของคนในยุคปัจจุบัน ศาลสูงและสภาคองเกรสจึงได้เริ่มจำกัดการใช้อำนาจลงโทษโดยรวบรัด โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดี มาตั้งแต่ ค.ศ.1789 โดยให้ศาลใช้อำนาจลงโทษในลักษณะดังกล่าวเฉพาะในกรณีที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลต่อหน้าศาล หรือในที่ใกล้เคียง ซึ่งมีผลในการขัดขวางความยุติธรรม, การประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ศาล และการขัดขืนไม่เชื่อฟังคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของศาลเท่านั้น การละเมิดอำนาจศาลในคดีอาญากรณีอื่น ๆ ต้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป คือ มีการพิจารณาคดี สืบพยาน และซักค้านพยาน

นอกจากนี้ ศาลสูงสหรัฐฯ ได้มีระเบียบข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลว่า ถ้าการละเมิดอำนาจศาลเกี่ยวกับการไม่เคารพหรือวิพากษ์วิจารณ์ในตัวผู้พิพากษาคนใด ผู้พิพากษาคนนั้นจะพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลนั้น ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยยินยอม สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของสหรัฐฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักการพิจารณาและการลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

เช่นเดียวกับในอังกฤษ ผู้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกา และประธานาธิบดีมีอำนาจให้อภัยโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

  • ประเทศเยอรมนี

ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ อย่างเช่น เยอรมนี มีแนวคิดว่า การพิจารณาคดีในศาลมีลักษณะเป็นการประชุมอย่างหนึ่ง ศาลเปรียบเหมือนประธานในที่ประชุม ซึ่งต้องมีอำนาจที่จะควบคุมหรือจัดการกับการรบกวนการพิจารณาคดี เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของเยอรมนีจึงมีวัตถุประสงค์เพียงมุ่งคุ้มครองความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลในระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น การกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาล การรายงานคดีโดยสื่อ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ ย่อมทำได้โดยเสรี ไม่เป็นความผิดฐานนี้แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในประเทศเยอรมนีจึงไม่ได้นำหลักการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกับจำเลยในคดีอาญาทั่ว ๆ ไป โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้พิพากษาเพียงคนเดียวมีอำนาจในการพิจารณาคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และผู้พิพากษาสามารถไต่สวนได้เพียงฝ่ายเดียว ผู้ถูกกล่าวหาไม่จำเป็นต้องมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ วิธีพิจารณาเช่นนี้สอดคล้องกับโทษในความผิดฐานนี้ ที่ไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา มีเพียงโทษปรับหรือถูกกักขัง ซึ่งไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินไป

 

มาตรการที่ใช้ในการควบคุมกระบวนพิจารณาในประเทศไทย

  • สมัยที่ใช้กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง ลักษณะตระลาการ มาตรา 7 บัญญัติว่า หากคู่ความทะเลาะโต้เถียงกันกลางศาลให้ผู้พิพากษาห้ามปรามเสีย หากคู่ความฝ่ายใดไม่เชื่อฟัง ก็ให้เสมียนศาลเอาขื่อจำผู้นั้นไว้จนค่ำ

  • สมัยที่ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127 บัญญัติเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ว่า ถ้าคู่ความผู้ใดประพฤติอาการไม่เรียบร้อย ผู้พิพากษาต้องมีคำสั่งขับไล่ให้ออกจากศาล แล้วให้พิจารณาคดีต่อไปได้ (มาตรา 134), ผู้ใดจงใจปลอมเข้ามาเป็นพยานฝ่ายโจทก์หรือจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 135), ผู้ใดหมิ่นประมาทแก่ผู้พิพากษาในเวลาทำการตามหน้าที่ในศาล ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 136) หรือศาลจะสั่งให้จับตัวผู้หมิ่นประมาทคุมขังไว้หรือขับไล่ไม่ให้เข้าศาลมีกำหนดเวลาเท่าใดก็ได้ (มาตรา 137)

คำพิพากษาฎีกาในยุคสมัยนั้นก็ได้วินิจฉัยไว้ว่า การกล่าวถ้อยคำผรุสวาทต่อหน้าศาลโดยตั้งใจจะว่าคนอื่น ไม่ได้หมายถึงศาลหรือผู้พิพากษา ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทศาล (ฎีกาที่ 99/2478) และ จำเลยชกต่อยพยานในศาลขณะที่ผู้พิพากษายังไม่ได้ออกนั่งทำการพิจารณาไม่เรียกว่าเป็นการดูถูกหรือหมิ่นประมาทศาล (ฎีกาที่ 228/2478)

