โทษหนัก! จำคุก 10 ปี ข้อหา 112 วัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

 

31 ม.ค. 61 ศาลจังหวัดพลอ่านคำพิพากษา คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติใน อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น รวม 2 คดี ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลให้จำเลยอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจที่พนักงานคุมประพฤติจัดทำต่อศาลประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี จำเลยทั้งหมดไม่ค้าน

คดีหมายเลขดำที่ อ.1267/2560

โจทก์  นายบุญช่วง สุโพธิ์ พนักงานอัยการจังหวัดพล

จำเลย  นายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 6 คน

ผู้พิพากษา  นายเพิ่มศักดิ์ สุริยวนากุล

ข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

พฤติการณ์ วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ใน ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จนซุ้มได้รับความเสียหายบางส่วน

คำให้การของจำเลย   รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

คำพิพากษา จำเลยทั้ง 6 มีความผิดตามฟ้อง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 358, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง) การกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1, 3-6 มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 7 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 5 ปี 20 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รวมจำคุก 10 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 2 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 5 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจเห็นว่า จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย นับเป็นการกระทำที่อุกอาจร้ายแรง ไม่มีเหตุรอการลงโทษ

คำพิพากษาส่วนแพ่ง อบต.หินตั้ง ได้รับค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท จากจำเลยทั้ง 6 แล้ว จึงถอนคำร้องที่ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย

 

คดีหมายเลขดำที่ อ.1268/2560

โจทก์  นายธนสิทธิ์ สีดา พนักงานอัยการจังหวัดพล

จำเลย นายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 4 คน

ผู้พิพากษา  นายสรายุทธ อุทุมพร

ข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  

พฤติการณ์ วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ซุ้ม ใน ต.ชนบท อ.ชนบท จนซุ้มได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้อีก

คำให้การของจำเลย   รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

คำพิพากษา จำเลยทั้ง 4 มีความผิดตามฟ้อง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง) การกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย จำเลยกระทำความผิดโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์มีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงสมควรให้ลงโทษสถานหนัก การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำจำคุกเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ และหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 7 ปี 20 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รวม 13 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงเหลือจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 1267/2560 ริบของกลางคราบน้ำมันดีเซล 1 กระป๋อง

คำพิพากษาส่วนแพ่ง  เห็นควรกำหนดค่าเสียหายตามสัญญาจ้าง ที่จำเลยต่อสู้ว่า ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง ต้องนำค่าเสื่อมราคามาคิดด้วยนั้น เห็นว่าการกำหนดค่าเสื่อมราคาต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างประกอบด้วย เมื่อซุ้มฯ ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเคารพสักการะ ย่อมไม่อาจนำค่าเสื่อมราคามาพิจารณาได้เยี่ยงวัสดุหรือสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ไม่มีเหตุลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่ง ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 60 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เทศบาลตำบลชนบท   

 

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-4 เป็นบุคคลเดียวกันในทั้งสองคดี จากการที่ศาลให้นับโทษต่อ ทำให้ไตรเทพ, ฟิล์ม และเบล (นามสมมติ) มีโทษจำคุกรวม 5 ปี 32 เดือน หรือ 7 ปี 8 เดือน ส่วนฟลุค จำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุกมีกำหนดรวม 11 ปี 6 เดือน ขณะที่แทนและเต้ย ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียว มีโทษจำคุก 2 ปี 16 เดือน

หลังรู้ผลคำพิพากษา แม่และตัวจำเลยต่างก็มีน้ำตาคลอ แม่ของฟลุคซึ่งมีโทษหนักที่สุดถึงกับเอ่ยว่า แม่มีโรคมีภัย คงตายก่อนลูกออกจากคุกพอดี ในการพูดคุยช่วงสั้นๆ ระหว่างรอคำพิพากษาเต้ยบอกว่า เขาและแทนสมัครเรียน กศน.ไว้แล้ว เพื่อใช้เวลาในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ ไตรเทพและฟิล์มคุยกับแม่ว่า เขาจะสมัครเรียนต่อ ปวช. และ ปวส. ให้จบ ขณะที่ผู้เป็นแม่ให้สัมภาษณ์หลังตั้งหลักได้แล้วว่า ตอนแรกก็รู้สึกตกใจที่โทษสูง ลูกต้องถูกขังหลายปี แต่ตอนนี้ก็พยายามทำใจ ถ้าแม่เป็นอะไร ลูกก็จะลำบาก คิดว่าลูกไปเรียนหนังสือ ตัวเองก็จะพยายามทำงานหาเงินส่งไปให้ลูกใช้ ตอนนี้ก็ปลูกผัก ถั่ว แตง เอาไว้แล้ว โดยครอบครัวทั้งหมดให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า คงจะไม่อุทธรณ์ เพื่อให้คดีสิ้นสุด และได้รับการพิจารณาอภัยโทษโดยเร็ว

ข้อพิจารณาประกอบคำพิพากษา

ก่อนอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาระบุว่า ได้ตรวจดูคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ เพื่อพิจารณาประกอบการพิพากษา อีกทั้งได้มีการนำสำนวนคดีปรึกษาอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4

