ย้อนดูคดีและชีวิต “ศศิวิมล” หลังศาลทหารพิพากษาจำคุก 28 ปี

วันศุกร์ที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อศาลทหารได้ทำสถิติตัดสินคดีนี้ด้วยโทษจำคุกที่หนักที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึง 2 คดีติดต่อกัน ได้แก่ ในช่วงเช้า ศาลทหารกรุงเทพได้ตัดสินในคดีพงษ์ศักดิ์ จำคุก 60 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดเหลือจำคุก 30 ปี (ดูรายงานคดี) และในช่วงบ่าย ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ ได้ตัดสินในคดีศศิวิมล จำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดเหลือจำคุก 28 ปี (ดูรายงานคดี)

ทั้งสองกรณีมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวนหลายข้อความเช่นเดียวกัน และจำเลยต่างให้การรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดีเช่นเดียวกัน แต่ในคดีศศิวิมล ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคและแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวมากนัก คดีศศิวิมลมีที่มาที่ไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองโดยตรงเหมือนในคดีพงษ์ศักดิ์ (ดูรายงานข่าวกรณีพงษ์ศักดิ์) แต่กลับมีเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แม้ศาลจะได้ตัดสินพิพากษาโทษอย่างรุนแรง ภายใต้ “คำรับสารภาพ” ของจำเลยไปแล้วก็ตาม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าติดตามคดีศศิวิมลนี้ ในช่วงที่เริ่มมีการส่งฟ้องคดีต่อศาล และจำเลยได้มีการว่าจ้างทนายความเข้าช่วยเหลือคดีเองแล้ว

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ศูนย์ทนายฯ จึงประมวลข้อมูลของคดีจากคำบอกเล่าของศศิวิมลและครอบครัว คำบอกเล่าของจำเลยว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่กลับต้องจำยอมรับสารภาพในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากการสังเกตการณ์คดี มานำเสนอในรายงานชิ้นนี้

 

หญิงสาวแม่ลูกสอง

ศศิวิมล หรือโอ๋ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ อายุ 29 ปี เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่โดยกำเนิด ประกอบอาชีพเป็นพนักงานแผนกเครื่องดื่มในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทำงานดูแลเคาน์เตอร์บาร์ ชงชากาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ให้กับลูกค้า เธอเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของครอบครัว โดยมารดาเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อแต่งงานกับพ่อจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะจึงแยกทางกับสามีในเวลาต่อมา และเลี้ยงดูศศิวิมลมาเพียงลำพัง

ศศิวิมลจบการศึกษาในระดับชั้นม.6 โดยสอบเทียบจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เคยทำงานเป็นคนเชียร์เบียร์ในร้านอาหาร ก่อนจะมาทำงานที่โรงแรมดังกล่าว เธอสมรสกับสามีที่ทำงานด้านงานช่าง ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน ปัจจุบันอายุ 10 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ* กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ป.4 และ ป.2 ที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา สามีของศศิวิมลได้ไปมีภรรยาใหม่ จึงได้มีการฟ้องหย่ากัน โดยลูกทั้งสองอยู่ในการดูแลของศศิวิมลจนถึงปัจจุบัน และไม่นานก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ศาลมีคำสั่งให้สามีช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นเงินเดือนละ 3 พันบาท จนกว่าบุตรสาวคนเล็กจะเรียนจบ แต่นอกจากค่าอุปการะดังกล่าว สามีเธอก็ไม่ได้ช่วยเหลือในการดูแลลูกๆ อีก

ก่อนหน้าถูกดำเนินคดี เธออาศัยอยู่ที่บ้านเช่ากับลูกสาวสองคน และแม่ในวัย 48 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดที่โรงแรมเดียวกันกับลูกสาว และได้เงินเดือนเดือนละ 9,000 บาทเท่ากันกับศศิวิมล แม่ของเธอยังป่วยเป็นโรคประจำตัว ต้องกินยาอยู่เป็นประจำ ศศิวิมลจึงเป็นตัวหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวทั้งสี่ชีวิต

เธอและครอบครัวยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง ไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มทางการเมืองใดๆ มาก่อนถูกดำเนินคดีนี้

