คุกคามองค์กรลงชื่อในแถลงการณ์ จนถึงคนขับรถตู้ สกัด “เดินมิตรภาพ”

26 ม.ค. 61 เข้าสู่วันที่ 7 ของกิจกรรม ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ ซึ่งเครือข่าย People GO Network Forum ออกเดินเท้ารณรงค์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะใน 4 ประเด็นหลัก ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ความมั่นคงทางอาหาร, กฎหมายสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอด 6 วันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พยายามปิดกั้นสกัดไม่ให้มีการเดินตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงรบกวนเพื่อไม่ให้กิจกรรมบรรลุเป้าหมาย ทั้งปิดล้อมประตูมหาวิทยาลัยไม่ให้ออกเดิน โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แม้ผู้จัดจะมีการแจ้งจัดกิจกรรมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว, ตรวจค้นรถของทีมงาน, คุมตัวทีมสวัสดิการไปสอบปากคำ, ติดตามถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดตลอดการเดิน, กดดันวัดไม่ให้ที่พัก จนถึงแจ้งความดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหา ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. รวมทั้งมีการติดตามกดดันผู้ที่เข้าร่วมการเดิน, ผู้สนับสนุนโดยการออกแถลงการณ์ และองค์กรที่มีชื่อเป็นองค์กรเครือข่าย โดยรายงานชิ้นนี้ได้รวบรวมกรณีคุกคามที่เกิดขึ้นในภาคอีสานอันเนื่องจากกิจกรรมเดินมิตรภาพนี้ เท่าที่ People GO Network Forum ได้รับแจ้งข้อมูลมา

 

ลงชื่อแถลงการณ์ให้หยุดคุกคามกลับถูกติดตาม ระบุเป็นกลุ่มขับไล่รัฐบาล

หลังมีรายงานข่าวในช่วงสายของวันที่ 23 ม.ค. 61 ว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียก 8 ตัวแทนเครือข่าย People Go Network ผู้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” .ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ค่ำวันเดียวกัน ภาคประชาชน 142 องค์กร ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เคารพสิทธิประชาชน หยุดคุกคามข่มขู่ หยุดใช้การแจ้งความไม่ชอบธรรม ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุม และเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พร้อมทั้งให้ คสช. ทบทวน ยกเลิกกฎหมาย นโยบาย มาตรการ โครงการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ และคืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทยโดยเร็ว

จากแถลงการณ์ซึ่งมีรายชื่อองค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมออกแถลงการณ์ นำมาซึ่งการติดตามของเจ้าหน้าที่ไปยังองค์กรเหล่านั้นในวันต่อมาทันที

24 ม.ค. 61 มีทหารถือใบแถลงการณ์ที่มีชื่อองค์กรเข้าไปพบพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ (พมจ.) ถามว่า องค์กรเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานพัฒนาสังคมฯ จ.ศรีสะเกษ หรือไม่ เขาเป็นกลุ่มอะไร อยู่ที่ไหน พร้อมทั้งระบุว่า กลุ่มเหล่านี้ได้ร่วมลงชื่อขับไล่รัฐบาล พมจ. จึงโทรศัพท์เรียกประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 องค์กรใน จ.ศรีสะเกษ ที่ร่วมลงชื่อ และเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ศรีสะเกษไม่ได้รับโทรศัพท์ พมจ.จึงส่งข้อความให้เข้าไปพบในวันรุ่งขึ้น

ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า ได้เข้าไปพบ พมจ.ศรีสะเกษ พร้อมกับประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ศรีสะเกษ ในช่วงบ่ายวันที่ 25 ม.ค. แต่ พมจ.ไม่อยู่ที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ได้ต่อสายโทรศัพท์ให้ได้คุยกัน ทั้งสองจึงได้รู้ว่า ทหารมาให้ข้อมูล พมจ. ไว้อย่างไร  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ศรีสะเกษ ได้อธิบายทางโทรศัพท์ว่า เขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในเรื่องขับไล่รัฐบาล หรือยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง ที่ร่วมลงชื่อเพราะเครือข่ายฯ รณรงค์เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ แต่รัฐบาลนี้มีนโยบายแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ๆ ที่ต้องกินยาต่อเนื่องต้องจ่ายร่วม เขาไม่มีเงินจะร่วมจ่าย จึงไปร่วมลงชื่อรณรงค์ไม่ให้มีการแก้ไข ซึ่ง พมจ. ศรีสะเกษก็เข้าใจ พร้อมทั้งบอกว่า ที่เรียกเข้าพบเพราะเป็นห่วงว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อไปยุ่งอะไรกับการเมือง

ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคอีสาน ยังเปิดเผยอีกว่า นอกจากประธานเครือข่ายฯ จังหวัด จะถูกเรียกพบแล้ว ยังมีทหาร ตำรวจ ไปตามหากลุ่มผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาลอำเภอ 2 แห่ง ซึ่งตอนแรกตนเองก็สงสัยว่า เจ้าหน้าที่ไปตามหาได้อย่างไร ในเมื่อชื่อกลุ่มที่ลงในแถลงการณ์ ได้แก่ กลุ่มทอฝัน อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ, กลุ่มกำลังใจ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มปริญญาชีวิต อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ ไม่ได้ระบุว่าอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ก็มาได้คำตอบตอนได้คุยกับ พมจ.ศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ว่า ทหารมาถามข้อมูลที่สำนักงาน พมจ. และโดยที่ทั้ง 3 กลุ่ม เป็นองค์กรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว จึงมีข้อมูลว่าที่ตั้งกลุ่มอยู่ที่โรงพยาบาลแต่ละอำเภอ เจ้าหน้าที่จึงไปหาที่โรงพยาบาลได้ถูก

