คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา

คำพิพากษาภายใต้เจตนารมณ์ “เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี” และข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษา

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบัญญัติไว้โดยเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น ไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การทำหน้าที่ของศาลและตุลาการต้องเป็นอิสระ โดยหลักความอิสระของศาลมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย โดยเหตุที่ศาลเป็นองค์กรหนึี่งของรัฐ ทำหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดี จึงต้องไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ มาแทรกแซง เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มีความเปิดเผย โปร่งใส ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ และเมื่อมีคำพิพากษาคู่ความต้องยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามลำดับ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาสามารถกระทำได้ โดยเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครอง การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวย่อมกระทำมิได้ แต่การแสดงความเห็นหาใช่ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดไม่ แต่ต้องกระทำโดยสุจริต ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อบุคคลอื่น ไม่ขาดเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ทำด้วยอารมณ์ความรู้สึก…

 

เป็นคำกล่าวถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น นายบุญธรรม ตุกชูแสง ยกขึ้นมาอธิบายไว้ในคำพิพากษา ก่อนที่จะวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา ในคดีที่ 7 นักศึกษาถูกกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาลว่า

พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 กับพวกที่นำสัญลักษณ์ตราชั่งที่มีรองเท้าบูทแขวนมาแสดง เป็นการกระทำที่ทำต่อเนื่องกันทันทีกับการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ อันเป็นการสื่อความหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า ศาลเอนเอียงไปทางรองเท้าบูท ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 กับพวก ต้องการกดดันการใช้ดุลพินิจของศาล เป็นการนำมวลชนมากดดัน โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือศาล เพื่อให้ศาลตัดสินตามใจตน พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาล อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความหลงผิดว่า ศาลทำหน้าที่โดยไม่เป็นอิสระ กระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล หาใช่การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตไม่ แต่เป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ให้การว่า การกระทำของพวกตนเป็นเพียงมาให้กำลังใจนายจตุภัทร์ และกระทำที่นอกบริเวณศาล ไม่ได้ขัดขวางหรือแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี และนำสืบว่า อุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ตาชั่งและรองเท้าบูทหมายถึง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนโดยทหาร ไม่ได้หมายถึงศาล หากมีเจตนาเช่นนั้นจริงแล้ว เหตุใดจึงจัดกิจกรรมที่หน้าป้ายศาล และเลือกทำในวันที่มีการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ นอกจากนี้ จากการไต่สวนได้ความว่า ในวันดังกล่าวมีนักข่าวเสนอข่าว บ่งชี้ว่า มีการนัดหมายกันมาทำกิจกรรม หาใช่การแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจไม่ ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิด
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 กล่าวอ้างว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ตนเพียงเดินทางมาให้กำลังใจจตุภัทร์ ได้มีคนเรียกตนไปถ่ายรูปพร้อมยื่นหน้ากากรูปหน้าไผ่ให้ เนื่องจากต้องการสื่อสารว่า “เราทุกคนคือไผ่” จากนั้น หลังการพิจารณาคดีของจตุภัทร์เสร็จแล้ว ตนทราบว่าจะมีกิจกรรมของนักศึกษาสี่ภาค และกลุ่มดาวดิน จึงได้เดินไปดู มีคนแจกดอกกุหลาบสีขาวเพื่อให้คนนำไปวางให้กำลังใจจตุภัทร์ ตนจึงนำดอกกุหลาบไปวางเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์เท่านั้น แต่จากการไต่สวนเห็นว่าภาพถ่ายที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ร่วมถ่ายภาพนั้น มีข้อความ “Free Pai” เป็นการสื่อความหมายให้ศาลให้ประกันนายจตุภัทร์ จึงเป็นการใช้มวลชนมากดดันศาล แทรกแซงการวินิจฉัยของศาล หาใช่การให้กำลังใจนายจตุภัทร์โดยบริสุทธิ์ใจไม่ ดังนั้น ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จะมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 หรือไม่ ก็ถือว่า ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงพิพากษาว่า

