ประชาชนอยู่อย่างไรในภายใต้กฎอัยการศึก

ประชาชนอยู่อย่างไรในภายใต้กฎอัยการศึก

ประชาชนอยู่อย่างไรในภายใต้กฎอัยการศึก

กฎอัยการศึกเป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือฝ่ายพลเรือนในการรักษาความสงบเรียบร้อย[1] โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็น ผู้บังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจในการ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และกักตัวบุคคล ได้โดยทันทีเพียงแต่ มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยกฎอัยการศึกให้อำนาจดังต่อไปนี้

การปิดล้อม[2]

  • สามารถสนธิกำลัง 3 ฝ่าย คือทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้าปิดล้อม เพื่อทำการตรวจค้นและจับกุมตัวบุคคลได้
  • สามารถปิดล้อมได้ทุกที่
  • สามารถปิดล้อมได้ทุกเวลา ทั้งกลางวัน กลางคืน
  • สามารถยึด ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่บุคคลออกจากสถานที่นั้นได้
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทำรายงานการปิดล้อม

การตรวจค้น[3]

  • ตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจากศาล
  • ตรวจค้นได้ทั้งตัวบุคคล และสิ่งของ และสถานที่ใด ๆ ก็ได้
  • ตรวจค้นเคหะสถานและที่รโหฐาน
  • ตรวจค้นได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
  • สามารถยึดสิ่งของที่ต้องห้ามหรือต้องยึดได้
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำรายงานการตรวจค้น

การจับกุมบุคคล[4]

  • จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลและแม้ไม่ใช้การกระทำผิดซึ่งหน้า
  • สามารถเข้าไปจับกุมได้แม้ในที่รโหฐานและโดยไม่ต้องมีหมายค้น
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเหตุแห่งการจับหรือแจ้งข้อกล่าวหา
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการจับกุม

การกักตัวบุคคล[5]

  • กักตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ทั้งนี้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้
  • กักตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน
  • กักตัวบุคคลไว้ได้แม้ไม่มีข้อกล่าวหาใด ๆ และโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องแจ้งเหตุแห่งการต้องกักตัวแต่อย่างใด
  • ควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้ที่ใดก็ได้
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกักตัวไว้วางใจถึงสถานที่ที่ใช้ควบคุมบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม
  • ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการควบคุมตัว

นอกจากนี้กฎอัยการศึกยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกเรียกร้องค่าเสียหายจากประชาชนหรือบริษัทใด ๆ ไม่ให้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้[6] อีกทั้งยังให้อำนาจแก่ผู้ที่มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกในการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ซึ่งรวมถึงความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยถึงแม้จะเป็นการพิจารณาคดีพลเรือนธรรมดาที่มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารก็ตาม[7] อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมิได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวนี้และศาลพลเรือนยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติเว้นแต่เป็นคดีที่บุคคลในสังกัดราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร

 

[1]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 6 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราบ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

[2]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 8

[3]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 9

[4]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ

[5]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ

[6]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 16

[7]               พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 8 ประกอบบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2502

X