  • สมัยที่ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ปัจจุบัน)

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาตรา 30-33 ซึ่งนำไปใช้กับการพิจารณาคดีของศาลทุกประเภท ทั้งศาลอาญา ศาลแรงงาน ศาลภาษี ฯลฯ ไม่ใช่เฉพาะในการพิจารณาคดีแพ่งเท่านั้น

 

การละเมิดศาลยุติธรรม

  • การกระทำที่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล อาจแบ่งได้ดังนี้

(1) ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาล ซึ่งศาลกำหนดตามมาตรา 30 เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดําเนินไปอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว โดยอาจเกี่ยวกับการแต่งกาย หรือความประพฤติของบุคคลที่มาศาล เช่น ห้ามนำสิ่งของมาขายในบริเวณศาล หรือห้ามบุคคลที่เข้าฟังการพิจารณาคดีส่งเสียงเอะอะโวยวาย ทั้งนี้ ศาลอาจจะออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาก็ได้ อย่างไรก็ดี หากการออกข้อกำหนดของศาลเป็นการไม่ชอบ การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 57/2520 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดไม่ให้ ท.เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการ เนื่องจาก ท.ได้เรียกเงินค่าเขียนคำร้องจากคู่ความ เป็นการออกข้อกำหนดที่เกินเลย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 30 การที่ ท.เข้ามาในศาลไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

(2) ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หมายถึง การกระทำที่แสดงถึงความไม่เคารพศาล หรือก่อความรำคาญ หรือทำให้เกิดความขัดข้องแก่การพิจารณาคดี เช่น ส่งเสียงเอะอะโวยวาย กล่าวคำหยาบคาย ทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นในบริเวณศาล หรือแม้แต่บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล (คำพิพากษาฎีกาที่ 235/2514) โดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1715/2548 ได้วินิจฉัยไว้ว่า ความผิดฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัว ศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดก่อน

หากพิจารณาตามถ้อยคำของมาตรา 31(1) การประพฤติตนไม่เรียบร้อยที่จะเป็นความผิดต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาลเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติศาลฎีกาตีความครอบคลุมกว้างขวางมาก มีคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า แม้การกระทำจะอยู่นอกศาล แต่ความไม่เรียบร้อยมาปรากฏในศาล ก็ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้เช่นกัน เช่น การกล่าวอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษา เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล แม้จะกระทำนอกบริเวณศาล แต่มุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หรือกรณีที่ทนายโจทก์เขียนข้อความมาในฟ้องอุทธรณ์ โดยคัดลอกข้อความที่กล่าวหาว่า ศาลไม่เป็นธรรม มาด้วย ถือได้ว่ามุ่งกล่าวเสียดสีศาล โจทก์และทนายโจทก์มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในฐานะที่ประพฤติตนไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่งในบริเวณศาล ตามแนวคำพิพากษานี้ แม้บุคคลไม่ได้เข้าไปในบริเวณศาลเลย แต่การกระทำไปปรากฏต่อศาลก็ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเช่นกัน

(3) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ปรากฏว่าได้เสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว ยังอาจเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 อีกด้วย

(4) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับเอกสารนั้น ซึ่งหมายรวมถึงหมายศาลด้วย และหากทนายความเป็นผู้ยุยงจำเลยให้หลบเลี่ยงไม่รับหมายศาลตลอดมา ทนายก็มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1018/2510)

(5) ตรวจเอกสารซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54 ซึ่งกำหนดให้การตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความต้องร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลอนุญาต

(6) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277 ผู้ที่ศาลจะสั่งตามมาตราดังกล่าว ได้แก่ คู่ความ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลใด ๆ ที่ศาลเชื่อว่าจะให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์

(7) ผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ มีการกระทำต่อไปนี้

ก.เปิดเผยข้อเท็จจริงหรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคําสั่งห้ามโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีสั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือห้ามการโฆษณาโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเปิดเผยคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาได้อ่านแล้วโดยเปิดเผย และการวิจารณ์คำพิพากษาในเชิงวิชาการ แต่หากโฆษณาคำพิพากษาที่ยังไม่ได้อ่านโดยเปิดเผย หรือวิจารณ์คำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดไปในทำนองติเตียน ก็อาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