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) และมาตรา 33 พิเคราะห์พฤติการณ์และรายงานการสืบเสาะเห็นว่า มูลเหตุในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ประกอบกับอยู่ในวัยเยาว์ด้อยประสบการณ์ จึงตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี บิดเบือนข้อมูลว่า ศาลมีกระบวนการพิจารณาคดีขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หรือวางตัวไม่เป็นกลาง หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 ได้ศึกษา ย่อมเข้าใจบริบทของศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เป็นผู้ใหญ่ จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีแล้ว ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างดี
จากการสืบเสาะของเจ้าพนักงานคุมประพฤติพบว่า แต่ละคนมีแนวคิดและอุดมการณ์ส่อไปในทางที่ดี หากได้รับการอบรมเชื่อว่า จะสามารถปรับปรุงความคิดตนเองได้ จึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เป็นเวลา 2 ปี และผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี ให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง กับทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชม. ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก

คดีนี้สืบเนื่องจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้กล่าวหา ได้จัดทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ในวันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีกลุ่มคนที่สนับสนุนนายจตุภัทร์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 301/2560 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ นายจตุภัทร์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา จำเลย ในความผิดเรื่อง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประพฤติตนในลักษณะไม่พอใจการพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว โดยกล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล เหตุเกิดบริเวณป้ายศาลอุทธรณ์ภาค 4, ศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลแขวงขอนแก่น บริเวณประตูรั้วทางเข้าบริเวณศาล ผู้กล่าวหาเห็นว่า การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดขอนแก่นได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน

ศาลได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้กล่าวหา และพยานของผู้กล่าวหา แล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงได้หมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-7 มาไต่สวน

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ยอมรับว่า เป็นบุคคลที่ได้มาทำกิจกรรมบริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 จริง แต่ให้การปฏิเสธในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นการรบกวนกระบวนการพิจารณาคดีของศาล เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นปกติ ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่ได้ก่อความรุนแรงหรือก่ออันตรายใด ๆ อีกทั้ง ไม่ได้กระทำในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล

Ο Ο Ο Ο Ο Ο

 

คดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษา/นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีและพิพากษาว่า มีความผิด จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่พึงกระทำได้ ด้วยข้อหาที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันทั้งในแง่ของความชัดเจนว่า การกระทำใดบ้างจะเป็นความผิด ทั้งวิธีพิจารณาคดีและการลงโทษสอดคล้องหลักวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ที่ต้องประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ โดยคดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และจับตามองจากประชาชนทั่วไปนับตั้งแต่ศาลมีหมายเรียกนักศึกษา 7 คน ไปไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งเมื่อศาลมีคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอบันทึกข้อสังเกตต่างๆ ทั้งในและนอกห้องพิจารณา โดยไม่ได้ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป

 

14 ข้อสังเกตคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล

1. ผู้ถูกกล่าวหา 6 ใน 7 คน เคยถูกดำเนินคดี และอีก 1 คน เคยถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหารมาแล้วก่อนหน้านี้ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหลังรัฐประหาร และทั้ง 7 ยังคงทำกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง คัดค้านการใช้อำนาจเผด็จการของ คสช. อยู่เป็นระยะ แน่นอนว่า นักศึกษา มข. ทั้ง 6 มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคง จ.ขอนแก่น อยู่แล้ว ส่วน ‘นิว’ สิรวิชญ์น่าจะมีรายชื่อเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคงทุกจังหวัดที่นิวเดินทางไป ไม่ยากที่จะระบุชื่อทั้ง 7 คนเป็นถูกกล่าวหาในคดีนี้

2. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีหนังสือถึง ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น ลงวันที่ 20 ก.พ. 60 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ส่งแผ่นซีดีหรือดีวีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวและตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น มีหนังสือตอบกลับศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 23 ก.พ.60 เรื่องส่งแผ่นดีวีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหว พร้อมรายชื่อบุคคลและภาพนิ่ง โดยหนึ่งในสิ่งที่ส่งมาด้วยคือรายชื่อบุคคลที่จัดกิจกรรม (ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรินท์มาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ สตช. โดยระบุวันที่ปรินท์คือ 15 ก.พ.60 (ก่อนที่ศาลฯ จะมีหนังสือถึงตำรวจ)

