ประมวลผล 3 คำพิพากษา “คดีป่าไม้” ผลพวงตามนโยบายทวงคืนผืนป่าในเชียงใหม่

ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีนัดหมายฟังคำพิพากษาของชาวบ้านใน 3 พื้นที่ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำเลยในคดีบุกรุกป่าภายหลังจากที่มีการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าจาก คสช. โดยเฉพาะการดำเนินการตามคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าในหลายพื้นที่

คดีเหล่านี้สาเหตุจากปากคำของจำเลย มาจากการดำเนินกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการอยู่และใช้ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน อาทิเช่น การเข้าไปตรวจสอบน้ำประปาภูเขา การทำแนวกันไฟเข้าหมู่บ้าน หรือการทำโฮมสเตย์ภายใต้การส่งเสริมของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ต่อไปนี้คือประมวลผลการพิพากษาโดยสรุปอันอาจช่วยสะท้อนสถานการณ์ความขัดแย้งบางส่วนภายใต้นโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐบาลทหารที่ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ คดีเหล่านี้มีทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อชาวบ้านทั้ง 3 พื้นที่

 

(ภาพจำเลยที่ 2 และ 3 ในคดีชาวบ้านลาหู่บ้านห้วยนกกก)

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 คดี ‘3 ชาวบ้านลาหู่บ้านห้วยนกกก’ บุกรุกป่า-ทำร้ายจนท.ป่าไม้

คดีแรกเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.60 ศาลจังหวัดฝางได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ 3 ราย จากหมู่บ้านห้วยนกกก ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ นายประแอ๋ คีรีรัศมี,นายวิฑูรย์ คีรีรัศมี บุตรชายนายประแอ๋ และนายจะกุย จะปะโหลรวม 3 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557 นายประแอ๋ได้บุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต คิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 68 ตารางวา จากนั้น จำเลยทั้งสามคนได้ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวาง และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ส.ค.59 ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเลือกจะต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ จากนั้นวันที่ 27 ก.ย. 59 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 2 ศาลลงโทษ จำคุก 6 เดือน แต่โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลให้รอการลงโทษ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษ จำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ข่าวก่อนหน้านี้)

นายจะกุย จำเลยที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี และได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษาตัดสินให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3

คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 โดยฝ่ายจำเลยให้ข้อมูลว่าวันเกิดเหตุ นายประแอ๋เข้าไปทำสวนลิ้นจี่ในพื้นที่ซึ่งทำกินมามากว่า 20 ปีแล้ว แต่ระหว่างทางที่ไปตรวจสอบน้ำประปาภูเขาบริเวณแหล่งต้นน้ำซึ่งไม่ไหลในวันนั้น ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่อุทยานพร้อมอาวุธปืน ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พยายามจะเข้าจับกุม ทำให้เขาตกใจกลัว พยายามส่งเสียงแจ้งคนมาช่วย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ไม้ตีเข้าที่ศีรษะ จนศีรษะแตกและสลบไป จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปไว้ที่กระท่อมใกล้ถนน นำน้ำมาราดตัว และพูดข่มขู่ให้ยอมรับสารภาพว่าได้บุกรุกป่าใหม่

ขณะนั้น นายวิฑูรย์ บุตรชาย ได้เดินทางมาติดตามบิดาในที่เกิดเหตุ พบนายประแอ๋สลบอยู่ จึงพยายามขอร้องให้เจ้าหน้าที่นำตัวไปส่งโรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม นายวิฑูรย์จึงโทรศัพท์ติดต่อไปที่ผู้นำชุมชนให้มาช่วยเจรจา จากนั้นมีชาวบ้านห้วยนกกกหลายสิบคนเดินทางมา เพื่อพยายามนำตัวนายประแอ๋ส่งโรงพยาบาล จนนำไปสู่เหตุชุลมุนและการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่

         

คดีชาวบ้านลีซูรุกป่าสงวน เหตุทำแนวกันไฟเข้าหมู่บ้าน ให้การรับสารภาพ จำคุก 6 เดือน ปรับ 42,311 บาท