ข.แสดงข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน ศาล คู่ความ หรือพยานแห่งคดี ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น แสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี, รายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน หรือชักจูงให้เกิดคําพยานเท็จ

กล่าวโดยสรุปว่า การกระทำใด ๆ ก็ตาม หากได้กระทำภายในบริเวณศาล โดยแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงศาล ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดในตัวเองหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในทุกกรณี ส่วนการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกศาล กรณีที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง อย่างชัดแจ้ง ก็ย่อมเป็นความผิดอย่างแน่นอน แต่กรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้ง ศาลไทยก็ได้ตีความขยายขอบเขตไป ให้การกระทำที่ไม่ได้เกิดในบริเวณศาล แต่มีผลเกิดขึ้นในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยเช่นกัน

  • สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

ศาลได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาฎีกามาตลอดว่า ในกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้า ศาลสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดได้โดยทันที ไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวนหรือรับฟังพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก เพราะถือว่าศาลได้ทราบข้อเท็จจริงเองแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1604/2511) ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิต่อสู้คดี ส่วนกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล แม้ศาลต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน จึงจะพิจารณาลงโทษได้ แต่ศาลก็ได้วางหลักเพิ่มเติมไว้ในคำพิพากษาฎีกาตลอดมาว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นบทกฎหมายพิเศษที่ให้ศาลค้นหาความจริงได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเหมือนในคดีอาญาทั่วไป หากพยานได้สาบานตนแล้ว และศาลชั้นต้นได้บันทึกถ้อยคำของพยานเอาไว้ก็ถือว่าเป็นการไต่สวนที่ชอบแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1159/2526) เมื่อศาลเห็นว่าสอบปากคำพยานได้ข้อเท็จจริงชัดพอ ก็วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงนั้นได้เลย ไม่จำเป็นต้องรับฟังพยานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก (คำพิพากษาฎีกาที่ 3809/2532) จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้คดี ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาต่อหน้า และไม่มีสิทธิคัดค้านผู้พิพากษาแต่อย่างใด คงมีสิทธิเพียงการอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยกเว้นการละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นในศาลฎีกา ซึ่งจำเลยไม่มีแม้แต่สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษา

  • วิธีพิจารณาและโทษ

แม้การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในบางกรณีจะมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดอาญา และศาลลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะไปดำเนินคดีอาญากับบุคคลนั้นอีก เพราะไม่ถือเป็นการดำเนินคดี 2 ครั้ง ในการกระทำความผิดเดียวกัน คำพิพากษาฎีกาที่ 87/2484 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานกรณีเช่นนี้ ในคดีที่จำเลยใช้รองเท้าตีผู้เสียหายในบริเวณศาลว่า เรื่องที่จำเลยทำตัวไม่เรียบร้อยละเมิดอำนาจศาล ศาลได้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาโดยไม่มีโจทก์ฟ้อง เมื่อไม่มีฟ้อง อัยการและโจทก์ในคดีนี้ก็ย่อมมีสิทธิมาฟ้องฐานทำร้ายร่างกายอีกได้ โดยศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ได้หมายเหตุท้านคำพิพากษาฎีกาไว้ว่า ที่กฎหมายให้อำนาจศาลลงโทษการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ทันทีโดยไม่มีโจทก์ฟ้องก็เพื่อให้มีความเคารพยำเกรงศาลเท่านั้น

สำหรับโทษของการกระทําความผิดฐานละเมิดอํานาจศาลนั้น ศาลนั้นมีอํานาจสั่งลงโทษโดยไล่ออกจากบริเวณศาล ในชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณา หรือให้ลงโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งจากการศึกษาคำพิพากษาฎีกาพบว่า ศาลลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดฐานนี้ถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษสูงสุด เป็นจำนวนมาก

การลงโทษโดยไล่ออกจากบริเวณศาลนั้น หากผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาลเป็นจำเลยในคดีอาญา เป็นปัญหาว่าศาลจะไล่จำเลยออกจากห้องพิจารณาได้หรือไม่ เพราะในการพิจารณาคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่เท่าที่ปรากฏในทางปฏิบัติยังไม่เคยมีกรณีที่ศาลสั่งไล่จำเลยในคดีอาญาออกนอกห้องพิจารณา

