ติดตาม-คุกคาม-ดำเนินคดี-เฝ้าเข้มทั่วไทย: ประมวลสถานการณ์ก่อน #25สค วันชี้ชะตาคดียิ่งลักษณ์

25 ส.ค.นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการจับตาของคสช.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่อสถานการณ์การเดินทางมาให้กำลังใจของมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ที่บริเวณศาลฎีกาฯ ในวันดังกล่าว

แม้ในด้านหนึ่ง ทางคสช. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จะยืนยันร่วมกันว่าไม่ได้มีนโยบายขัดขวางการเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี และไม่มีการปิดกั้นการแสดงออก แต่อีกด้านหนึ่ง ต่างก็เน้นย้ำว่าหน่วยงานความมั่นคงได้มีการติดตามด้านการข่าวและความเคลื่อนไหว โดยมีการเดินหน้า “ทำความเข้าใจ” และ “ขอความร่วมมือ” กับประชาชน รวมทั้งมีการทำรายงานประมวลมวลชนที่จะเดินทางมาในวันที่ 25 ส.ค.เป็นระยะ (ดูตัวอย่างรายงานข่าว 1, 2, 3, 4)

ภายใต้แนวทางดังกล่าว ตั้งแต่ปลายเดือนก.ค. ในช่วงการแถลงปิดคดีของฝ่ายยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯ จนถึงก่อนหน้าวันที่ 25 ส.ค. สถานการณ์การติดตามประชาชนในหลายพื้นที่เป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งการที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านของแกนนำหลายรายอย่างต่อเนื่อง หรือบางรายถูกเจ้าหน้าที่ไปพบแทบทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันที่ 25 ส.ค. ทั้งไม่เพียงแต่แกนนำคนเสื้อแดง แต่กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านที่เคลื่อนไหวด้านทรัพยากรก็ถูกติดตามเช่นกัน ขณะที่รถตู้รับจ้างในหลายพื้นที่ก็ถูกเรียกไปพูดคุย รวมทั้งยังมีการดำเนินคดีต่อบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งแสดงความคิดเห็นต่อคดีจำนำข้าวในโลกออนไลน์ กระทั่งล่าสุดยังรวมถึงกรณีการเข้าติดตามตรวจสอบสถานีขนส่งและท่ารถชนิดต่างๆ ในภูมิภาค

รายงานนี้ประมวลสถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชนเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลและจากการติดตามรายงานข่าวในสื่อต่างๆ ก่อนวันตัดสินคดียิ่งลักษณ์ที่กำลังจะมาถึง

 

จนท.ผลัดเปลี่ยนเข้าติดตามบ้านแกนนำหลายพื้นที่ตลอดเดือน

สถานการณ์การติดตามคุกคามในภูมิภาคต่างๆ เป็นไปต่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมมาจนตลอดเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะแกนนำเสื้อแดงในระดับจังหวัดหลายพื้นที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามอย่างต่อเนื่อง บางรายถูกเจ้าหน้าที่ไปพบตลอดทุกวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าวันที่ 25 ส.ค.

ตัวอย่างคำสั่งการในระดับพื้นที่ในการติดตามประชาชน คือตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 18 ส.ค. ถึงตำรวจในสังกัด ให้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มคนที่จะเดินทางไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยจัดชุดสืบสวนหาความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน, ขอความร่วมมือแกนนำไม่ให้ระดมมวลชน, ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถขนส่งไม่ให้รับจ้างเหมา และตั้งจุดตรวจ หากพบการเดินทางเป็นกลุ่มโดยจ้างเหมารถให้ดำเนินการตามกฎหมาย

คำสั่งดังกล่าว สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยทางภาคอีสาน ระหว่างลงพื้นที่ช่วยเหลือปัญหาน้ำท่วมของแกนนำพรรคเพื่อไทย ช่วงวันที่ 14 ส.ค. นายวัฒนา เมืองสุข เปิดเผยว่าระหว่างเดินทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด ได้รับข้อมูลจากประชาชนว่าได้ถูกฝ่ายความมั่นคงพยายามสกัดกั้นทุกทาง ตั้งแต่การห้ามรถตู้ รถโดยสาร รถรับจ้างนำประชาชนเข้ามา ทั้งยังมีการสั่งการไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ดูแลลูกบ้านของตน หากมีประชาชนในหมู่บ้านของใครหายไปให้กำลังใจ ผู้นำชุมชนจะต้องรับผิดชอบ