จากการกลั่นแกล้งส่วนตัว สู่มาตรา 112

การดำเนินคดีนี้ เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 27 ก.ย.57 มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่” ซึ่งนำโดยนายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร พร้อมประชาชนอีก 8 คน ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” ว่าได้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยในช่วงดังกล่าวได้มีการแชร์ข้อความและรูปของเฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” เพื่อ “ล่าแม่มด” ในเพจออนไลน์บางแห่งด้วย

ก่อนที่ในวันที่ 29 ก.ย.57 ทางกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กเชียงใหม่ได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน และมีการชูป้ายให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด มีรายงานข่าวระบุด้วยว่ารุ่งนภา คำภิชัย ได้ติดต่อกับทางกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ โดยแก้ข่าวว่าตนไม่ใช่ผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีการกลั่นแกล้งและปลอมแปลงเฟซบุ๊กดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน ในเบื้องต้น ทราบว่ารุ่งนภาได้เข้าแจ้งความกลับต่อผู้ที่ทำการปลอมแปลงเฟซบุ๊กดังกล่าวขึ้นด้วย หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏรายงานข่าวในกรณีนี้อีก รวมทั้งข่าวการควบคุมตัวศศิวิมลในหลายเดือนถัดมา

จากปากคำของศศิวิมลเอง บุคคลที่ชื่อรุ่งนภาเป็นภรรยาใหม่ของสามีของเธอ และมีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับเธอมาก่อนหน้านี้

ต่อมา เธอเล่าว่าเพื่อนสาวคนหนึ่งที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยทำงานเชียร์เบียร์ ได้แนะนำให้แฉข้อมูลของภรรยาใหม่คนดังกล่าว โดยอาสาจะดำเนินการให้ เพื่อนคนดังกล่าวจึงได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเธอเข้าสมัครอีเมล์ใหม่ และทราบต่อมาว่ามีการไปปลอมแปลงแอคเคาท์เฟซบุ๊กในชื่อของรุ่งนภาขึ้น แต่เธอไม่ทราบมาก่อนว่าเพื่อนคนดังกล่าวจะนำไปโพสต์ข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 จนนำไปสู่การดำเนินคดีนี้

เธอยืนยันว่าทราบเพียงว่ามีการสมัครแอคเคาท์เฟซบุ๊กขึ้น แต่ไม่เคยเข้าโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าวเอง ไม่รู้รหัสผ่านที่จะเข้าใช้เฟซบุ๊กนี้ด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันเพื่อนคนดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว

การหว่านล้อมและแรงกดดันให้รับสารภาพ

ในช่วงราวปลายเดือนกันยายน 57 เธอจำวันที่ไม่ได้แน่ชัด ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางไปที่บ้านเช่าของเธอตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า เวลานั้นลูกๆ ยังไม่ตื่นนอน ส่วนแม่ของเธอเพิ่งออกไปทำงาน โดยเจ้าหน้าที่มีการนำหมายค้นมาขอตรวจค้นบ้าน และแจ้งว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง แต่เธอไม่ทราบว่าเป็นการดำเนินคดีกับตัวเธอเองหรือไม่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะขอนำเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และมือถือ 2 เครื่อง ไปตรวจสอบ

ศศิวิมลเล่าว่าหลังจากการตรวจค้นนั้น ได้มีการเชิญตัวเธอไปที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องจากไม่มีใครดูแลลูก วันนั้นเธอจึงได้พาลูกสาวคนเล็กไปที่สถานีตำรวจด้วย และได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายทำการสอบสวนเธอ โดยนำข้อความที่บันทึกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มาให้ดู ในตอนแรกเธอไม่ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าขอให้รับไปก่อน ไม่มีอะไรร้ายแรง แล้วจะปล่อยตัวไป ทั้งตำรวจสามารถจะเอาตำแหน่งไปช่วยได้

