นักวิชาการรัฐศาสตร์-สื่อสารมวลชน เข้ายื่นคำให้การพยานในคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ในคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60

ในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ได้แก่ นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางภัควดี วีระภาสพงษ์, นายนลธวัช มะชัย, นายชัยพงษ์ สำเนียง และนายธีรมล บัวงาม ได้ถูกกล่าวหาว่าการติดแผ่นป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ โดยผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 5 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหา

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ และ รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (ภาพต้นฉบับจาก TCIJ และเว็บไซต์รางวัลสมชาย นีละไพจิตร)

 

นักวิชารัฐศาสตร์ชี้ข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่เข้าข่ายปลุกระดมทางการเมือง

ในส่วนของคำให้การพยานโดยสรุป เวียงรัฐเห็นว่าในฐานะนักวิชาการ “เวทีวิชาการ” เป็นเรื่องของสมาคมวิชาชีพที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จัดขึ้นเป็นประจำ นักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ ถูกคาดหวังให้นำเสนอผลงานอย่างสม่ำเสมอ และต้องร่วมประชุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในศาสตร์นั้นๆ เช่นงานประชุมไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น ก็เป็นเวทีเฉพาะของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์หลายสาขาวิชา โดยมีการลงทะเบียนล่วงหน้า มีการเก็บค่าลงทะเบียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ไม่ใช่งานที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้เข้าร่วม

เวียงรัฐเห็นว่าข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” จึงเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เพื่อให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับรู้มากขึ้น เช่นเดียวกับคำว่า “เขตทหาร” “เขตราชการ” “สถานศึกษา” “เขตปลอดบุหรี่” เป็นเพียงการบ่งบอกสถานะของพื้นที่นั้นๆ ในความเป็นจริง จึงเห็นว่าข้อความดังกล่าว เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่จะแสดงออกในที่ที่เห็นว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ได้สื่อนัยแห่งการกล่าวร้ายหรือโจมตีใคร ถือว่าเป็นเรื่องของการแสดงออกภายในชุมชนวิชาการ

เวียงรัฐยังเห็นว่าข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่ใช่ข้อความที่มีลักษณะยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางด้านการเมือง เพราะข้อความที่มีลักษณะยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางการเมือง และข้อความที่สามารถนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาล ต้องประกอบไปด้วย

  • มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้เกิดการไม่พอใจต่อการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการต่อต้านรัฐบาลข้อความต้องมีการวิพากษ์รัฐบาลที่เสียหาย
  • ต้องมีข้อความเชิงโวหาร (rhetoric) เพื่อจูงใจ โน้มน้าว และนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
  • ต้องการดึงดูดความสนใจจากคนหมู่มาก เช่น การตั้งเครื่องขยายเสียง การแจกใบปลิว การสร้างแนวร่วมให้มารวมตัวกัน
  • ต้องมีข้อความสื่อถึงความรุนแรง ความเกลียดชัง (hate speech) เพื่อโจมตีเป้าหมายบางอย่าง เพื่อปลุกระดมทางการเมือง

ข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” จึงไม่เข้าองค์ประกอบใดๆ ดังกล่าว การตีความว่าเป็นการปลุกระดม จึงเป็นการเชื่อมโยงที่ใช้อคติของผู้กล่าวหาเท่านั้น

 

มองการชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ผ่านทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคม

เวียงรัฐยังระบุถึงการปลุกระดมทางการเมืองจนก่อให้เกิดการสร้างกระแสต่อต้านรัฐบาลนั้น ในทางทฤษฎีของการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) แล้ว จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง การก่อเกิด (emergence) สอง การจัดองค์กร (organization) สาม การสร้างการเปลี่ยนแปลง (movement)

หนึ่ง คือขั้นตอนแรกเป็นการก่อเกิด ต้องมาจากปัจเจกบุคคลที่มีความเห็นคล้ายๆ กัน แล้วแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีคนเห็นร่วมกันจำนวนมากพอ มีการแสดงความเห็นในที่สาธารณะ ในวงสนทนา ในหมู่ครอบครัวและมิตรสหาย ส่วนมากจะเป็นความไม่พอใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทว่าความไม่พอใจเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคม แล้วก็หายไป ไม่นำไปสู่ขบวนการใดๆ หากนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปต้องมีตัวจุดชนวน หากเป็นการเห็นพ้องต้องกันมากๆ ต้องมีผู้นำ หรือมีเหตุการณ์รุนแรงขยายวงกว้าง เช่น การปราบปรามโดยรัฐ อันเป็นเหตุให้คนออกมาร่วมมากๆ จึงนำไปสู่ขั้นตอนที่สอง