ตามข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้ง อาทิเช่น ที่จังหวัดมุกดาหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และสันติบาล ได้เดินทางไปพบแกนนำ โดยมีการสอบถามเรื่องการเดินทางทุกวัน และมีการเข้าไปข่มขู่รถตู้ไม่ให้รับจ้างเหมาลงกรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ส.ค. พร้อมทั้งถ่ายรูปทะเบียนรถไป

ที่จังหวัดหนองคาย ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 4 ราย ได้เดินทางไปพบแกนนำนปช.ในจังหวัด โดยเน้นสอบถามว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งในวันที่ 1 และ 25 ส.ค. หรือไม่

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าพบแกนนำในพื้นที่หนองคายที่บ้าน (ภาพจากเฟซบุ๊ก  Mayures Kotrchompoo) 

ส่วนที่จังหวัดสกลนคร เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าไปพบแกนนำเสื้อแดงติดต่อกันทุกวัน โดยมีการคาดคั้นให้สัญญาว่าจะไม่เดินทางลงกรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายรูปส่งรายงาน  หรือที่จังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ทหารและ อส. หลายนายเดินไปพบแกนนำหลายครั้ง พยายามพูดไม่ให้มีการเดินทางไปกรุงเทพ  ด้านจังหวัดขอนแก่น ทหารก็มีการเข้า “ขอร้อง” คนเสื้อแดงไม่ให้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อความสงบเรียบร้อย โดยขู่ว่าถ้าไปจะมีความผิด

ขณะที่แกนนำเสื้อแดงในจังหวัดอุดรธานี ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร และฝ่ายปกครอง ผลัดเปลี่ยนกันมาพบที่บ้านต่อเนื่องกันกว่า 4 วัน ก่อนหน้าวันที่ 25 ส.ค. โดยมีการ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้เดินทางลงไปกรุงเทพฯ ในคดียิ่งลักษณ์

ที่จังหวัดบุรีรัมย์  นายสุรศักดิ์ เพชรสว่าง แกนนำนปช.ในพื้นที่ เปิดเผยเช่นกันว่าช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ และฝ่ายความมั่นคงเข้ามาสอบถามข้อมูล และ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนตัวรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหว แต่ในพื้นที่ไม่ได้มีกิจกรรมหรือการจัดพาหนะเดินทางลงไป แต่หากประชาชนจะเดินทางไปเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

ขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีการติดตามแกนนำในหลายจังหวัด โดยที่จังหวัดพะเยา นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพะเยา ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบมาหาที่บ้านถึงสองครั้ง เพื่อสอบถามเรื่องการเดินทางไปให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันยังมีการเชิญตัวไปให้ข้อมูลที่สถานีตำรวจ เพื่อพูดคุยกับผู้กำกับ โดยมีการสอบถามความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในจังหวัด พร้อมรายละเอียดต่างๆ เช่น การเดินทาง จำนวนคน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ศิริวัฒน์ยังให้ข้อมูลด้วยว่าช่วงหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้าวันที่ 25 ส.ค. ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เดินทางไปพบที่บ้านอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน โดยในช่วงที่ตนป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็มีเจ้าหน้าที่เดินทางติดตามไปถ่ายรูปถึงที่โรงพยาบาลด้วย

ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละสถานีได้เข้าติดตามแกนนำและเครือข่ายของคนเสื้อแดงในแต่ละพื้นที่ โดยมีการทำรายชื่อบุคคลที่ต้องติดตามในแต่ละอำเภอ พร้อมเข้าสอบถามว่าจะมีการเดินทางไปกรุงเทพฯ หรือไม่ในช่วงวันที่ 25 ส.ค. สอบถามเรื่องจำนวนมวลชนที่จะเดินทางไป หรือวิธีการเดินทาง และมีการเข้าถ่ายรูปเพื่อนำไปรายงาน หลายรายเจ้าหน้าที่มีการระบุว่าถ้ามีการกระทำผิดเรื่องการชุมนุมหรือเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ก็จะถูกดำเนินคดี

รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทหาร หรือเจ้าหน้าที่สันติบาลในพื้นที่ก็มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปติดตามพูดคุยในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้น ในช่วงใกล้วันที่ 25 ส.ค. เจ้าหน้าที่ยังเข้าติดตามความเคลื่อนไหวแกนนำบางรายอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยกับแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 (ภาพจากเฟซบุ๊ก เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล)

ส่วนที่จังหวัดเชียงราย มีรายงานว่าแกนนำเสื้อแดงก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามสอบถามเรื่องการเดินทางในวันที่ 25 ส.ค. บางรายเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบเกือบ 10 นาย เดินทางไปพบที่บ้านจนทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังมีการถ่ายรูปบุคคลที่อยู่ในบ้าน ทำให้เกิดความหวาดกลัว

มีรายงานเช่นเดียวกันว่าที่จังหวัดลำพูน และลำปาง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ก็เดินทางไปพบแกนนำและนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อพูดคุยเรื่องการเดินทางในช่วงของการตัดสินคดียิ่งลักษณ์ และถ่ายรูปเพื่อรายงานเช่นเดียวกัน

ขณะที่ที่จังหวัดราชบุรี ก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางเข้าติดตามคนเสื้อแดงที่เป็นแพทย์ในพื้นที่ โดยไปทั้งที่บ้านและโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยังพยายามนัดหมายพูดคุยในช่วงก่อนหน้าวันที 25 ส.ค. อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของบุคคลที่ถูกติดตามตัว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นไปได้ว่าทั่วประเทศจะมีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าพูดคุยติดตามตัวอยู่ในหลักหลายร้อยคน เพื่อตรวจสอบเรื่องการเดินทางเข้าในกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 25 ส.ค.นี้

 

ดำเนินคดี-เรียกรถตู้รับจ้างสอบ

หลังจากวันแถลงปิดคดีโครงการจำนำข้าวเมื่อวันที่ 1 ส.ค.แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีออกหมายเรียกผู้ขับรถตู้รับจ้างให้ประชาชนที่เดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.60 ผู้ขับรถตู้จำนวน 10 คน จากทั้งหมด 21 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ทุ่งสองห้อง โดยถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ในเรื่องการใช้รถในการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกสถานที่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และใช้รถผิดประเภท โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษปรับสูงสุด 2 แสนบาท แม้ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ให้บริการจะระบุว่าตนมีใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง พร้อมยืนยันว่าได้รับการว่าจ้างตามปกติ

นอกจากนั้น ในบางจังหวัดยังมีรายงานข่าวว่าคนขับรถตู้ได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงเรียกตัวไปพูดคุย อาทิเช่น ที่จังหวัดลำปาง รถตู้ที่ถูกว่าจ้างจากกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกไปพูดคุย และขอให้ไม่ควรพาใครเดินทางไปในวันดังกล่าว เพราะอาจจะสร้างความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้น ทำให้ผู้ให้ประกอบการรถตู้เกิดความกลัวจะมีความผิด จึงได้นำค่าใช้จ่ายมัดจำคืนต่อผู้ว่าจ้าง และบอกยกเลิกไม่รับงานหลายราย

ผู้ให้บริการรถตู้นำประชาชนไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ภาพจากคมชัดลึก)

 

ดำเนินคดี ม.116 วัฒนา-ประวิตร พร้อมจับตาคนแสดงออกออนไลน์

นอกจาการดำเนินคดีต่อรถตู้ ทางเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังมีการดำเนินคดีต่อบุคคลที่โพสต์แสดงออกเกี่ยวกับคดีจำนำข้าวนี้ โดยเฉพาะกรณีของวัฒนา เมืองสุข อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ถูกดำเนินคดีถึงสามคดีในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยคดีหนึ่ง วัฒนาถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 จากการโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่ศาลฎีกาพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่อีกคดีหนึ่ง ที่วัฒนาถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็เกิดจากการโพสต์เล่าเรื่องราวการเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในคดีของยิ่งลักษณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในคดี รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คสช. โดยคดีนี้ยังมีพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ รวมทั้งระหว่างสอบสวน วัฒนายังเปิดเผยว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมานั่งคุมการสอบสวนด้วย