3. ศาลได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาฎีกาว่า ในกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาลสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดได้โดยทันที ไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวนหรือรับฟังพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก ส่วนกรณีที่การละเมิดอำนาจศาลไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล แม้ศาลต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน จึงจะพิจารณาลงโทษได้ แต่ศาลสามารถค้นหาความจริงได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเหมือนในคดีอาญาทั่วไป และไม่จำเป็นต้องรับฟังพยานจากผู้ถูกกล่าวหาอีก (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เหตุการณ์ในคดีนี้ เป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล จึงต้องมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน อย่างไรก็ตาม ศาลได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่า มีทนายความหรือไม่ และเมื่อทนายของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 ประสงค์ที่จะถามค้านพยานฝ่ายผู้กล่าวหา ศาลก็อนุญาต พร้อมทั้งให้พยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเข้าเบิกความ ซึ่งน่าสนใจว่า คดีนี้ศาลได้นำหลักการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญามาใช้ ไม่ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดวินิจฉัยคดีตามที่ศาลฎีกาได้วางหลักไว้

4. ศาลกำหนดวงเงินประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาสูงถึงคนละ 50,000 บาท (ดูที่นี่) ทั้งที่คดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท  ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจปล่อยผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ต้องมีประกันเลยก็ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 วรรค 2) ดูตัวอย่างคดีที่ศาลปล่อยโดยไม่ต้องมีประกัน

5. ข้อกล่าวหาในคดีนี้คือ “ประพฤติตนในลักษณะไม่พอใจการพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าว โดยกล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล” แต่การไต่สวนฝ่ายผู้กล่าวหา ไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาของการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง ว่าแสดงความไม่พอใจการพิจารณาคดีของศาลอย่างไร ผอ.ศาลยังตอบคำถามทนายว่า ถ้อยคำที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวพูดนั้นไม่ค่อยชัด แต่ไม่ได้แสดงหรือพูดถึงศาลจังหวัดขอนแก่น และเพลงที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวร้องนั้น ตนเองจับใจความไม่ได้ อีกทั้งระบุว่า เหตุการณ์ที่บันทึกอยู่ในวีดิโอนั้น ไม่มีการถอดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ใครพูดหรือแสดงเนื้อหาอย่างไรบ้าง

6. ผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่า การกระทำของตนอยู่ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงออก ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งระบุในข้อ 19 ว่า “1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท…” และยืนยันว่า ความคิดเห็นของตนไม่อาจมีอิทธิพลเหนือความคิดของบุคคลอื่นได้ เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อยู่แล้ว (อ่านเนื้อหาคำคัดค้านคำกล่าวหา)

7. กระแสการรณรงค์ ‘Free Pai’ มีขึ้นนับตั้งแต่จตุภัทร์ถูกถอนประกันในคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นักกฎหมาย ประชาชน ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ต่างเผยแพร่ความเห็นหรือแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องรัฐบาลและศาลให้คืนสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ ICCPR และรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ให้แก่จตุภัทร์ แม้กระทั่งมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ และเรียกร้องให้ศาลทบทวนการถอนประกันนายจตุภัทร์ เพื่อคืนสิทธิอันพึงมีให้กับนายจตุภัทร์ และฟื้นฟูความปกติให้กระบวนการยุติธรรม (ดูเพิ่มเติมที่นี่) ซึ่งถือเป็นการแสดงใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน ที่ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ต่างไปจากกิจกรรมหน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่นในวันเกิดเหตุ

8. วิทยาพนธ์เรื่อง “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล” โดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี ซึ่งศึกษาวิธีพิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ มีข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรของไทยข้อหนึ่งว่า …การแสดงความเห็นโดยวิธีใดๆ โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน ศาล คู่ความ หรือพยานแห่งคดี ซึ่งจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป ไม่ควรเป็นความผิดฐานนี้ ควรมีการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องนี้ ซึ่งบัญญัติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2477 ให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยใช้ระบบผู้พิพากษาอาชีพซึ่งต้องมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

9. ในคดีละเมิดอำนาจศาลที่ผ่านมา มีบางคดีที่ศาลฎีกาตีความคำว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) อย่างแคบ ให้เฉพาะการกระทำที่เกิดในบริเวณศาลเท่านั้นที่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หากการกระทำไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แม้จะมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาคดีในศาล ก็ไม่อาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ แต่ก็มีบางคดีที่ศาลฎีกาขยายความคำว่า “ในบริเวณศาล” ให้กว้างออกไปโดยมักระบุว่า แม้การกระทำจะไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แต่มุ่งให้เกิดผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล (ดูที่นี่)

