อ.นิติ ธรรมศาสตร์เบิกความคดีสติกเกอร์โหวตโน ชี้ข้อความไม่เป็นเท็จ ศาลนัดพิพากษา 29 ม.ค.61

5 ต.ค.2560 ศาลจังหวัดราชบุรีนัดสืบพยานจำเลยในคดีครอบครองและ “น่าเชื่อว่าจะแจก” สติกเกอร์ Vote No ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภ.บ้านโป่ง พยานฝ่ายจำเลยที่ขึ้นเบิกความในวันสุดท้ายมี 2 คน คือ นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความถึงปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการออกเสียงประชามติ พร้อมให้ความเห็นว่าข้อความบนสติกเกอร์ไม่ได้เป็นข้อความเท็จ และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ประชาไท เบิกความยืนยันเรื่องการทำหน้าที่นักข่าวในวันเกิดเหตุของนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา และการติดตามทำข่าวแบบเกาะติดแหล่งข่าวถือเป็นการทำหน้าที่ที่ดีของนักข่าว

ในคดีนี้ อัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้องนายปกรณ์ อารีกุล, นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา, นายอนันต์ โลเกตุ, นายอนุชา รุ่งมรกต และนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา

(ภาพจาก : ilaw และเพจ ธีระ สุธีวรางกูร)

อาจารย์นิติศาสตร์ยันการแสดงออกทำได้และข้อความบนสติกเกอร์ไม่ได้เป็นเท็จ

นายธีระ สุธีวรางกูร เบิกความว่าในฐานะที่ตนสอนนิติศาสตร์มหาชนว่าตนได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย ซึ่งตัวเขาเองและนักวิชาการหลายคนก็มีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ว่าไม่ควรผ่านการลงประชามติครั้งนี้

สาเหตุก็คือ ในประเด็นแรกเป็นเรื่องที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาโดยไม่ชอบ เพราะมีการยกเลิกฉบับปี 2550 ไปด้วยวิธีการนอกระบบกฎหมาย ซึ่งปกติแล้วการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามระบบของรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีปัญหาในหลายประเด็น แต่ที่สำคัญคือเนื้อหาบางส่วนยังคงรองรับการใช้อำนาจแบบตามอำเภอใจของ คสช. ซึ่งบัญญัตเอาไว้ในมาตรา 265 ที่ให้ คสช. ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อไปได้

ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนั้นยังมีการบัญญัติเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จากแต่เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ส.ว.จะต้องผ่านการเลือกตั้งเข้ามาทั้งหมด หรือในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ยังคงมีการให้เลือกตั้งเข้ามาบางส่วน บางส่วนเป็นการสรรหาเข้ามา แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ลงประชามติครั้งนี้กลับกลายเป็นการแต่งตั้ง ส.ว. เข้ามาทั้งหมดโดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการก็มาจากคัดเลือกโดย คสช. อีกที และเมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รายชื่อผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. แล้ว คสช. ก็ยังเป็นผู้เลือกในขั้นตอนสุดท้าย

นอกจากนั้นยังมีผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในส่วนของที่มาของนายกรัฐมนตรีก็มาจากการคัดเลือกของสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว. ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ และนอกจากนี้ในกรณีที่ทั้งสองสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ ก็ให้ทั้งสองสภาเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้อีกด้วย หรือก็คือการเลือกนายกฯคนนอก

นายธีระเบิกความสรุปว่าที่มีความเห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะปัญหาเรื่องที่มาและเนื้อหา ซึ่งในหมู่นักนิติศาสตร์เห็นว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งในประเด็นข้างต้น ทางกลุ่มนิติราษฎร์ได้ออกแถลงการณ์เอาไว้ด้วย และตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว

นายธีระเบิกความต่อว่าในช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ตามมาตรา 4 และยังรับรองพันธกรณีที่ไทยเคยลงนามไว้ คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 จึงมีสถานะบังคับ เพราะทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเขียนสอดรับกัน

ในประเด็นเรื่องประเพณีการปกครองของไทยก็มีการรับรองสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เพราะมีการเขียนรับรองในรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ดังนั้นถึงจะไม่มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเอาก็ยังถือว่าประเด็นนี้เป็นประเพณีการปกครองของไทยด้วย  อีกทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังรับรองเสรีภาพการแสดงออกไว้อยู่ในมาตรา 7 ด้วย

นายธีระเบิกความว่าในการรณรงค์และเผยแพร่ความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญต่อบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนได้นำเอาไปคิดพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมทำได้