โดยที่โรงพยาบาลศรีรัตนะ มีตำรวจถือหนังสือแถลงการณ์เข้าไปขอพบแพทย์ที่เป็นพี่เลี้ยงกลุ่มฯ ในวันที่ 25 ม.ค. จากนั้น แพทย์ได้เรียกแกนนำกลุ่มฯ เข้าไปคุยว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับแถลงการณ์นี้ยังไง เกี่ยวข้องกับเครือข่าย People GO ยังไง ทำไมถึงไปสนับสนุนการเดินมิตรภาพในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อแกนนำกลุ่มฯ อธิบายว่า ที่ส่งชื่อสนับสนุนก็เพราะไม่ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ และไม่ให้จับแกนนำกิจกรรมเดินนี้ ทั้งแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็เข้าใจ อย่างไรก็ตาม การถูกทหารมาตามอย่างนี้ แกนนำกลุ่มกล่าวว่า ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน เกรงจะมีทหารมาหา ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด  

ขณะที่โรงพยาบาลขุนหาญ มีทหาร 4 นาย เข้าไปขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล จากนั้น ผู้อำนวยการฯ ก็เรียกแกนนำไปคุย แต่แกนนำกลุ่มไม่อยู่ ออกไปจัดกิจกรรมที่ตำบลอื่น จึงยังไม่ได้เข้าชี้แจง

ส่วนที่โรงพยาบาลไพรบึง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคอีสาน ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่า ทหารเข้าไปรึเปล่า เพราะยังไม่มีการแจ้งเข้ามา แต่ได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลขุนหาญว่า ทหารพูดขณะออกมาจากโรงพยาบาลว่า กำลังจะไปไพรบึง

นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ว่ามี รถตู้ของ กอ.รมน.จ.ยโสธร ไปที่จอดหน้าคลีนิก ซึ่งสมาชิก 30 กว่าคนกำลังทำกิจกรรมพบกลุ่ม แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ลงมาจากรถ

ที่จังหวัดสุรินทร์ มีรายงานจากมูลนิธิสุขภาพชุมชน อีกหนึ่งองค์กรที่ลงชื่อในแถลงการณ์ให้รัฐบาลเคารพสิทธิประชาชน และหยุดคุกคามข่มขู่ ปรากฎมีทหาร 2 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าไปที่มูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. และพูดคุยกับประธานกรรมการมูลนิธิฯ  สอบถามว่ามีคนไปร่วมเดินหรือไม่ และเรียกร้องอะไร ประธานกรรมการมูลนิธิสุขภาพชุมชนจึงอธิบายถึง 4 ประเด็นหลักที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วม ใช้เวลาพูดคุยอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทหารแจ้งว่าเขาแค่มาดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ได้จะมาคุกคาม  

สกัดไม่ให้ไปร่วมเดิน

ขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย เข้าร่วมการเดินมิตรภาพตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ม.ค. ด้วย สมาชิกอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังอยู่ที่หมู่บ้านก็ถูกทหาร ตำรวจ โทรศัพท์หา สอบถามว่า จะเข้าร่วมเดินไหม ไม่เข้าร่วมได้ไหม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากลัวชาวบ้านจะถูกจับ เมื่อสมาชิกกลุ่มฯ อธิบายว่า ที่ไปเดินเพราะไม่อยากให้สร้างเหมือง เจ้าหน้าที่บอกว่า ไปทำอย่างอื่นได้ไหมที่ไม่ใช่ไปร่วมเดิน

ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเปิดเผยความรู้สึกว่า รู้สึกเสียใจที่ถูกเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้ไปร่วมเดิน ทั้งที่เป็นสิทธิของเราที่จะเดิน การติดตามและพยายามกีดกันของเจ้าหน้าที่เช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบให้คนที่ถูกติดตามรู้สึกกลัว รวมทั้งกรณีที่ออกหมายเรียกตัวแทนเครือข่าย 8 คน ที่มาเดินด้วย

ด้านสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ให้ข้อมูลว่า มีตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดและปลัดอำเภอบำเหน็จณรงค์ โทรศัพท์ถามคนขับรถตู้ว่าจะไปชุมนุมกับเขาด้วยหรือเปล่า ซึ่งคนขับรถตู้ตอบว่า เขาแค่รับจ้างเหมาให้ขับรถมา ไม่ได้ร่วมชุมนุม ตำรวจยังได้ส่งรูปสมาชิกกลุ่มฯ มาให้คนขับรถตู้คนดังกล่าวดู พร้อมทั้งถามชื่อ ทั้งนี้ คนขับรถตู้เปิดเผยความรู้สึกว่า ตนรู้สึกกังวลว่าจะโดนปรับเหมือนรับจ้างเหมาคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

ภาพจากเพจ People GO Network

 

องค์กรเครือข่ายถูกเฝ้าระวัง

People Go Network Forum ประกอบด้วยเครือข่ายประชาชน 4 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือก , เครือข่ายทรัพยากร และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในองค์กรเครือข่ายให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ตนเองถูกสันติบาล และเจ้าหน้าที่จากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ทั้งโทรศัพท์และเข้าไปพบที่ศูนย์ประสานสานของกลุ่มเกือบทุกวัน สอบถามว่า กลุ่มจะไปร่วมเดินไหม และเดินเพื่ออะไร เมื่อตนเองก็บอกว่าจะไป เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า อย่าไปเยอะ จะยากในการดูแล พร้อมทั้งถ่ายรูปตนเองไปด้วย

 

***หมายเหตุ*** แก้ไขข้อมูลเวลา 13.15 น. จากปลัดจังหวัดชัยภูมิเป็นปลัดอำเภอบำเหน็จณรงค์

 

X