คดีฉีกบัตรประชามติ 59 ยกฟ้องข้อหาก่อความวุ่นวายฯ ข้อหาฉีกบัตรให้รอลงอาญา

คดีฉีกบัตรประชามติ 59 ยกฟ้องข้อหาก่อความวุ่นวายฯ ข้อหาฉีกบัตรให้รอลงอาญา

26 ก.ย. 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดี 3 นักกิจกรรม “ฉีกบัตรประชามติ” โดยพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นายปิยรัฐ จงเทพ ฐานข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นยกฟ้อง รวมถึงยกฟ้องในส่วนของจำเลยอีกสองคน คือ นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3

คดีนี้อัยการฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ เป็นจำเลยที่ 1 ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติ, ข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 ก็ได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน จากการถ่ายวีดีโอขณะที่นายปิยรัฐทำการฉีกบัตร

09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษา โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าได้ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ การกระทำของจำเลยจะถือว่าผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง, ข้อหาทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, แะข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทั้งสามข้อหาหรือไม่

ศาลเห็นว่า สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ถือว่าทำผิดข้อหานี้จริง สำหรับข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เมื่อการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้วก็ย่อมเป็นความผิดฐานนี้ด้วย ส่วนข้อหาทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ศาลเห็นว่าบัตรลงคะแนนประชามติยังไม่ถูกกา จึงเป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ ยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ

ส่วนข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ  มาตรา 60 ที่จำเลยทั้งสามห้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนขณะถูกจับกุมและการออกเสียงประชามติก็ยังดำเนินไปได้ตามปกติ อีกทั้งการฉีกบัตรของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ และโดยสันติ ยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม มาตรา 60 พ.ร.บ.ประชามติฯ

ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นผู้บันทึกภาพขณะจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามไม่ให้ถ่ายรูป และจำเลยไม่ได้แสดงอาการโหวกเหวกโวยวาย การกระทำของจำเลยทั้งสองใช้เวลาสั้น ๆ และเป็นไปโดยสันติ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางให้ถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียงประชามติ จำเลยทั้งสองก็ยอมออกไปถ่ายนอกหน่วยออกเสียงประชามติแต่โดยดี อีกทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ใช่การกระทำภายในหน่วยออกเสียงประชามติ และไม่ส่งผลต่อการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการก่อความวุ่นวายภายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาลงโทษนายปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยเป็นความผิดเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด กรณีนี้คือตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

 

 

ศาลหักวันควบคุมตัวคืนเป็นเงิน 500 บาทให้จำเลย เนื่องจากจำเลยถูกควบคุมตัว 1 วันระหว่างการพิจารณาคดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X