ทนายความได้ถามนายธีระว่าข้อความ “Vote No ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” เป็นข้อความที่มีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือเป็นข้อความที่เป็นเท็จ อย่างไร นายธีระกล่าวว่าถ้าหากอนาคตที่ไม่ได้เลือก หมายถึงการที่ ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง

นายธีระเบิกความถึงประเด็นเกี่ยวกับที่จำเลย 1-4 ถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ว่าประกาศดังกล่าวหากพิจารณาตามกฎหมายธรรมชาติแล้ว ก็ถือว่าที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่ชอบ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว การที่ศาลมีการพิจารณาใช้ประกาศฉบับนี้มาก่อนแล้ว ก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ได้ แต่ในความเห็นของเขาประกาศฉบับนี้ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่นั้น หากดูว่าการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเคยมีโทษจำคุกเพียง 10 วัน แต่มีการปรับโทษเพิ่มในประกาศฉบับนี้เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน การเพิ่มโทษนี้สมควรแก่เหตุหรือไม่ เมื่อเทียบกับกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกัน อีกทั้งที่มาของกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นการประกาศใช้โดย คปค. ที่มาจากการรัฐประหาร กฎหมายไม่มีการตรวจสอบจากสภาก่อน เขาจึงเห็นว่าขัดต่อหลักยุติธรรมทางอาญา

นายธีระเบิกความว่ารู้จักกับจำเลยทั้ง 5 คน จากที่ปรากฏในข่าวเท่านั้น เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกที่ศาลในคดีนี้

นายธีระตอบคำถามค้านของอัยการว่า เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการที่ไปร่วมกับกลุ่มนิติราษฎร์ในการออกแถลงการณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักวิชาการท่านอื่นๆ ก็ไม่มีคนใดที่ถูกดำเนินคดี

อัยการถามนายธีระว่าข้อความที่ว่าไม่รับบนสติกเกอร์หมายถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เขาตอบว่าใช่ หมายถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาว่าไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ว. ได้อัยการจึงถามต่อว่าหากคนได้รับสติกเกอร์จะมีกี่คนที่เข้าใจตามที่อธิบาย นายธีระตอบว่าเขาไม่ทราบว่าการแจกสติกเกอร์มีการอธิบายประกอบไปด้วยหรือไม่ แต่ถ้ามีแต่สติกเกอร์ข้อความนี้ก็ไม่ชัดเจนนัก แต่หากมีการแจกเอกสารประกอบด้วยก็จะชัดเจน

อัยการถามว่าข้อความบนสติกเกอร์เป็นการชักชวน จูงใจหรือไม่ นายธีระตอบว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าคนที่ได้รับสติกเกอร์ใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นตรงกันกับคนแจกก็เป็นการชักจูง แต่ถ้าใช้ดุลยพินิจแล้วไม่เห็นด้วย ก็ไม่รับ

บ.ก.ประชาไท ยืนยันทวีศักดิ์ไปทำข่าวเท่านั้น

ในการสืบพยานช่วงบ่าย นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ขึ้นเบิกความต่อศาลว่าตนเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวออนไลน์ประชาไท และเป็นหัวหน้างานของนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา โดยประชาไทมีจุดประสงค์ในการเป็นปากเสียงให้ผู้ที่ด้อยโอกาสและสร้างพื้นที่ให้แก่เสียงที่แตกต่างหลากหลายที่สื่อกระแสหลักไม่ทำข่าว เช่นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากร แรงงาน โดยเป็นการนำเสนอในอีกมุมหนึ่งเพื่อให้มีการนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้าน

ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ประชาไทได้มีการติดตามการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นประเด็นเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งจะมีสถานการณ์การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในทุกรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ทางประชาไทจึงมีการติดตามเรื่องนี้โดยการส่งนักข่าวออกไปติดตาม

นายชูวัสเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาของประเทศที่จะใช้ในการจัดสรรความสัมพันธ์ภายในประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการให้ไปออกเสียงหรือไม่ก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนในประเทศ

ในส่วนของนายทวีศักดิ์ จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เขาเข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2557 ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวสายสิทธิพลเมือง การเมือง และภาคประชาสังคม โดยนายชูวัสเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายทวีศักดิ์ ในการมอบหมายงานจะมีการให้ประเด็นอย่างกว้างตามที่กล่าวไป ซึ่งรวมไปถึงการติดตามนักกิจกรรมที่ถูกละเมิดสิทธิ แล้วแต่หน้างานในขณะนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะให้นายทวีศักดิ์เสนอประเด็นมา เพื่อทำการพิจารณาว่าจะให้มีการติดตามทำข่าวในประเด็นนั้นๆ ต่อหรือไม่