คดีละเมิดอำนาจศาลของ 7 นักศึกษานี้ ศาลเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทำกิจกรรมดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ จึงเป็นการ “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” โดยศาลตีความให้คำว่า “ในบริเวณศาล” ครอบคลุมถึงบริเวณป้ายศาลที่อยู่นอกรั้วศาลด้วย หากการจัดกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นที่อื่นก็อาจจะไม่เป็นความผิด ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชัดเจนในคำพิพากษา แต่ศาลอธิบายต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เข้าใจคำพิพากษาซึ่งระบุในตอนท้ายว่า “ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก” ว่าหมายความว่า ไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามาจัดกิจกรรมที่บริเวณศาลหรือป้ายศาลอีก ให้ไปจัดที่อื่น

10. คดีละเมิดอำนาจศาล เป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ถูกกล่าวหา แต่ปรากฏว่า ในนัดไต่สวน พ.ท.พิทักษ์ ชูศรี ผบ.ร้อยรักษาความสงบ มทบ.23 ได้มาปรากฏตัวที่หน้าห้องพิจารณาคดี ต่อมา ในนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มีเจ้าหน้าที่ซึ่งแจ้งภายหลังว่า มาจากหน่วยงานความมั่นคง สังกัดศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เข้ามาฟังการไต่สวน และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปในห้องพิจารณาคดี โดยระบุว่า เพื่อรายงาน ‘นาย’ (ดูที่นี่)

11. แม้ว่าคดีละเมิดอำนาจศาลของ 7 นักศึกษานี้ จะเป็นเรื่องระหว่างศาลจังหวัดขอนแก่นและผู้ถูกกล่าวหา และเป็นเรื่องที่ศาลใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ด้วยคือฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งไม่ต้องการให้ประชาชนรวมตัวหรือแสดงออกใด ๆ เลย อย่างน้อยตั้งแต่ศาลมีหมายเรียก 7 นักศึกษาไปไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา คนที่เดินทางมาให้กำลังใจไผ่และนักศึกษาในวันพิจารณาคดีก็มีจำนวนน้อยลง และไม่มีการจัดกิจกรรมใด ๆ อีกเลย

12. ศาลลงโทษจำคุก ‘นิว’ สิรวิชญ์ 6 เดือน ปรับ 500 บาท จากการที่นิวร่วมถ่ายภาพกับป้ายข้อความ “Free Pai” ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการสื่อความหมายให้ศาลให้ประกันนายจตุภัทร์ จึงเป็นการใช้มวลชนมากดดันศาล แทรกแซงการวินิจฉัยของศาล โทษดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แม้โทษจำคุกจะรอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

13. ก่อนหน้าคดีนี้ วันที่ 9 มิ.ย.57 ศาลแพ่งรัชดาฯ มีคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีพฤติการณ์ในคดีที่ใกล้เคียงกันนี้ โดยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลแพ่ง กล่าวหานางดารุณี กฤตบุญญาลัย, อ.สุดสงวน สุธีสร และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ว่า ละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่มีกลุ่มคนมาวางพวงหรีดและถือป้ายข้อความ “แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง” ร้องเพลงและตะโกนว่า “อยุติธรรม” รวมทั้งมีผู้นำตาชั่งและปลัดขิกมาถือและถ่ายภาพที่หน้าศาลแพ่ง ภายหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมของ กปปส. โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล พิพากษาจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 คนละ 2 เดือน  รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่มาศาล)

ศาลอุทธรณ์ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน และศาลฎีกาพิพากษากลับให้ลงโทษ อ.สุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 1 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำคณะบุคคลมากดดันดุลพินิจของศาล ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของตุลาการให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ โดยไม่เคารพกติกาของกฎหมายแห่งบ้านเมือง ทั้งที่ตนมีความรู้ทางกฎหมาย (ดูเพิ่มเติมที่นี่)

14. ในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดี ซึ่งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ถูกกล่าวหา โดยเลขานุการศาลอาญาว่า ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญาพาดพิงถึงการตัดสินคดี ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของสถาบันศาลยุติธรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำอันแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดี โดยศาลถูกครอบงำจากอิทธิพลของพันตำรวจโททักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจอิสระในการตัดสินคดี ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุก 1 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และศาลฏีกาพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ 1821/2557 ดูเพิ่มเติมที่นี่)

 

 

X