เธอยอมรับไม่ทราบถึง “ความร้ายแรง” ของข้อหามาตรา 112 นี้มาก่อน ทั้งไม่เคยต้องยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือต้องมาที่โรงพักมาก่อน จึงไม่ทราบกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบกับอยู่ในภาวะกดดันและบีบคั้นหลายทาง โดยในวันนั้นลูกสาวคนเล็กที่เธอพามาด้วยไม่ค่อยสบาย และหัวหน้าที่ทำงานก็โทรศัพท์มาตามตัวไปทำงานอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ตำรวจสอบสวน เธอจึงร้อนรนอยากให้เรื่องจบๆ ไป นึกแต่เพียงว่าพูดๆ ไปให้เรื่องมันจบ จะได้ไปทำภารกิจของตัวเองต่อ แทบไม่คิดว่าจะต้องติดคุกติดตาราง

ในที่สุด เธอให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวน โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วยเวลานั้น เมื่อเสร็จจากการสอบสวนนั้น เจ้าหน้าที่ก็ส่งตัวเธอกลับบ้าน

ช่วงเดือนต.ค. 57 เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ติดต่อแจ้งศศิวิมล ว่าขอให้แม่ของเธอเข้าไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจด้วย แม่เล่าว่าตำรวจได้สอบถามเรื่องทั่วๆ ไป ว่าเห็นลูกสาวเล่นคอมพิวเตอร์บ้างไหม เล่นอะไร เล่นตอนไหนบ้าง หรือถามว่าลูกสาวหลับดึกไหม ซึ่งแม่ก็ตอบว่าเห็นแต่ลูกใช้คอมพิวเตอร์ดูหนังกับหลาน ส่วนเรื่องอื่นๆ แม่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราว

หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้อีก และศศิวิมลเองก็ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีหรือต้องติดคุก จึงไม่คิดจะหลบหนีใดๆ

จนในช่วงเดือนก.พ. 58 ระหว่างที่เธอกับแม่ได้เดินทางไปงานศพของตาที่จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์ติดต่อมาให้เธอไปเซ็นเอกสารที่โรงพัก เธอจึงได้นัดหมายเข้าไปพบเจ้าหน้าที่เองในวันที่ 13 ก.พ.58

วันนั้นเอง เมื่อไปถึง เธอกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” จำนวน 6 ข้อความ วันนั้นอีกเช่นกัน เธอได้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยไม่ได้เตรียมตัวใดๆ มาก่อนล่วงหน้า ก่อนที่แม่ของเธอจะได้เดินทางตามไปเช่าหลักทรัพย์จากนายประกัน เพื่อยื่นขอประกันเป็นเงิน 4 แสนบาท แต่ศาลทหารก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุว่ากลัวจะหลบหนี เธอจึงถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

แม่ของเธอยังได้พยายามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกสองครั้ง โดยเช่าหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว เป็นเงิน 4.5 แสนบาท ทั้งสองครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม

อีกทั้ง ภายหลังถูกควบคุมตัวประมาณ 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มอีกหนึ่งข้อความ รวมแล้วเธอถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดนี้จำนวน 7 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่อยู่ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 57

ศศิวิมลถูกฝากขังเรื่อยมาจนครบทั้ง 7 ผลัด ก่อนที่อัยการทหารจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เมื่อวันที่ 7 พ.ค.58 วันสุดท้ายของการครบกำหนดฝากขังผลัดสุดท้ายพอดี

“กระบวนการยุติธรรม” กับความจริงที่หายไป

ในระหว่างนั้น แม่ของศศิวิมลได้วิ่งหาทนายความมาช่วยเหลือ จนได้มีการว่าจ้างทนายความจากสำนักงานแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เข้าช่วยเหลือในคดี

ทนายความได้พูดคุยถึงแนวทางคดีกับศศิวิมล โดยเธอยืนยันกับทนายว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว จึงเห็นร่วมกันว่าจะขอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา เพื่อขอนัดตรวจพยานหลักฐานไปก่อน และคิดถึงแนวทางการต่อสู้คดีอีกที โดยเบื้องต้นมีการคิดถึงการต่อสู้เรื่องพยานฐานที่อยู่ต่างๆ ว่าในช่วงเวลาที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง จำเลยกำลังเข้าทำงานอยู่ และไม่สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้ เพราะในที่ทำงานไม่อนุญาตให้ใช้