นายชูวัสเบิกความว่าในฐานะที่ตนเป็นบรรณาธิการ หากมีการเสนอประเด็นมาแล้ว ก็จะมีการพิจารณาอนุมัติให้ทำข่าว แล้วนักข่าวก็จะทำข่าวกลับมาส่ง จากนั้นก็จะมีการทำตรวจสอบอีกครั้งว่าข่าวดังกล่าวนำเสนอได้ครอบคลุมรอบด้านตามประมวลจริยธรรมของสำนักข่าวแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ ซึ่งตัวเขาเองสามารถทำการแก้ไขข่าวที่นักข่าวส่งมาให้ได้ ซึ่งในวันเกิดเหตุนายทวีศักดิ์ก็ได้มีการนำเสนอประเด็นมาก่อนแล้ว จากนั้นก็มีการส่งข่าวกลับมาที่กองบรรณาธิการด้วย ซึ่งข่าวดังกล่าวก็ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณะ ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของประชาไท

นักข่าวถูกคุกคามจากการทำหน้าที่สื่อ

ทนายความถามนายชูวัสว่าภายหลังจากที่นายทวีศักดิ์ถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่นักข่าว ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง นายชูวัสได้ตอบว่าตามประมวลจริยธรรมแล้วการเซนเซอร์ตัวเอง เป็นเรื่องต้องห้ามในการทำงานข่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เสียความมั่นใจในการทำงานของสื่อไป นายชูวัสเห็นว่าเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิในการทำหน้าที่ของสื่อ แล้วหลังจากที่นายทวีศักดิ์ถูกจับกุม ก็ยังมีตำรวจจาก สน.สุทธิสารนำหมายค้นมาตรวจค้นที่สำนักข่าวอีกด้วย

นายชูวัสเบิกความอีกว่าในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้มีตำรวจโทรศัพท์มาถึง เพื่อสอบถามยืนยันว่านายทวีศักดิ์เป็นนักข่าวของประชาไทหรือไม่

นายชูวัสเบิกความอีกว่านายทวีศักดิ์มีความประพฤติดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี มีความสามารถในการจับประเด็นข่าว และเป็นนักข่าวมือรางวัลจากการทำข่าวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในปี 2557

นายชูวัสตอบคำถามค้านของอัยการว่าปกติแล้วการทำงานของนักข่าวประชาไทจะไปลงพื้นที่ทีละหนึ่งคนเป็นการทำงานตามลำพัง โดยจะต้องทั้งเป็นคนหาข่าวและถ่ายภาพด้วยตัวเอง

อัยการถามว่าจากการที่สำนักข่าวติดตามข่าวเรื่องความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาล เคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ นายชูวัสตอบว่าสำนักข่าวไม่เคยถูกดำเนินคดี แล้วการทำข่าวก็มีการเสนอข่าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งด้วย

นายชูวัสตอบอัยการอีกว่านอกจากนายทวีศักดิ์ถูกดำเนินคดีและการเข้าตรวจค้นที่สำนักข่าวแล้ว ก็ไม่ได้มีการคุกคามอื่นอีกและก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้ทางสำนักข่าวก็ไม่เคยถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

อัยการถามอีกว่าเคยพบว่านายทวีศักดิ์ไปเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายชูวัสตอบว่าไม่มี และเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง นายทวีศักดิ์ก็ต้องไปทำข่าวอยู่แล้ว

อัยการถามต่ออีกว่าการทำงานของนายทวีศักดิ์มีวันหยุดหรือไม่ นายชูวัสตอบว่าไม่มีระบุวันหยุดชัดเจน นักข่าวต้องเลือกวันหยุดเอาเอง ในวันที่ไม่มีข่าวต้องทำ บางทีทำงาน 3 สัปดาห์ติดกันแล้วหยุด 3 วันก็มี แต่ในความเป็นจริงแล้วก็แทบไม่มีวันหยุด

นักข่าวเกาะติดแหล่งข่าวทำให้ได้ข่าวเชิงลึก

นายชูวัสตอบคำถามเกี่ยวกับการเดินทางของนักข่าวว่า การเดินทางก็จะเป็นไปตามความสะดวกของนักข่าวเอง อย่างตอนที่เขาไปทำข่าว ก็เคยมีทั้งการเดินทางไปกับเครื่องบินของทหารหรือรถของศาล แต่ถ้าเป็นการเดินทางในกรุงเทพฯ ก็มีการใช้รถประจำทางบ้าง แต่ถ้าเป็นการเดินทางในต่างจังหวัด นักข่าวจะต้องแจ้งหัวหน้างาน ซึ่งก็คือตัวนายชูวัสเอง เพื่อให้อนุมัติ ซึ่งก็จะมีการเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ แต่ถ้าเป็นเดินทางไปกับแหล่งข่าวหรือเดินทางไม่ไกลนัก ก็จะไม่ต้องเบิกค่าเดินทาง

