ประวิตรให้การคดี 116 คดีแรก ว่าโพสต์แสดงความเห็นติชมโดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประวิตรให้การคดี 116 คดีแรก ว่าโพสต์แสดงความเห็นติชมโดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญ

8 ก.ย. 2560 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ หรือ Khaosod English ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมแก่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2559 จำนวน 2 ข้อความ

คดีนี้ ประวิตรถูกตั้งข้อหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 2 ข้อความ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยเป็นโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการลงประชามติในขณะนั้น และโพสต์ตั้งคำถาม 4 คำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพนักงานสอบสวนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวกันเพราะการกระทำต่อเนื่องกัน โดยคดีนี้พ.ต.ท.อุทัย เหล่าสิล รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งความเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2559 แต่เพิ่งมีการเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อ 8 ส.ค. 2560 ประวิตรให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนภายหลัง

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวอาวุโสได้ยื่นคำการต่อพนักงานสอบสวน ใจความว่า เขาเปิดใช้เฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนการรัฐประหารของ คสช. เพื่อเป็นพื้นที่แสดงความเห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอื่น ๆ เน้นการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ นโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เช่น ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, และเรื่องสิทธิเสรีภาพหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวอาวุโสชี้แจงว่า เหตุที่แสดงความเห็น ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่าง ๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐบาลมีผลกระทบไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบต่อสังคมโดยตรง และรัฐบาลได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ในฐานะพลเมืองของรัฐและผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จะตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ออกมาตรการ กฎ หรือคำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยิ่งต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ประวิตรเชื่อว่า เราจะสามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพได้ก็ต่อเมื่อเราหมั่นใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น ๆ  ไม่ว่าจะผ่านสื่อเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ และยิ่งไปกว่านั้น นอกจากบทบาทของพลเมืองแล้ว บทบาทหน้าที่สื่อหรือนักข่าวที่นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ต่อสังคมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้ว ก็ควรต้องตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่ตนเองรับผิดชอบและสนใจด้วย เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและเกิดความรับรู้ที่ถูกต้อง

เขายืนยันว่าการโพสต์แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กอยู่บนหลักการและเหตุผล ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย สร้างความเกลียดชัง หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง อยู่บนพื้นฐานการใช้สิทธิเสรีภาพตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิมางการเมือง ข้อ 19 และรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ซึ่งมีผลบังคับใช้ขณะนั้นคุ้มครองไว้ เช่น เรียกร้องไม่ให้ล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ ในลักษณะลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และประกาศยอมรับผลการลงประชามติ

สำหรับโพสต์ที่ถูกกล่าวหา ประวิตรให้การยอมรับว่าโพสต์เฟซบุ๊กทั้งสองโพสต์เป็นโสต์ของตนเอง แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริต ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความใดผิดกฎหมาย หรือส่งเสริมให้เกิดความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (3) และ (5) แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวอาวุโสให้การอีกว่า ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเสรีประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นวิธีการสำคัญในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลของตน รัฐบาลจึงไม่อาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพดังกล่าวโดยอาศัยเหตุผลนอกเหนือจากเหตุผลอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายพื้นที่ที่ประชาชนใช้สะท้อนความทุกข์ร้อนและความต้องการของตนไปยังรัฐบาลและสังคมโดยตรง การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ชอบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการปิดกั้นพื้นที่การสื่อสารของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

ภายหลังประวิตรถูกดำเนินคดี มีองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศออกมาเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี รวมถึงบุคคลสำคัญต่าง ๆ ก็ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีนี้ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นในกรณีของประวิตร ที่งานเสวนาเกี่ยวกับสื่อ โดยสถาบันพระปกเกล้า, แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน, แถลงการณ์แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล เรียกร้องทางการไทยขอให้ยุติการดำเนินคดีนายประวิตร โรจนพฤกษ์, และฮิวแมนไรท์วอช เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการตั้งข้อหาประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนเฟซบุ๊ก เป็นต้น

ในคำให้การดังกล่าว ประวิตรมีความประสงค์อ้างพยานบุคคลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์จำนวน 3 คน ได้แก่ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอาวุโสด้านสื่อสารมวลชน โดยจะประสานนำพยานบุคคลดังกล่าวมาให้ปากคำภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส Khaosod English ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 คดี โดยคดีที่ยื่นคำให้การเพิ่มเติมนี้เป็นคดีแรก ส่วนอีกคดีถูกกล่าวหาจากโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 5 โพสต์ ระหว่างวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2560 โดยจากเนื้อหาแยกเป็น 2 ข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก 2 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของ คสช. และอีก 1 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวที่อ่างทอง และถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่จะยึดกล้อง โดยกล่าวหาว่าข้อความต่างๆ ดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน และก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศได้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เพิ่งรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 18 ส.ค. 2560

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X