อัยการสั่งไม่ฟ้อง “หนุ่มนักดนตรีอุบลฯ” คดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.


อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องคดีพฤทธิ์นรินทร์ เหตุฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. พิจารณาแล้วหลักฐานไม่เพียงพอ ด้านศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าแม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ความจริงแล้วพฤทธ์นรินทร์ไม่ควรถูกออกหมายจับตั้งแต่ปี 57

 
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 60 เวลาประมาณ 10.00 น. นายพฤทธ์นรินทร์ (สงวนนามสกุล) “หนุ่มนักดนตรีอุบลฯ” เดินทางไปศาลทหารกรุงเทพ พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตามหมายนัดฟังคำสั่งของอัยการศาลทหารกรุงเทพ ในคดีที่พฤทธ์นรินทร์ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อ คสช.
ทั้งนี้ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพฤทธ์นรินทร์ เนื่องจากพิจารณาแล้ว คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

 
คดีนี้สืบเนื่องมาจากภายหลังการรัฐประหาร พฤทธ์นรินทร์ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ที่ 44/2557 ลงวันที่ 1 มิ.ย.2557 ให้มารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 จากนั้น ถูกเรียกรายงานตัวอีกครั้งตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2557 ลงวันที่ 8 มิ.ย.2557 ให้มารายงานตัวในวันที่ 9 มิ.ย.2557 ซึ่งพฤทธิ์นรินทร์ได้เดินทางไปรายงานตัวในวันที่ 9 มิ.ย. 57 และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีเดินทางมารับตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลับไปดำเนินคดีและขังที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี ในวันที่ 13 มิ.ย.2557

 
ขณะที่วันที่ 13 มิ.ย. 57 ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับ ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ไม่มารายงานตัวภายในเวลากำหนด จำนวน 17 ราย ตามที่ทหารได้เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม และกองปราบฯ ขอศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ โดยมีพฤทธิ์นรินทร์เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย

 
ต่อมา วันที่ 1 ก.ย.60 พฤทธ์นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางอุบลราชธานีหลังจากถูกขังมาจนครบโทษในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาก็ถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 13 มิ.ย.57 โดยมีตำรวจจากกองปราบฯ เดินทางไปรับและควบคุมตัวพฤทธ์นรินทร์มายังกรุงเทพมหานคร และ พ.ต.อ.บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อ คสช.

 
หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหา พฤทธิ์นรินทร์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งเรียกแล้ว และได้ยื่นประกันตัวต่อศาลทหารกรุงเทพด้วยเงินสด 30,000 บาท (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่  ) ก่อนที่ศาลฯ จะอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดให้มารายงานตัวทุก 12 วัน

 

พฤทธ์นรินทร์ได้เข้ารายงานตัวต่อศาลทหารกรุงเทพตามเงื่อนไขประกัน รวม 4 ครั้ง โดยในระหว่างนั้น เขาได้ไปดำเนินการติดต่อขอหลักฐานการเข้ารายงานตัวจาก คสช. เพื่อยื่นเป็นหลักฐานประกอบคำให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวน ก่อนที่อัยการทหารจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด

 
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าแม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ความจริงแล้วพฤทธ์นรินทร์ไม่ควรถูกออกหมายจับตั้งแต่ปี 57 เพราะเขาได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ก่อนวันที่ 13 มิ.ย. 57 ซึ่งกองปราบฯ ไปขอศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ การที่พฤทธ์นรินทร์ถูกออกหมายจับทำให้เขาถูกอายัดตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ต้องสูญเสียอิสรภาพไปอีก 2 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ซึ่งก็ต้องเป็นภาระในการหาเงินมาประกันตัว อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับอุบลราชธานี-กรุงเทพ อีก 4 ครั้ง และสูญเสียเวลากับการต่อสู้คดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลทหารให้ประกันตัว “หนุ่มนักดนตรีอุบลฯ” ข้อหาไม่ไปรายงานตัวต่อคสช. ด้วยเงินสด 30,000 บาท

ปล่อยตัว “นักดนตรีอุบลฯ” จากคดี ม.112 ก่อนถูกจนท.กองปราบอายัดตัวต่อในคดีไม่ไปรายงานตัวคสช.

 

X