คดีที่สอง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาคดีของนายอดินันท์ เลายี่ป่า ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู บ้านห้วยหก ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จำนวน 2 งาน 48 ตาราวา  โดยทางฝ่ายจำเลยระบุว่าเหตุในคดีนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 เม.ย.59ได้เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่หมู่บ้าน ทำให้นายอดินันท์ได้เข้าไปทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าลามเข้าไปในพื้นที่บ้านของตัวเองและหมู่บ้านห้วยหก แต่ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังมาถ่ายรูปเอาไว้ ก่อนมีการเข้าจับกุมดำเนินคดี พื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณใกล้ที่อยู่อาศัยของนายอดินันท์เอง และพื้นที่บริเวณรอบที่พักอาศัย ซึ่งก็มีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่อดีตแล้ว

ก่อนหน้านี้วันที่ 20 มิ.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานในคดีของนายอดินันท์ แต่จำเลยซึ่งในตอนแรกให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ได้แจ้งขอกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพ ศาลจึงให้พนักงานคุมประพฤติไปดำเนินการสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลย เพื่อนำมาประกอบคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นได้พิพากษา โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พิพากษาให้จำคุก 1 ปีปรับ 42,311 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษจำคุกกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 42,311 บาท และจากการสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติดมาก่อน และพ้นโทษไปเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นภายหลังจากที่มีการออกพ.ร.บ.ล้างมลทินพ.ศ.2550 จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินดังกล่าว โทษจำคุกของจำเลยจึงไม่รอการลงอาญา

 

พิพากษาคดีบุกรุกป่าชาวบ้านลาหู่ทำโฮมสเตย์ตามรัฐส่งเสริม แต่จนท.อ้างนโยบายทวงคืนผืนป่าดำเนินการ

คดีสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 ศาลจังหวัดฝางได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายสุริยา เกิดโอฬาร และนายอาจหาญ จตุพรไพร ชาวบ้านชาติพันธุ์ลาหู่ 2 รายจากบ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวน, สร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยจำเลยทั้ง 2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานสร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาบุกรุกป่าสงวนจำเลยทั้งสองขอต่อสู้คดี

ภายหลังจากได้สืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้น  ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานสร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี  แต่ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนที่จำเลยทั้งสองได้ต่อสู้นั้นศาลเห็นว่าพื้นที่เกิดเหตุ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ขอใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมของโครงการหลวงก่อนแล้ว ทำให้พื้นที่เกิดเหตุไม่หลงเหลือสภาพความเป็นป่าแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพความเป็นป่าสงวนได้อีกพิพากษายกฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

จำเลยในคดีนี้ระบุว่าก่อนหน้าที่จะถูกดำเนินคดีได้มีโครงการของรัฐเองที่เข้ามาส่งเสริมให้มีการทำกิจการโฮมสเตย์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ตั้งแต่ราวช่วงปี 2550  อีกทั้งโครงการหลวงยังเคยเป็นผู้พาชาวบ้านไปอบรมเกี่ยวกับการทำกิจการโฮมสเตย์อีกด้วย และก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด แต่กลับมาถูกดำเนินคดีนี้

 

ทนายชี้ผลกระทบนโยบายทวงคืนผืนป่ายังดำเนินต่อไป

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ให้ความเห็นต่อกรณีทั้งสามว่า กรณีเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของคสช. โดยเฉพาะกรณีห้วยนกกก ที่เจ้าหน้าที่มีการสนธิกำลังเข้าบังคับการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายจนเกิดการเผชิญหน้ากับชาวบ้านในพื้นที่และเกิดเหตุปะทะกันในคดีขึ้น

ส่วนกรณีบ้านขอบด้งนั้น สะท้อนให้เห็นการไล่จัดการกับนายทุนที่มีการบุกรุกป่าคล้ายกับสถานการณ์ที่ภูทับเบิก แต่การดำเนินการกลับส่งผลกระทบกับชาวบ้านธรรมดาที่สร้างโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพัก และไม่ใช่นายทุนอยู่ด้วย ทางศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นก็พยายามติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดและเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อชาวบ้านที่เดือดร้อน นายสุมิตรชัย ย้ำว่า คสช.ไม่ได้หยุดการดำเนินการทวงคืนผืนป่าไป เพียงแต่มันเป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้างเท่านั้นเอง และกรณีจำนวนมากก็ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

X