ในวันสอบคำให้การเดือนมิ.ย.58 เธอจึงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยวันนั้น ศาลทหารได้พิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยให้ญาติและผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากพิจารณา ก่อนที่ศาลจะอ่านคำฟ้องให้คู่ความฟังและถามคำให้การ

ในเดือนถัดมา คู่ความได้นัดตรวจพยานหลักฐาน โดยมีการยื่นบัญชีพยาน และทนายความได้ตรวจพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ จากนั้นศาลได้สอบถามแนวทางการนำสืบของคู่ความ อัยการโจทก์แถลงว่าจะนำพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุตามบัญชีพยานมาสืบต่อศาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าจะสืบเรื่องตัวผู้กระทำผิด โดยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอจะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ในนัดนี้ เจ้าหน้าที่ศาลยังอนุญาตให้ญาติและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการพิจารณาได้ โดยแจ้งว่าเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานเฉยๆ แต่ในการสืบพยานจะไม่อนุญาต เนื่องจากพิจารณาคดีลับ

แต่ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยาน ทนายความได้เข้าเยี่ยมและพูดคุยกับลูกความ พร้อมแนะนำให้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากภายหลังได้ตรวจพยานหลักฐานแล้ว ช่องในการต่อสู้คดีเหลือค่อนข้างน้อย ทั้งยังเคยให้การรับสารภาพไว้ในชั้นสอบสวนและลงชื่อรับเอกสารประกอบสำนวนต่างๆ ไว้ ทำให้พยานหลักฐานต่างๆ ค่อนข้างมัดตัว ถ้าหากสู้คดีไม่หลุด ศาลน่าจะลงโทษหนัก โดยทนายแจ้งว่าจะทำคำให้การประกอบขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา และยังสามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ต่อไป

แม่ของเธอเล่าว่าตอนแรก เธอไม่แน่ใจว่าควรจะรับสารภาพดีหรือไม่ เนื่องจากลูกเธอบอกว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ศศิวิมลก็บอกแม่ว่าโทษน่าจะไม่หนักมาก และเธอยังสงสารแม่ที่ต้องวิ่งเต้นอยู่คนเดียว แม่เองก็ไม่คิดว่าโทษจะร้ายแรงถึงเพียงนั้น

ในที่สุด เธอตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

ไม่ว่าเรื่องราวที่ศศิวิมลเล่าจะเป็นจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา และความจริงในกรณีนี้จะเป็นเช่นไร ภายใต้กระบวนการในคดีมาตรา 112 และการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยไม่ให้ประกันตัว สร้างแนวโน้มจะบีบให้ผู้ต้องหาจำยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ต่อสู้คดี จนทำให้การพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริงในศาล ถูกกลบฝังทิ้งหายไป…

โทษทัณฑ์จำคุก 28 ปี ในวัย 29 ปี

ไม่มีใครรู้ว่าหลังยื่นขอกลับคำให้การแล้ว ศาลทหารจะพิพากษาในทันที

วันนั้น (7 ส.ค.58) ทนายจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ให้ผู้ช่วยทนาย ซึ่งรับมอบอำนาจเข้ามายื่นคำร้องขอกลับคำให้การ และคำร้องประกอบคำรับสารภาพในช่วงเช้าก่อนนัดพิจารณาคดี โดยเดิม คาดว่าศาลจะนัดพิพากษาในเดือนถัดไป โดยใช้เวลาพิจารณาคำร้องต่างๆ และเขียนคำพิพากษาเสียก่อน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

วันนั้น เรือนจำพาตัวศศิวิมลมาที่ศาลช้า ทำให้ญาติที่เดินทางมาให้กำลังใจต้องรอกันตั้งแต่เช้า ส่วนพยานทีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเดินทางมาที่ศาลตามกำหนดนัดเบิกความ เจ้าหน้าที่ศาลเองก็เพิ่งทราบในเช้าวันนั้น ว่าจะมีการยื่นขอกลับคำให้การ

บ่ายวันนั้น หลังจากศาลได้อ่านกระบวนการพิจารณาในเรื่องการงดสืบพยานและขอกลับคำให้การของจำเลยเสร็จสิ้น ศาลก็อ่านคำพิพากษาต่อในทันที โดยศาลได้อ่านข้อความตามฟ้องของโจทก์ จำนวน 7 ข้อความ โดยอ่านข้ามบางข้อความไป เนื่องจากศาลแจ้งว่าจะไม่อ่านข้อความไม่เหมาะสม ก่อนวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาของโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ศาลจึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยความผิดกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี

ขณะเดียวกัน แม้ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ โดยระบุเหตุผลประกอบคำร้องว่าจำเลยมีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ทั้งแม่และลูกสาวทั้งสองคน โดยมีจำเลยเพียงผู้เดียวที่ช่วยหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากได้หย่าร้างกับสามีแล้ว ทั้งจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดทางอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือสังคมส่วนรวมมาก่อน พร้อมแนบเอกสารรายละเอียดของครอบครัว และหลักฐานรับรองความประพฤติต่างๆ ของจำเลยประกอบ

แต่คำร้องดังกล่าว ก็ถูกศาลวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า “คำร้องที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลเห็นว่าความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพสักการะ การกระทำของจำเลยจึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

ในวัย 29 ปี หญิงสาวคนหนึ่งถูกพิพากษาจำคุก 28 ปี…เธอร้องไห้โฮกลางโถงของศาลทหาร

ชีวิตหลังคำพิพากษา

ระหว่างถูกดำเนินคดี แม่ของศศิวิมลเป็นผู้เดินเรื่องต่างๆ ให้ศศิวิมลอยู่ภายนอกเรือนจำ ทั้งการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาเป็นค่าจ้างทนายความ ค่าเช่าหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว รวมๆ แล้วแม่เล่าว่าใช้เงินไปเกือบ 1 แสนบาท ทั้งจากการหยิบยืมเงินจากญาติๆ การนำสร้อยทองไปจำนำ และการนำรถจักรยานยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์

ตั้งแต่ลูกติดคุก แม่ของเธอยังต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานสาวสองคน รวมๆ แล้วเงินเดือนแม่เพียงคนเดียว หักค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าไฟแนนซ์ และค่าใช้จ่ายไปโรงเรียนของหลานทั้งสองคน เดือนหนึ่งเหลือค่ากินค่าอยู่ต่างๆ ในครัวเรือนสำหรับสามชีวิตอย่างจำกัดจำเขี่ย ยังไม่นับค่าเล่าเรียนของหลาน และค่าใช้จ่ายในเรือนจำสำหรับลูกสาวของเธอ ทางญาติๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหาเช้ากินค่ำเหมือนกัน ไม่ได้มีฐานะมากมาย ทำให้ส่วนใหญ่แม่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ดีที่เพื่อนที่ทำงานยังพอเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง

ทุกวันนี้ แม่ต้องตื่นไปเข้างานตั้งแต่ 6.30 น.ของทุกวัน มีเพียงวันเสาร์ที่เป็นวันหยุด ทำให้ต้องใช้รถจักรยานยนต์ไปส่งหลานทั้งสองคนที่โรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนไปทำงาน เมื่อเลิกงาน 15.30 น. จึงค่อยมารับหลานกลับ หน้าที่เหล่านี้เคยเป็นของศศิวิมลมาก่อน ส่วนในช่วงวันอาทิตย์ ที่แม่ยังต้องไปทำงาน ก็ต้องให้หลานทั้งสองคนอยู่ที่บ้านกันเอง โดยโทรศัพท์กลับมาพูดคุยเป็นพักๆ

ในช่วงก่อนเที่ยงวันธรรมดา แม่ยังต้องหลบจากงานออกไปเยี่ยมลูกสาวที่เรือนจำในบางวัน

แม่เล่าความรู้สึกในวันหลังทราบคำพิพากษาว่าไม่อยากจะเชื่อว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมโทษในคดีนี้ถึงหนักขนาดนี้ หนักเสียยิ่งกว่าการฆ่าคนอีก ราวกับจะไม่ให้ได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป

“แม่ยังคิดเลยว่า แม่มีโรคประจำตัวอยู่แบบนี้ โอ๋ถูกตัดสิน 28 ปี ถ้าได้ออกมาตอนนั้น โอ๋จะได้เจอแม่ไหม” แม่ของศศิวิมลกล่าวทั้งน้ำตา

 

 

X