นายชูวัสตอบคำถามทนายความว่าในวันเกิดเหตุนายทวีศักดิ์เดินทางไปทำงาน และการที่นักข่าวจะเดินทางไปกับแหล่งข่าว ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการนำเสนอข่าว เพราะนักข่าวก็จะต้องเขียนข่าวส่งมาให้กองบรรณาธิการ โดยจะมีนักข่าวอาวุโสตรวจข่าวที่ส่งมาก่อนมีการเผยแพร่ เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาข่าวถูกต้องหรือไม่ ครอบคลุมรอบด้านหรือยัง

นอกจากนั้นการไปติดตามทำข่าวกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ ก็อาจจะถูกบุคคลที่พบเห็นหรือเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดได้ว่าไปร่วมกิจกรรม เพราะนักข่าวก็ไม่ได้ติดบัตรผู้สื่อข่าวเอาไว้ แต่หากติดตามดูก็จะพบว่านักข่าวจะมีการจดบันทึก อัดเสียง ถ่ายภาพ แม้ว่าในเวลานี้อาจจะไม่ได้มีการพกกล้องถ่ายรูปแล้ว  แต่ก็มีการใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่ายภาพแทน และการเกาะติดแหล่งข่าวก็ถือว่าเป็นการทำข่าวที่ดี เพราะยิ่งใกล้ชิดแหล่งข่าวก็ยิ่งได้ข่าวที่ลึกมากขึ้นด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานทนายความได้แถลงหมดพยาน และขออนุญาตศาลในการส่งแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 29 มกราคม 2561 โดยศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากศาลมีคดีที่จะต้องพิจารณาคดีหลายคดี และคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงต้องส่งคำพิพากษาให้อธิบดีศาลภาค 7 ก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษา

ในการสืบพยานคดีครั้งนี้ ระหว่างการสืบพยานช่วงเช้าจนถึงก่อนสืบพยานในช่วงบ่าย ปรากฏว่ามีชายนิรนามสวมเสื้อผ้าสีดำราว 3-4 คน มานั่งเฝ้าที่ด้านนอกห้องพิจารณาคดี และยังมีบางส่วนที่อยู่ในบริเวณรั้วศาล ในช่วงบ่ายทนายความจึงแถลงขอให้ศาลเรียกบุคคลเหล่านั้นมาสอบถาม เนื่องจากไม่ทราบจุดประสงค์ในการมาของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งสร้างความกังวลแก่จำเลยในคดี ทั้งนี้ในระหว่างที่ทนายความแถลงต่อศาล ได้เห็นว่ามีหนึ่งในชายเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในห้องพิจารณาคดีแล้ว จึงได้เรียกให้แสดงตัว ชายคนดังกล่าวได้แถลงต่อศาลว่าตนเป็นตำรวจชุดสืบสวนจากสภ.เมืองราชบุรี มาพร้อมกับพวกอีก 6 นาย เพื่อติดตามการพิจารณาคดีนี้ และรอว่าศาลจะมีนัดฟังคำพิพากษาเมื่อใด

ทนายความจึงถามตำรวจนอกเครื่องแบบนายดังกล่าว ว่าเหตุใดจึงไม่สวมเครื่องแบบ แต่เจ้าหน้าที่รายนี้แจ้งเพียงว่าตนเป็นชุดสืบสวน จึงไม่สวมเครื่องแบบ ทนายความจึงถามอีกว่านอกจากมาเพื่อติดตามคดีแล้ว ยังมีการมาเพื่อติดตามจับกุมใครหรือไม่ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีแผนการดำเนินการดังกล่าว และเขาทราบดีว่าการจับกุมใครในบริเวณศาลจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นักรัฐศาสตร์เบิกความคดีเชื่อว่าจะแจกสติกเกอร์ ชี้รณรงค์โหวตโนทำได้ ไม่เป็นความผิด

นักกิจกรรมยันข้อความสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ได้ก้าวร้าว-รุนแรง

ตำรวจบ้านโป่งขึ้นเบิกความ คดีแจกสติกเกอร์ Vote No นัดหน้าเริ่มสืบจำเลยทั้ง 5 คน

 

X