  • การอุทธรณ์ฎีกา

หากบุคคลใดถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ว่าตนไม่ได้กระทำผิด หรือขอลดหย่อนผ่อนโทษตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 แต่จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษผู้อื่นฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยไม่ได้ และหากการละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นในศาลฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้อีกต่อไป (คำสั่งศาลฎีกาที่ 4559/2551)

 

การละเมิดอำนาจศาลอื่นนอกจากศาลยุติธรรม

การกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามที่ ป.วิ.แพ่ง บัญญัติไว้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น นำมาใช้ในศาลปกครองด้วย ตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 64 บัญญัติไว้ แต่อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 65 ได้ยกเว้นให้การวิจารณ์การพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริต ด้วยวิธีทางวิชาการ ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาล เป็นการรับรองเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ ซึ่งแตกต่างจาก ป.วิ.อาญา

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ยังได้บัญญัติโทษของการละเมิดอำนาจศาลไว้เป็นการเฉพาะไว้ในมาตรา 64 แล้ว จึงไม่ได้นำการกำหนดโทษใน ป.วิ.อาญา มาใช้ โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลปกครองอาจได้รับโทษตักเตือนโดยจะเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ หรืออาจถูกไล่ออกจากบริเวณศาล หรืออาจถูกจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตราดังกล่าวยังบัญญัติไว้ด้วยว่า การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสั่งลงโทษจำหรือปรับ ให้องค์คณะอื่นเป็นผู้พิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งคล้ายคลึงกับกฎหมายของสหรัฐฯ และในทางปฏิบัติก็ไม่ปรากฏว่า ศาลปกครองได้มีการลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างเช่นที่ปรากฏในศาลยุติธรรม

ส่วนการละเมิดอำนาจศาลทหาร พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 บัญญัติให้ศาลทหารมีอำนาจลงโทษบุคคลที่ละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งบัญญัติให้นำ ป.วิ.แพ่งมาใช้บังคับได้ในกรณีที่ข้อกำหนดนี้ไม่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังให้อำนาจศาลออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลได้ด้วย

 

ข้อเสนอแนะของผู้เขียน

จากการศึกษาจะเห็นว่า การบัญญัติและตีความกฎหมายเกี่ยวกับขอบเขตของการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลยังไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายของไทยที่เป็นระบบซีวิลลอว์ ซึ่งในกำหนดความผิดฐานนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้พิพากษาจากการกระทำใด ๆ ที่ไม่ได้มีผลรบกวนการพิจารณาคดี นอกจากนี้ การกำหนดโทษก็มีความรุนแรงเกินไปไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้กระบวนพิจารณาในศาลสามารถดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็วเท่านั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้สอดคล้องกับแนวคิดของระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ดังนี้

  • กำหนดขอบเขตของการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลให้ชัดเจน

1) การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลควรครอบคลุมเฉพาะการกระทำที่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาของศาลที่เกิดขึ้นภายในห้องพิจารณา หรือภายในอาณาบริเวณของศาลเท่านั้น ไม่ควรขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปถึงการกระทำความผิดต่อศาลที่เกิดขึ้นหรือกระทำภายนอกศาล หรือการกระทำความผิดที่ไม่ได้รบกวนขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล เช่น การเรียงคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นใดในทางส่อเสียดเหยียดหยามผู้พิพากษา (คำพิพากษาฎีกาที่ 235/2514) หรือการพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลภายในบริเวณศาล (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 4599/2551) การกระทำที่เป็นเรื่องไม่จำเป็นเกี่ยวกับการรักษาความสงบในศาล หากศาลเห็นว่าเป็นความผิด ควรฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นคดีอาญาทั่วไป ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นความผิดอยู่แล้ว

 

2) การแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ไม่ควรให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอีกต่อไป เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางการพิจารณาคดี นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งศาลสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

3) การจงใจหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสาร ซึ่งหมายรวมถึงหมายศาลด้วย ไม่ควรเป็นความผิดฐานนี้เช่นกัน เพราะปัจจุบันมีกฎหมายบัญญัติว่า หากไม่มีผู้รับหมาย ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานปิดหมายได้ ซึ่งเท่ากับบุคคลนั้นได้รับหมายแล้ว หากไม่มาศาลย่อมมีความผิด นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกระบวนพิจารณาของศาลจนถึงขั้นต้องถูกลงโทษจำคุก

4) การตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความไป โดยฝ่าฝืน ป.วิ.อาญา มาตรา 54 ผู้เขียนเห็นว่าเข้าลักษณะการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นอีกอนุมาตราหนึ่ง

5) การขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่ง หรือมีหมายเรียก แม้จะทำให้การพิจารณาคดีของศาลล่าช้าไปบ้าง แต่หากคู่ความไม่ใส่ใจผลประโยชน์ของตนก็ย่อมเป็นผลร้ายกับตัวเองอยู่แล้ว ศาลไม่ควรต้องไปลงโทษอีก นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 ก็บัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่แล้ว

6) การที่สิ่งพิมพ์เปิดเผยข้อเท็จจริงหรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งศาลได้มีคําสั่งห้ามไว้ ผู้เขียนเห็นว่า ควรที่จะคงไว้เป็นความผิดฐานนี้ต่อไป แต่การแสดงความเห็นโดยวิธีใด ๆ โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน ศาล คู่ความ หรือพยานแห่งคดี ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป ไม่ควรเป็นความผิดฐานนี้ ควรมีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องนี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2477 ให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยใช้ระบบผู้พิพากษาอาชีพซึ่งต้องมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

  • ตัดโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ถือเป็นความผิดในทางอาญา การที่กฎหมายให้อำนาจศาลลงโทษปรับหรือจำคุกผู้กระทำความผิดได้ในฉับพลัน เป็นเพียงให้อำนาจศาลพิเศษเพื่อให้ควบคุมการพิจารณาให้เป็นไปได้ด้วยดี ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกับการลงโทษทางอาญา และผู้ต้องหาก็ไม่ได้รับหลักประกันสิทธิเช่นจำเลยในคดีอาญา จึงควรบัญญัติโทษให้เบาลง เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินไป โดยผู้เขียนเห็นว่า ควรให้มีโทษตักเตือน เช่นเดียวกับที่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ, เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ไม่ให้นานเกินไปจนกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล, หากผู้กระทำผิดถูกจำคุกในคดีอาญาจากการกระทำที่เป็นการละเมิดศาลด้วย ควรให้หักวันที่ต้องขังในคดีละเมิดอำนาจศาลออกจากโทษจำคุกในคดีอาญาได้ เช่นเดียวกับในประเทศเยอรมนี และศาลควรมีดุลพินิจเปลี่ยนแปลงสภาพบังคับได้ตามสมควร เช่น หากผู้กระทำผิดได้สำนึกในความผิด และขอขมาต่อศาลแล้ว ศาลอาจสั่งด หรือลดโทษผู้นั้นเสียได้ตามที่เห็นสมควร  แต่หากผู้กระทำผิดเลือกที่จะอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลก็ไม่จำเป็นต้องดหรือลดการลงโทษ

  • นำเอาหลักคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญามาใช้ในกรณีละเมิดอำนาจศาล

เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในการคุ้มครองสิทธิจำเลย ตามหลักการคัดค้านหรือตั้งรังเกียจผู้พิพากษา ในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมาจากหลักที่ว่า บุคคลไม่ควรจะเป็นผู้ตัดสินในคดีที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ โดยกำหนดให้ผู้พิพากษามีอำนาจลงโทษการละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นต่อหน้าได้ เฉพาะการลงโทษตักเตือน หรือไล่ออกจากศาล ซึ่งไม่ได้กระทบสิทธิและเสรีภาพมากเกินไป เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล แต่หากเป็นความผิดถึงขั้นกักขัง ควรกำหนดให้ผู้พิพากษาคนอื่นที่ไม่ได้ประสบเหตุการณ์การละเมิดอำนาจศาลเป็นผู้ไต่สวนและลงโทษแทน

นอกจากนี้ หลักการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในการอุทธรณ์ฎีกาก็ควรต้องนำมาใช้ต่อไป โดยหากกำหนดให้มีเพียงโทษกักขังในระยะเวลาไม่นาน ระยะเวลาในการอุทธรณ์ก็ควรให้มีระยะเวลาไม่นาน เพื่อให้ศาลสูงตรวจสอบการช้อำนาจลงโทษของศาลชั้นต้นโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

 

X