สอง คือ ขั้นตอนการจัดองค์กร กล่าวคือจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่าย สร้างองค์กร มีผู้นำ มีเงินทุน มีช่องทางการสื่อสารเป็นวงกว้าง และเครือข่ายเหล่านี้ต้องมีการจัดองค์กร เพื่อให้เป้าหมายชัดเจน เครือข่ายแบบโซเชียลมีเดียที่สมาชิกในเครือข่ายไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นการจัดองค์กรทางการเมือง

เมื่อมีขั้นตอนที่หนึ่งและสองแล้ว จึงนำมาสู่ขั้นตอนที่สามคือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองและสังคมได้

ในกรณีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นเพียงความต้องการสื่อสารของคนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ทางอาชีพของพวกเขา หากมีความไม่พอใจเกิดขึ้นก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เป็นเพียงขั้นต้นๆ ไม่นำไปสู่การขยายประเด็นใดๆ จึงไม่จัดอยู่ในขั้นตอนของการก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมหรือการเมืองได้

 

 

นักวิชาการสื่อสารมวลชนชี้ข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นเพียงการบอกให้ทราบ ไม่ได้ปลุกเร้าให้กระทำการใด

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 26 ก.ย.  รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน

ส่วนหนึ่งของคำให้การ อุบลรัตน์ระบุว่าข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นข้อความที่เป็นการบอกเล่าความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา ไม่มีลักษณะโน้มน้าวใจ หรือชวนให้เชื่อ เป็นการสื่อสารที่เรียกว่า การบอกกล่าวหรือบอกให้ทราบ (informative)  นอกจากนี้ เป็นการเขียนด้วยภาษาและถ้อยคำที่มีความสุภาพ ใช้แผ่นป้ายสื่อสารด้วยตัวอักษร มิได้ส่งเสียงดัง รบกวน หรือพูดในลักษณะปลุกเร้าผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ จึงเป็นวิธีการสื่อสารที่จำกัด

อุบลรัตน์เห็นว่าการติดป้ายและถ่ายภาพกับป้ายข้อความดังกล่าว เป็นไปอย่างจำกัด ในพื้นที่การประชุม และใช้วิธีการสื่อสารอย่างจำกัดคือใช้กระดาษติดหน้าห้องประชุม และข้อความยังระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเวทีวิชาการ ดังนั้น แม้มีการเผยแพร่ภาพโดยสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย แต่ไม่อาจเกิดผลใดๆ ได้ เนื่องจากผู้รับสารมีการตีความหมายหรือให้ความหมายแตกต่างกันได้ ไม่ได้มีความหมายตายตัว และเป็นการสื่อสารในวงจำกัด 

อีกทั้งข้อความดังกล่าวไม่ได้มีการให้เหตุผลสนับสนุนเพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อ หรือกระตุ้นให้มีการกระทำการใดๆ  ซึ่งหากผู้เขียนข้อความประสงค์จะโน้มน้าวให้คนเชื่อหรือกระทำการใด ย่อมจะต้องมีถ้อยคำอื่นๆ ประกอบอีก

อุบลรัตน์ยังให้การอีกว่าในกรณีนี้ ผู้เขียนก็ต้องการสื่อสารกับ “ผู้เข้าสังเกตการณ์” การประชุมที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งไม่ได้รับเชิญ และไม่ได้แจ้งต่อคณะผู้จัดงานประชุมวิชาการว่าต้องการเข้าฟังการประชุมดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งไม่เป็นปกติในเวทีวิชาการ กรณีนี้จึงนับได้ว่าเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เมื่อผู้เขียนรับรู้การกระทำนั้นแล้วไม่เห็นด้วย จึงสื่อสารกลับไปด้วยวิธีการชูป้ายหรือติดป้ายเพื่อบอกให้ทราบ จำเป็นต้องบอกสิ่งที่ตัวเองคิดออกไป  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโน้มน้าวให้คนอื่นคิดเหมือนเรา ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการบอกออกไปให้ทราบเท่านั้น

อีกทั้ง การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมเวทีวิชาการเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเป็นสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎบัตรสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกอีกด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม

เสรีภาพสำคัญยิ่งสำหรับงานประชุมวิชาการ: เปิดคำให้การ ‘อานันท์ กาญจนพันธุ์’ ในคดีไทยศึกษา

อัยการแขวงยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี 5 ผู้ต้องหากรณีไทยศึกษา นัดรายงานตัวอีกครั้ง 24 ต.ค.

ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา

 

X