ทั้งนี้ คำแถลงประกอบคำรับสารภาพจำเลยทั้ง 6 มีเนื้อหาโดยสรุปยอมรับว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นความผิดร้ายแรง แต่จำเลยทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอศาลพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมอีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ส่วนรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งพนักงานคุมประพฤติจัดทำเป็นรายบุคคล เป็นข้อมูลที่พนักงานคุมประพฤติรวบรวมจากการสอบถามจำเลย ครอบครัว และบุคคลในชุมชน อย่างไรก็ดี ในตอนท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ได้สรุปเหตุอันควรปรานี ความต้องการของจำเลย และความเห็นเจ้าหน้าที่ไว้ โดยค่อนข้างคล้ายคลึงกันว่า เหตุอันควรปรานี ได้แก่ จำเลยให้การรับสารภาพ ให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี ไม่มีประวัติอาชญากรรม รวมถึงบางคนกำลังศึกษา จำเลยต้องการให้คุมประพฤติ โดยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ ส่วนเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเพียงเพื่อให้ได้ค่าจ้างมาใช้จ่าย โดยไม่มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จำเลยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา หากมีจิตสำนึกที่ดีของการเป็นราษฎรไทย สมควรจะต้องรู้สำนึกอยู่แก่ใจว่า การกระทำนั้นเป็นเช่นใด การกระทำของจำเลยทำให้คนไทยรู้สึกสะเทือนใจ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบุคคลอื่น และเพื่อให้ได้สำนึกต่อการกระทำผิด สมควรได้รับโทษตามกฎหมาย วิธีการควบคุมประพฤติไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับจำเลย

 

ข้อสังเกตต่อคดี

อาจต้องบันทึกไว้ว่า คดีนี้ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาลงโทษในข้อหาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หนักกว่าที่เคยมีคำพิพากษาในคดีอื่น โดยมีเหตุตามที่ระบุในคำพิพากษาว่า “เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงสมควรให้ลงโทษสถานหนัก” ก่อนหน้านี้่เคยมีคดีของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ที่พิพากษาจำคุก 9 ปี และคดีของเอกฤทธิ์ที่พิพากษาจำคุก 8 ปี จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊คเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการพิพากษาคดีในช่วงหลังรัฐประหาร ส่วนในศาลทหารเคยลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 10 ปี มาแล้วหลายคดี โดยในคดีของสมัคร ซึ่งมีอาการทางจิต และถูกกล่าวหาว่าฉีกทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลทหารเชียงรายพิพากษาจำคุก 10 ปี ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 ปกติศาลยุติธรรมจะลงโทษในคดีความผิดตามมาตรา 112 ในอัตราโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่หลังรัฐประหาร ศาลยุติธรรมพิพากษาจำคุกในอัตราโทษสูงไม่ต่างจากศาลทหารซึ่งคดีส่วนใหญ่ลงโทษจำคุกสูงถึงกรรมละ 10 ปี

ข้อสังเกตอีกประการในคดีทั้งสองนี้คือ พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 4 ในคดีที่ 1268/2560 เป็นการวางเพลิงเผาซุ้มฯ ซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุถึงการกระทำที่เป็นความผิดต้องกระทำต่อ “พระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ทั้งนี้ อัยการระบุในคำฟ้องว่า “…กฎหมายอาญาจึงมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น การกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน…” อันแสดงถึงการพยายามตีความว่าความผิดตามมาตรา 112 นั้น รวมความถึงการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม จำเลยให้การรับสารภาพ ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นข้อต่อสู้ในศาล ขณะที่คำพิพากษาในคดีนี้ ศาลระบุโดยครอบคลุมว่า “การกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย”

 

สรุปคดีเผาซุ้มฯ

เหตุการณ์เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 พนักงานอัยการจังหวัดพลได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพล รวม 3 คดี และมีคดีที่แยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น 1 คดี ทั้งหมดมีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมอยู่ด้วย ขณะที่ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่มีการแจ้งข้อหาดังกล่าว ในช่วงแรกที่อัยการยื่นฟ้องคดี จำเลยทั้งหมดยืนยันว่า ตนเองไม่มีเจตนาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ จึงปฏิเสธข้อหา 112 (อ่านรายละเอียดที่นี่) แต่ด้วยเหตุที่ไม่ได้ประกันตัว ประกอบกับกระแสว่าคดีสู้ยาก รับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง และการพระราชทานอภัยโทษที่จะมาถึง สุดท้ายทั้งหมดจึงตัดสินใจรับสารภาพ (อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่)

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 ศาลจังหวัดพลได้มีคำพิพากษาในคดีตระเตรียมวางเพลิงซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย ในข้อหาเป็นอั้งยี่, ตระเตรียมวางเพลิง และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ ลงโทษจำคุกนายหนูพิณ และนายฉัตรชัย คนละ 5 ปี รับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนคดีเยาวชน มีข้อมูลว่า ศาลเยาวชนฯ ขอนแก่น กำหนดมาตรการให้จำเลยซึ่งเป็นเด็กเข้ารายงานตัวเป็นเวลา 6 เดือน หลังถูกควบคุมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นมาแล้วรวม 90 วัน

กรณีนี้ถือเป็นกรณีแรกที่มีการควบคุมตัวบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ในค่ายทหาร และเป็นกรณีแรกที่มีการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ กับเด็กอายุ 14 ปี

 

ย้อนอ่านประมวลเหตุการณ์และการละเมิดสิทธิในช่วงการจับกุมจำเลยในคดีนี้ที่ คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: ควบคุมตัวเด็ก 14 ในค่ายทหาร และการควบคุมตัวมิชอบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

อ่านรายงานก่อนการพิพากษาที่ ชี้ชะตา 6 วัยรุ่นเผาซุ้มฯ ผลพวงความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกกด

 

 

X