ศาลฎีกาพิพากษาคดีหนูหริ่งไม่รายงานตัว คสช. ตามศาลอุทธรณ์ คุก 2 เดือนแต่ให้รอลงโทษ ปรับ 3พัน บ.

9 ส.ค.2560 ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก. ลายจุด” ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดเรื่องการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 จากการที่ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. ตามคำสั่ง ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ให้พิพากษาลงโทษตามศาลอุทธรณ์ คือให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศ คสช. ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

คดีนี้เหตุที่นายสมบัติยื่นคำร้องขอฎีกาคดีตนเอง เพราะเห็นว่าในชั้นอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษาโดยนำข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กลับมาพิจารณาลงโทษจำคุกอีก ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องในข้อหานี้ไปแล้วและมีการเพิ่มโทษ ทั้งนายสมบัติก็ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ สามารถอ่านประเด็นที่นายสมบัติฎีกาได้ ที่นี่

เวลา 9.40 น. ผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่าในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่าขณะที่ คสช.ออกประกาศและคำสั่งนั้น คสช.ยังไม่มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่มีอำนาจออกคำสั่งใดๆ การกระทำของจำเลยที่ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. เป็นการใช้สิทธิต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. จึงไม่เป็นความผิด ประเด็นนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง คสช. หลังยึดอำนาจแล้วนอกจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก ยังได้ออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการต่างๆ ที่เป็นการใช้อำนาจบริหาร แสดงให้เห็นว่า คสช. สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว หากยังไม่สำเร็จก็ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารประเทศได้

อีกทั้ง จำเลยอ้างบทบัญญัติมาตรา 69 และ 70 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ศาลเห็นว่าตราบใดการยึดอำนาจการปกครองยังไม่สำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ด้วยเหตุผลข้างต้น คสช.จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สิทธิของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วนับตั้งแต่ คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง นอกจากนั้นไม่ปรากฏการต่อต้านจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐในครั้งนี้จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้ ส่วนที่ว่าต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดและต้องมีพระบรมราชโองการมารับรองสถานะของคณะรัฐประหารเป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดที่ว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าว

ประเด็นที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ไปรายงานตัวต่อคสช.ในวันที่ 23 พ.ค.2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นแล้ว แต่ต่อมา คสช. ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 ที่กำหนดให้จำเลยไปรายงานตัวในวันที่ 24 พ.ค.2557 หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง ศาลเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 แต่ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557

ทั้งนี้ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้มีเจตนากำหนดโทษใหม่แก่ผู้ไม่มารายงานตัวตามรายชื่อในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1-3/2557 เนื่องจากมีการกำหนดโทษเอาไว้ตามประกาศ คสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้แก้ไข

ประเด็นที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาตามความผิดนี้ด้วย ศาลเห็นว่าในมาตราดังกล่าวระบุว่า “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” เมื่อ คสช.มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยเข้ารายงานตัว คำสั่งของ คสช. จึงเป็นคำสั่งตามมาตรา 368 ด้วย ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลย แม้ว่าไม่ได้มีการระบุชัดแจ้งว่าเป็นการแจ้งข้อหาดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อหาตามบทกฎหมายโดยชอบแล้ว

ศาลฎีกาจึงเห็นว่าฎีกาของนายสมบัติทุกข้อฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษาว่านอกจากประเด็นที่ศาลฎีกาให้แก้ไขไม่ปรับบทลงโทษตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2559 แล้ว ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คือจำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายในวันที่ 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัว ก่อนจะถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาท ส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดี (อ่านที่นี่)

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2559 แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 และฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช. อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี (อ่านที่นี่)

คำพิพากษาศาลทั้ง3 ชั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา

X