นอกจากวัฒนาแล้ว เจ้าหน้าที่ปอท. ยังแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยจาก 2 ใน 5 ข้อความที่มีการกล่าวหาต่อประวิตรนั้น เป็นการโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในกรณีคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ทาง ปอท. ยังยอมรับว่ามีการจับตา 24 แนวร่วมและแกนนำ นปช. ในโลกออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวัฒนา เมืองสุข ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วด้วย

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าว เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 116-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่บก.ปอท. ส่วนหนึ่งเกิดการแสดงความคิดเห็นกรณีคดีจำนำข้าว

เครือข่ายเกษตรกรก็โดนทหารเข้าคุย พร้อมบังคับให้เซ็นหนังสือยินยอมไม่ไปให้กำลังใจ

นอกเหนือจากเครือข่ายของคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังได้เดินทางเข้าไปสอบถามข้อมูล กระทั่งบังคับข่มขู่กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรหรือเครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นด้านทรัพยากรในบางพื้นที่

ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานข่าวโดยมติชนออนไลน์ว่าเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร จำนวน 7-8 นาย พร้อมรถยนต์ 3 คัน บุกเข้าไปที่บ้านของนายจำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน และแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เดินตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น เข้าถ่ายรูปจำรัสกับครอบครัว พร้อมขอให้เซ็นหนังสือยินยอมให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่นำกลุ่มชาวบ้านเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี

รายงานข่าวยังระบุว่าในตอนแรกนายจำรัสได้ขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำบันทึกเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม กลับบอกให้นายจำรัสเป็นผู้เขียนหนังสือดังกล่าวด้วยลายมือตนเอง ในลักษณะเป็นการขอความร่วมมือแกมบังคับข่มขู่ขืนใจ

นายจำรัสระบุถึงสาเหตุที่ถูกเจ้าหน้าที่ให้เซ็นหนังสือดังกล่าว เพราะเคยนั่งรถตู้ไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น พร้อมทำบันทึกประวัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวถึงที่บ้าน ทั้งรถตู้ที่ว่าจ้างเดินทางไปกรุงเทพฯ ยังได้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปรายงานตัว และถ่ายรูปทำประวัติด้วย ทำให้เกิดความเกรงกลัวจนต้องยกเลิกสัญญา

ภาพหนังสือที่นายจำรัส ลุมมา เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกขู่บังคับให้เขียนและลงลายมือชื่อ (ภาพจากมติชนออนไลน์)

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าช่วงวันที่ 11 ส.ค. เกษตรกรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ร้องขอผ่านทางฝ่ายปกครอง ให้ยุติการเดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ในวันที่ 25 ส.ค. โดยชาวนาในพื้นที่อำเภอเสนา ยังเปิดเผยว่ารถตู้บริการสาธารณะได้ถูกเรียกตัวไปสอบสวน หลังจากบางส่วนได้ให้ประชาชนโดยสารไปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เดินทางไปพบประธานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล มีการสอบถามเรื่องการจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์หรือไม่ ทั้งยังมีการทำบันทึกปากคำจากการสอบถามดังกล่าว

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังมีการเรียกชาวบ้านในเครือข่ายเขื่อนปากมูลมาสอบถามในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับจดบันทึกข้อมูลส่วนตัวและถ่ายรูปแต่ละบุคคลด้วย ทั้งนี้ การตรวจสอบเกิดขึ้นโดยประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ให้การสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

 

ฝึกทหารที่ป่าซาง: คำถามเรื่องห้วงเวลาและสถานที่ฝึก?

ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังปรากฏกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าฝึกเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในพื้นที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยถูกระบุว่าเป็นการฝึกของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนกองทัพภาคที่ 4 และรองรับภารกิจจากกองทัพบก

การฝึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากกว่า 600 นาย มีการใส่เครื่องแบบครบชุด และพกพาอาวุธปืน เข้าลาดตระเวนในพื้นที่หมู่บ้าน มีการตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้านและวัด ตั้งด่านบริเวณถนนและจุดสำคัญต่างๆ รวมทั้งการฝึกติดตามพระสงฆ์ขณะบิณฑบาต

แม้การฝึกดังกล่าวจะถูกระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการฝึกผลัดเปลี่ยนกำลังไปปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้ตามปีงบประมาณ แต่ก็ยังมีคำถามจากประชาชนถึงห้วงระยะเวลาในการฝึก ที่ถูกระบุว่าเป็นระหว่างวันที่ 13-25 ส.ค. ซึ่งคาบเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในคดีของยิ่งลักษณ์ และคำถามเรื่องการออกมาฝึกปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ของพลเรือนและในหมู่บ้าน แทนที่ฝึกอยู่ภายในค่ายทหารหรือศูนย์ฝึกของรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มก่อให้เกิดความตื่นกลัว อาจเข้าข่ายเป็นการข่มขวัญประชาชนในทางการเมืองหรือไม่

ภาพการฝึกทหารที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์

ตรวจสอบเข้มทุกเส้นทางเข้ากทม. ก่อนวันตัดสิน

นอกจากการเข้าติดตามกลุ่มบุคคลที่เป็น “เป้าหมาย” และการติดตามผู้ให้บริการรถตู้แล้ว การตรวจสอบการเดินทางของประชาชนด้วยพาหนะต่างๆ ทั้งรถไฟ รถประจำทาง รถตู้ รถยนต์ เข้าสู่กรุงเทพฯ ยังเป็นไปอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่

เท่าที่มีรายงานปรากฏ อาทิเช่น ที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันที่ 22 ส.ค.60 เจ้าหน้าที่ตำรวจ จากทั้งสภ.เมืองลำปาง หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดสืบสวนของจังหวัด กว่า 20 นาย ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ รวมทั้งตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสาร โดยระบุว่างานด้านการข่าวได้รายงานว่าจะมีการเดินทางของกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีไปยังกทม.โดยทางรถไฟ จึงได้มีการตรวจสอบคุมเข้มการสัญจรและการเดินทาง

ต่อมาในวันที่ 23 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วย และเจ้าหน้าที่ทหารจากมทบ.32 รวมกว่า 30 นาย ยังเข้าตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟลำปางอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขึ้นไปตรวจสอบบนขบวนรถไฟ ให้ประชาชนแสดงบัตรประชาชน และเจ้าหน้าที่ยังนั่งรถไฟต่อไปด้วย เพื่อตรวจดูประชาชนที่ขึ้นลงในสถานีย่อยอื่นๆ

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบผู้โดยสารรถไฟ (ภาพจากมติชนออนไลน์)

ด้านที่จังหวัดพิจิตร วันที่ 23 ส.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจากมทบ.36 กว่า 10 นาย เข้าตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และท่ารถตู้ในจังหวัด รวมทั้งมีการตั้งจุดตรวจในพื้นที่ด้วย แต่พบเพียงประชาชนที่เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทำธุระส่วนตัว

ทางภาคอีสาน รายงานข่าวเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ก็ระบุว่าบริเวณถนนมิตรภาพ อุดรธานี-ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.24 ได้ตั้งเต๊นท์พร้อมตาข่ายผ้าลายพราง เพื่อตั้งจุดตรวจความมั่นคงของกองกำลัง 3 ฝ่าย คือตำรวจ ทหาร และปกครอง เฝ้าระวังการเดินทางของมวลชนเข้าสู่กรุงเทพฯ

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบรถทัวร์ที่เดินทางไปยังรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ส.ค.60 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

ส่วนทางภาคใต้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณจุดตรวจบนถนนเพชรเกษมได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบและสังเกตการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่จะเดินทางเข้าไปยังกรุงเทพฯ แต่ยังไม่พบการเคลื่อนไหวและยังไม่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าประชาชนทางภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายที่จะเดินทางไปให้กำลังใจกรณียิ่งลักษณ์

ภายใต้สถานการณ์โดยสรุปข้างต้น จึงน่าจับตาต่อไปว่าในวันที่ 25 ส.ค.นี้ สถานการณ์การปิดกั้นการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจะดำเนินไปอย่างไร และผลการพิพากษาของศาลฎีกาฯ จะส่งผลต่อการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ หรือไม่ อย่างไร

 

X