จับตาคดี ม.116 ติดป้ายแยกประเทศล้านนา สืบพยานโจทก์-จำเลยต่อที่ศาลพะเยา

ชวนจับตา ศาลจังหวัดพะเยานัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 22-24 พ.ย. 60 ในคดีของนายออด สุขตะโก และพวก รวม 3 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการพบป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

จากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5-7 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพะเยาได้สืบพยานในคดีของนายออด สุขตะโก, นางถนอมศรี นามรัตน์ และนายสุขสยาม จอมธาร สามสมาชิกของกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการพบป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557

            สำหรับคดีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือจำเลยทั้ง 3 คนในคดีนี้ เป็นจำเลยที่เคยถูกพิพากษามาแล้ว (คำพิพากษา) จากกรณีการที่มีการแขวนป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ในคดีก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2558 (รายงานก่อนหน้านี้) และในการฟ้องร้องต่อศาลพะเยาในครั้งนี้ โจทก์ได้มีการอ้างพยานหลักฐานในคดีก่อนเข้ามาเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นคนละสถานที่กัน ทั้งตั้งแต่การเริ่มสืบโจทก์มา ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยทั้ง 3 คน มีความเกี่ยวข้องกับป้ายผ้าที่จังหวัดพะเยา จะมีก็เพียงแต่ว่าป้ายที่เป็นต้นเหตุในคดีนั้น มีลักษณะเดียวกัน และพิมพ์ข้อความเดียวกันกับในคดีก่อนของจำเลยทั้ง 3 คน เท่านั้น

ในการสืบพยานโจทก์สามนัดดังกล่าว พยานเป็นเจ้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานกลาง กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ปาก ที่ได้ทำการตรวจแผ่นป้ายไวนิลในคดี จากคำขอจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 5 พยานทั้ง 3 ปากเบิกความตรงกันว่า แผ่นป้ายที่พยานได้ตรวจสอบนั้น พบว่ามีข้อความตรงกันว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกประเทศ” มีพื้นสีแดง ตัวอักษรสีดำ และเป็นสีจากเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก  อีกทั้งจากการตรวจสอบยังพบว่าวัสดุและเส้นใยที่ใช้ทำแผ่นป้ายยังเป็นชนิดเดียวกัน แต่พยานระบุว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าป้ายที่ได้รับมาตรวจนั้น มาจากที่มาเดียวกันและจากการตรวจลายนิ้วมือแฝง ก็ไม่พบลายนิ้วมือแฝงบนแผ่นป้ายแต่อย่างใด

การสืบพยานในช่วงเดือนกันยายนนั้นทำการสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก เนื่องจากเป็นการสืบพยานผ่านจอภาพ (video conference) จาก 3 จังหวัดที่แตกต่างกัน จึงทำการสืบพยานเพียงวันละ 1 ปาก จากนั้นศาลจังหวัดพะเยาได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 22-24 พ.ย. 60 โดยเป็นพยานโจทก์ชุดที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดี ทั้งชุดสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีก่อนหน้านี้, ชุดสืบสวนของสภ.พะเยา และพนักงานสอบสวนในคดี และยังนัดหมายสืบพยานจำเลยในวันที่ 28 พ.ย.60 อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2557 มีการพบป้ายข้อความดังกล่าวนี้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยที่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงดังกล่าวมีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครโดยกลุ่มกปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น รวมทั้งมีความพยายามขัดขวางหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลอาญาในขณะนั้นได้ปฏิเสธการออกหมายจับแกนนำ กปปส. ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสามคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 จากกรณีป้ายดังกล่าว แล้ว 3 คดี โดยกรณีป้ายที่ติดในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย คดีสิ้นสุดไปเมื่อปี 2558 ส่วนป้ายที่ติดในอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ข้อหาเดิม-จำเลยเดิม-ศาลใหม่: ฟ้องม.116 สามเสื้อแดงเชียงราย กรณีติดป้ายประเทศล้านนาที่พะเยาอีก

ฟ้องสามเสื้อแดงเชียงราย ม.116 เป็นคดีที่สาม กรณีติดป้ายแยกประเทศล้านนาที่แม่ลาว

X